วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

“รายอแน” วิถีแห่งความผูกพันมลายูมุสลิมชายแดนใต้

 2 ก.ค. 2563 15:54 น.    เข้าชม 4981

          จากข้อมูลของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ระบุความหมายของคำว่า ตรุษ ว่าเป็นคำมาจากภาษาสันสกฤตที่ว่า ตฺรุฏ (อ่านว่า ตฺรุ-ตะ) แปลว่า แตก ขาด ทำให้ขาด หมายถึง การตัดขาดจากปีเก่าเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ ปัจจุบัน     คำว่า ตรุษ อาจใช้ในความหมายว่า เทศกาล หรือช่วงเวลาที่กำหนดไว้เพื่อการรื่นเริงตามประเพณี ซึ่งมักเชื่อมโยงกับหลักปรัชญา ความเชื่อ และศาสนาของแต่ละกลุ่มชน เช่น ตรุษจีน เป็นเทศกาลฉลองวันขึ้นปีใหม่ของจีน ตรุษฝรั่งเป็นเทศกาลฉลองวันสมภพของพระเยซูคริสต์ ตรุษสงกรานต์ซึ่งเป็นวันสิ้นปีของคนไทยมาแต่โบราณ และในหมู่พี่น้องชาวมุสลิมก็มีวันตรุษตามหลักของศาสนาอิสลามเช่นกัน

          วันตรุษอีด หรือ วันอีด เป็นวันเฉลิมฉลองในศาสนาอิสลาม โดยวันอีดจะมี 2 วันในแต่ละปี ได้แก่ อีฏิ้ลฟิตริ ภาษามลายูปัตตานีเรียก ฮารีรายอปอซอ มุสลิมภาคกลางเรียก วันอีดเล็ก ในวันที่ 1 เดือนเชาวาล เป็นการเฉลิมฉลองที่ได้ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน จะมีการละหมาดที่มัสยิด หากใครมีฐานะดีก็จะบริจาคเงินแก่เด็ก และคนชรา และขออภัยญาติมิตรหากเคยล่วงเกินต่อกัน และ อีดุลอัฎหา ภาษามลายูปัตตานีเรียก ฮารีรายอฮายี มุสลิมภาคกลางเรียก วันอีดใหญ่ ในวันที่ 10 เดือนซุลหิจญะฮฺ์ จะมีกิจกรรมใกล้เคียงกับ อีฏิ้ลฟิตริ แต่เพิ่มเติมการเชือดสัตว์พลีเพื่ออัลลอฮ์ (กุรบาน) โดยสัตว์นั้นอาจเป็นแพะ แกะ วัว หรืออูฐก็ได้

ที่ชายแดนใต้ยังมี “รายอแน”

          คำว่า รายอ ในภาษามลายูนั้น มีความหมายถึงวันรื่นเริง นอกจากใช้เรียก วันเฉลิมฉลอง ตามหลักศาสนาอิสลามอย่าง ฮารีรายอ แล้ว ยังมีการใช้กันอย่างกว้างขวางในทุกศาสนา เช่น การเรียกตรุษจีน ว่า รายอจีแน นอกจากนี้แล้ว ในหมู่พี่น้องทาง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น  ยังมีคำที่อยู่คู่สังคมมานานนับศตวรรษ นั่นคือคำว่า "รายอแน" หรือ รายอหก ซึ่งหมายถึงเป็นประเพณี และวิถีปฏิบัติที่มีเฉพาะชาวมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่อดีต โดยไม่ได้มีการระบุไว้ในศาสนาอิสลามแต่อย่างใด โดยหลังจากที่ถือศีลอดในเดือนรอมฎอนเสร็จสิ้น และมีการเฉลิมฉลองวันรายออีฏิ้ลฟิตริ ไปแล้ว 1 วัน ในศาสนาอิสลามส่งเสริมให้ถือศีลอดต่ออีก 6 วัน เป็นการชดเชยการถือศีลอด หรือปอซอ ที่ได้มีการขาดไป ในช่วงเดือนรอมฏอนที่ผ่านมา หรือตั้งใจถือศีลอดเพิ่มอีก 6 วันในเดือนเชาวาล เพราะจะได้รับผลบุญเท่ากับถือศีลอด 1 ปี

          ในทางปฏิบัติ เมื่อถึงวันตรุษออกบวช หรือ อีฏิ้ลฟิตริ นั้น ชาวบ้าน มักจะทำขนมคาวหวานเพียงแค่เล็กน้อย นั่นก็เพราะว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่มักใช้เวลาหมดไปกับการ เยี่ยมญาติ และต้อนรับขับสู่ แขกเหรื่อที่มาเยี่ยมเยียน และในวันต่อมา ชาวบ้านมักจะถือศีลอด 6 วัน ในเดือนเชาวาลต่อเนื่องไปเลย ซึ่งหากทำอาหารคาวหวาน มากจนเกินไป ก็จะทำให้ อาหารเหล่านั้น บูดเสียโดยใช่เหตุ  จึงเป็นที่มาของวิถีปฏิบัติ เมื่อเสร็จสิ้นการถือศีลอดครบ 6 วัน ชาวไทยมุสลิมจะถือโอกาสนี้เฉลิมฉลอง "วันรายอแน" อีกครั้ง โดยจะเดินทางไปทำบุญให้กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับที่กุโบร์ต่าง ๆ ประจำหมู่บ้าน

การเยี่ยมเยียนบรรพบุรุษ ในวันรายอแน

          การไม่ลืมเลือนรากเหง้าแห่งอดีตของตนเอง และไม่ลืมเลือนแนวทางแห่งศาสนา จะช่วยสร้างสายใย เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และช่วยยึดเหนี่ยวสันติสุขมิให้ห่างไกลออกไป การเยี่ยมเยียนกุโบร์หรือสุสานของบรรพบุรุษนั้น เป็นการทำให้ชาวมุสลิมรำลึกถึงความตาย รำลึกว่าสักวันเราก็ต้องมาอยู่ที่นี่ และต้องบังคับจิตใจให้ละเว้นทำบาป โดยรวมแล้วถือเป็นสิ่งที่ศาสนาส่งเสริมให้ปฏิบัติ โดยไม่คำนึงช่วงเวลาเป็นการเฉพาะจะกระทำในช่วงเวลาเมื่อไร   ก็ได้ แต่เนื่องจากวันตรุษ อีฏิ้ลฟิตริ ของมุสลิมส่วนใหญ่ในชายแดนภาคใต้ได้หมดไปกับการเยี่ยมญาติ และต้อนรับแขกผู้มาเยือน ดังนั้น วันรายอแนของทุกปี จึงถือเป็นวันรวมพบญาติปีละครั้ง โดยญาติพี่น้องที่แยกย้ายไปอาศัยอยู่ในแต่ละพื้นที่ ทั้งใน และต่างประเทศต่างจะเดินทางกลับบ้านเกิด เพื่อมาร่วมเยี่ยมเยียนสุสานของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ทำให้มีโอกาสได้พบกับญาติพี่น้อง และเพื่อนบ้าน ได้ล้อมวงร่วมรับประทานอาหารด้วยกัน เป็นวิถีแห่งความผูกพันที่ปฏิบัติกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว

          วันรายอแนของทุกปีจึงเริ่มต้นอย่างคึกคักตั้งแต่ช่วงเช้า ตามสุสานต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้จะปรากฏภาพรถยนต์ และมอเตอร์ไซค์ไปจอดเรียงรายเป็นแถวจำนวนมาก แต่ละกุโบร์จะเต็มไปด้วยผู้คน กลุ่มผู้ชายจะอยู่ในพื้นที่กุโบร์ ส่วนกลุ่มผู้หญิงจัดอาหารเตรียมพร้อมอยู่ที่ศาลาด้านข้างกุโบร์ แต่ละครอบครัวจะนำอุปกรณ์ในการทำความสะอาด เช่น จอบ มีดพร้า เครื่องตัดหญ้า เดินทางไปยังสุสาน และร่วมกันทำความสะอาดหลุมฝังศพของบรรพบุรุษ จากนั้นจะช่วยกันอ่านอัลกุรอานเพื่อเป็นการรำลึกถึงอัลลอฮฺที่บริเวณหลุมฝังศพของบรรพบุรุษ  นอกจากนี้ ยังมีการ “ลงแขก” ทำความสะอาด และพัฒนาพื้นที่โดยรอบกุโบร์ ถากถางวัชพืชที่รกรุงรัง จะมีการเตรียมอาหาร ขนม และเครื่องดื่มไปบริการให้กับคนที่มาร่วมลงแรงในการทำความสะอาดเรียบร้อยให้กุโบร์ และปิดท้ายด้วยการดุอาร์ คือการสวดวิงวอนหรือขอพรจากอัลลอฮ์ ให้กับผู้ที่ล่วงลับ

ความคิดเห็น