วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2567

น้อมนำศาสตร์พระราชา รักษ์ป่าชุมชนบ้านต้นตาล

 2 ก.ค. 2563 17:04 น.    เข้าชม 4191

"ปลูกป่า รักษ์ ต้นน้ำ  - ปลูกจิต รักษ์ สิ่งแวดล้อม - ปลูก ทดแทน คุณแผ่นดิน"

          แผ่นป้ายบรรยายข้อความข้างต้นนี้ ตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของป่าชุมชนบ้านต้นตาล หมู่ ๒ ตำบลจอเบาะ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติบูงอ ป่าผืนนี้จึงยังคงสภาพของป่าดิบชื้น มีพรรณไม้นานาชนิด ขนาดใหญ่และเล็กขึ้นอยู่หนาแน่น และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหายาก ความอุดมสมบูรณ์เช่นนี้ยังคงอยู่ได้ ด้วยความร่วมมือของชุมชนบ้านต้นตาล ชุมชนที่อยู่กับป่า และดูแลป่า โดยน้อมนำศาสตร์ของพระราชามาใช้บริหารจัดการป่าชุมชน จนได้รับรางวัลป่าชุมชนระดับจังหวัด ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ และรางวัลรองชนะเลิศระดับประเทศ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๒ จากโครงการ คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

จุดกำเนิดจากวิกฤติป่าเสื่อมโทรม

          โครงการป่าชุมชนบ้านต้นตาล ก่อตั้งอย่างเป็นทางการขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนป่าชุมชนกับกรมป่าไม้ เริ่มต้นจากพื้นที่ ๑๗๓ ไร่ ๒ งาน ที่มาของแนวคิดการจัดการป่าชุมชนนั้น มาจากการสรุปบทเรียนงานส่งเสริมอาชีพในชุมชนที่เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ซึ่งทำให้ตระหนักว่าวัตถุดิบที่เป็นต้นทุนการสร้างอาชีพล้วนเป็นทรัพยากรที่เก็บเกี่ยวผลผลิตจากป่าโดยรอบชุมชนทั้งสิ้น ประกอบกับปัญหาสำคัญในขณะนั้นคือ สภาพป่าเริ่มเสื่อมโทรมลง น้ำจากป่าที่เคยไหลรินเริ่มแห้งขอด ผู้นำชุมชนจึงได้จัดการประชุมประชาคมเพื่อหารือถึงการแก้ไข และฟื้นฟูป่า โดยเลือกใช้วิธีการกำหนดเขตป่าชุมชน และขึ้นทะเบียนกับกรมป่าไม้ เพื่อที่ชุมชนจะสามารถสร้างรายได้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาป่าไม้ได้อย่างยั่งยืน

          ด้วยความเข้มแข็งของผู้นำชุมชนได้สร้างการมีส่วนร่วมให้คนทุกเพศทุกวัยในชุมชนได้เข้ามาอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชน เริ่มจากพาเยาวชนกลุ่มเล็ก ๆ มาเรียนรู้ความสำคัญของป่า และร่วมกันสร้างฝายหินทิ้ง เมื่อเด็ก ๆ มา พ่อแม่ก็ตามมา ประกอบกับผู้นำได้พูดคุยสร้างความเข้าใจกับคณะกรรมการหมู่บ้าน เพื่อให้ช่วยกันตอกย้ำความเข้าใจให้สมาชิกชุมชน เกิดกิจกรรมการปลูกป่าในพื้นที่ว่างเปล่า ปลูกเสริมในพื้นที่ป่าที่มีการบุกรุก ปลูกแซมในพื้นที่เกษตรตามหลักป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง และยังมีการจัดทีมป้องกันรักษาป่า ทำแนวเขตป่าให้ชัดเจน ทำความเข้าใจกับชาวบ้านในเขตรอยต่อไม่ให้เกิดการบุกรุก และต่อยอดองค์ความความรู้ให้กับคณะกรรมการหมู่บ้านผ่านการไปศึกษาดูงานด้านป่าชุมชน และมาถ่ายทอดให้สมาชิกในชุมชนได้เข้าใจ

          เมื่อชาวบ้านตระหนักถึงคุณประโยชน์ของป่าชุมชน จากแต่เดิมที่ขึ้นทะเบียนพื้นที่ป่าชุมชนไว้ ๑๗๓ ไร่ ๒ งาน ปัจจุบัน คณะกรรมการชุมชนได้ตัดสินใจขยายเขตป่าชุมชนครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด ๖๐๓ ไร่ สมาชิกชุมชนได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ หน่วยทหารในพื้นที่ทำฝายชะลอน้ำตามแนวทางพระราชดำริ และธนาคารน้ำใต้ดิน มีการจัดทำเส้นทางศึกษาธรรมชาติเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้เยาวชน และผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาระบบนิเวศน์อันหลากหลายและคุณค่าของป่า ได้ร่วมปลูกป่าที่ฐานการปลูกป่าด้วยหนังสติ๊ก โดยใช้หนังสติ๊กยิงเมล็ดพันธุ์ชนิดต่าง ๆ ให้กระจายตัวไปแบบสุ่มคล้ายกับการกระจายตัวของเมล็ดพันธุ์ในธรรมชาติ และยังมีฐานเรียนรู้ป้องกันไฟป่า มีเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับป้องกันและสอนให้เด็ก ๆ เยาวชนคนรุ่นใหม่ให้รู้จักวิธีการป้องกันจัดการไฟป่า

คนรักษ์ป่า ป่าจึงรักชุมชน

          เมื่อการก่อตั้งป่าชุมชนบ้านต้นตาลย่างเข้าสู่ปีที่ ๖ จากป่าที่เคยเสื่อมโทรม กลับฟื้นฟูอุดมสมบูรณ์ น้ำที่เคยเหือดแห้งกลับมาชุ่มชื้น สัตว์ป่าที่หายไปกว่า ๕๐ ปี กลับได้พบเห็นอีกครั้ง ชุมชนก็กลับมาอยู่ดีกินดี ทำการเกษตรได้ผลดีขึ้น สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจากป่าตามฤดูกาลได้เป็นจำนวนมาก และยังนำมาต่อยอดแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า อาทิ ช่วงฤดูกาลที่ต้นสะตอให้ผล สามารถนำฝักสดไปขาย และนำมาแปรรูปเป็นสะตอดองที่ขายได้ในราคาสูงขึ้น หรือผลส้มแขก ที่จากเดิมเพียงแค่นำมาตากแห้งแล้วขายเป็นเครื่องปรุงอาหาร ก็ได้นำมาแปรรูปเป็นส้มแขกดอง เป็นของกินเล่น นอกจากนี้ยังมีลูกหยี เกาลัดป่าหรือลูกกอ เมล็ดมะค่า ผลไม้ป่าต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ชาวบ้านก็จะนำมาแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าให้เพิ่มมากขึ้น และมีการรวมกลุ่มกันเพื่อออกงานขายผลิตภัณฑ์ในโอกาสที่มีงานของทางจังหวัด งานที่จัดโดยสำนักงานพัฒนาชุมชน หรือกรมป่าไม้

          ปัจจุบัน ในสถานการณ์ COVID-19 ป่าชุมชนบ้านต้นตาล ได้เข้าร่วมโครงการ ๑ อำเภอ ๑ พื้นที่สาธารณะ สร้างผืนป่าชุมชน ๑๐ ล้านต้น เพื่อเศรษฐกิจประชาชนตามแนวพระราชดำริ "ปลูกป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง" จากการสนับสนุนของ ศอ.บต. ตอกย้ำความสำคัญป่าชุมชนที่เป็นทั้งแหล่งอาหาร แหล่งอาชีพที่หลากหลาย และแหล่งรายได้เศรษฐกิจหมุนเวียนของประชาชนในชุมชน ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่สมดุล นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจาก กอ.รมน.จังหวัดนราธิวาส ภายใต้โครงการเสริมความสามัคคีระดับตำบล เพื่อเป็นฐานถ่ายทอดองค์ความรู้ ในการเลี้ยงผึ้งในป่าชุมชนบ้านต้นตาล เพื่อสร้างเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนอีกด้วย

          การสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนถือเป็นหัวใจหลักของการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างยั่งยืน การร่วมกันสร้างป่าชุมชนได้นำมาซึ่งความตระหนักในคุณค่าของธรรมชาติ ทั้งในแง่แหล่งอาหาร และความสุขทางใจ เกิดเป็นความหวงแหนแผ่นดินบ้านเกิด และความสามัคคีในหมู่สมาชิกชุมชน ชาวชุมชนบ้านต้นตาลแห่งนี้ก็คาดหวังให้ชุมชนอื่น ๆ ได้มาเรียนรู้กับพวกเขาทั้งในด้านการบริหารจัดการป่าชุมชน และการส่งเสริมอาชีพสร้างรายได้อย่างพอเพียงและยั่งยืน ผู้ที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีเส้นทางศึกษาธรรมขาติ และการแปรรูปผลผลิตที่เก็บเกี่ยวจากป่า โดยติดต่อประสานงานได้ที่เฟสบุ๊ค ป่าชุมชนบ้านต้นตาล ป่าบูงอ

ความคิดเห็น