วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ.2567

ลีมาตานี มรดกผ้าทอท้องถิ่นบ้านตรัง จังหวัดปัตตานี

 27 ส.ค. 2563 18:21 น.    เข้าชม 4946

          ชุมชนบ้านตรัง ตำบลบ้านตรัง อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี ชื่อนี้ได้มาตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา จึงมีฟางข้าวหรือซัง จำนวนมากกองอยู่กลางหมู่บ้าน เดิมเรียกหมู่บ้านนี้ว่าหมู่บ้านกองซัง หรือบ้านซัง ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นคำว่า บ้านตรัง มีชื่อเสียงในด้านผลิตภัณฑ์ผ้าทอลายจวนตานีหรือผ้าลีมา หัตถศิลป์บนผืนผ้าฝ้ายเหล่านี้สามารถบ่งบอกเรื่องราวเอกลักษณ์ของชุมชนบ้านตรัง จากอดีต สู่ปัจจุบันได้ ถือเป็นมรดกทางภูมิปัญญาด้วยการสืบสานตำนานเส้นสายจนกลายเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดปัตตานีที่กลุ่มสตรีชุมชนบ้านตรังยังคงอนุรักษ์ลวดลายจวนตานีผสมผสานกับลายพื้นฐานต่าง ๆ นำมาใช้ มีการศึกษาต่อยอดอยู่ตลอดเวลา จนได้มีการทำงานร่วมกันกับสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา เพื่อเป็นการฟื้นฟูต่อยอดลวดลายให้ทันสมัยมากขึ้น โดยประยุกต์ให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพิ่มเติมขึ้นอีกหลากหลายชนิด ปัจจุบันได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ระดับ 5 ดาว ประเภทผ้าลายพื้นเมืองประจำจังหวัดปัตตานี

มรดกประจำถิ่น หัตถศิลป์จวนตานี ของดีคู่บ้านตรัง

“นุ่งจวนตานีสีตอง ยกเป็นตะเกียงทอง เฉิดฉาย พระนุ่งให้เฟื้อย เลื้อยลอยชาย คาดปั้นเหน่งสาย ลายทองเรือง” นี่คือส่วนหนึ่งจากวรรณคดีไทยเรื่อง "อิเหนา" พระราชนิพนธ์ในล้นเกล้ารัชกาลที่ 1 เป็นเรื่องราวผ้าจวนตานี ผ้ามัดหมี่โบราณ จัดเป็นผ้าชั้นสูงประเภทหนึ่งที่นิยมใช้กันมากในกลุ่มชาวมุสลิมผู้มีเชื้อสายชวา-มลายู ที่เป็น ชนชั้นสูง และผู้มีฐานะ ทอด้วยเส้นไหมชั้นดีเส้นเล็กละเอียด ใช้เชือกกล้วยตานีในการมัดลาย มีลวดลาย และสีสันสวยงามเด่นสะดุดตา องค์ประกอบของผ้าจวนตานีจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย เชิงผ้า จะมีสีแดงล้วนและไม่มีลวดลาย ส่วนที่ 2 หัวผ้า จะมีลวดลายที่ทอลงไป 5-6 ลาย โดยช่วงที่ลวดลายมาบรรจบกัน ภาษาถิ่นเรียกว่า “จวน” และส่วนที่ 3 คือ ตัวผ้า ซึ่งเป็นส่วนที่มีมากที่สุดของผ้าจะทอลวดลายเพียง 1 ลาย ลวดลายที่นิยมทอกันได้แก่ ลายเข็มขัดทอง ลายตะเพียนทอง ลายดอกแฝกแฉก ลายดวงดาว ลายปูก๊ะ เป็นต้น

          ระยะเวลากว่า 40 ปี จากรุ่นแม่ สู่รุ่นลูก และกำลังสืบทอดไปยังรุ่นหลาน ที่ชาวบ้านตรัง ตำบลบ้านตรัง อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี ได้เริ่มต้นกลุ่มทอผ้ามาตั้งแต่ปี 2526 จากกลุ่มศิลปาชีพทอผ้าบ้านตรัง จนพัฒนาเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านตรัง จากจุดเริ่มในการทอผ้าพื้นธรรมดา ลายลูกแก้ว และผ้าขาวม้า จนกระทั่งปี 2542 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชดำริให้มีการฟื้นฟู และอนุรักษ์ผ้าโบราณ โดยมีการรื้อฟื้นขึ้นในสองพื้นที่ที่มีกลุ่มทอผ้าได้แต่ ตำบลทรายขาว และตำบลบ้านตรัง เริ่มจากมีวิทยากรมาฝึกอบรมสมาชิกกลุ่มทอผ้าตั้งแต่การทอผ้าขั้นพื้นฐานใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี เมื่อเกิดความชำนาญจึงเริ่มเรียนทอผ้าขั้นสูงคือ การทอผ้าไหมมัดหมี่ลายจวนตานี ซึ่งต่อมาทางกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านตรังได้ประยุกต์การทอผ้าจวนตานี ด้วยเส้นใยฝ้าย โดยใช้ลวดลายจวนตานีแบบดั้งเดิมผสมผสานกับลายพื้นถิ่นของบ้านตรังเองที่เป็นเรื่องราววิถีชีวิตของชาวบ้านตรัง 5 ลาย ได้แก่ ลายศรีตรัง ลายกองซัง ลายก้นหอย ลายปักเป้า และลายโคม

รีแบรนด์ ผ้าจวนตานีบ้านตรัง สู่ ลีมาตานี

          วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านตรัง ได้ร่วมกับ โครงการอนุรักษ์ และพัฒนาชุมชนผ้าจวนตานี หรือผ้าลีมา ภายใต้โครงการ การพัฒนาเศรษฐกิจฐานวัฒนธรรมเชิงพื้นที่วงแหวนพหุวัฒนธรรมเมืองปัตตานี โดยสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา ในการพัฒนากระบวนการผลิตผ้าจวนตานี เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งทางโครงการได้ลงพื้นที่สร้างกระบวนการให้ชาวบ้านได้ร่วมกันวิเคราะห์ศักยภาพของกลุ่มทอผ้า พบว่ายังมีจุดอ่อนอยู่ที่ช่างทอยังไม่สามารถที่จะทอลายเต็มผืนได้ และปัญหาในด้านการออกแบบสี จึงได้มีการพาชาวบ้านไปศึกษา ดูงานผ้าทอโบราณ เช่น ไปดูที่พิพิธภัณฑ์ที่กลันตัน ประเทศมาเลเซีย พิพิธภัณฑ์ที่สถาบันทักษิณคดี จังหวัดสงขลา ทำให้เกิดความตระหนักในคุณค่า และเกิดจิตสำนึกที่จะอนุรักษ์ผ้าจวนตานี

          จากนั้นทางโครงการฯ ได้มีการเชิญวิทยากรจากภายนอกไปอบรม จัดหาครูซึ่งเป็นครูช่างผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ตั้งแต่ช่างทำกี่ และครูศิลปาชีพลงมาช่วยอบรมการทอผ้าจวนตานี ทั้งเรื่องการมัดย้อมลวดลาย และการทอ ซึ่งทางโครงการฯ ได้สนับสนุนเส้นใยทอที่ใช้เป็นวัสดุไหมสังเคราะห์ และเส้นใยฝ้าย แทนการใช้เส้นไหมแบบผ้าจวนตานีดั้งเดิม ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะทอผ้าไหม มีการอบรม และพาสมาชิกไปดูงานที่จังหวัดสุรินทร์ และยังมีการสนับสนุนทางด้านการตลาดโดยพัฒนาแบรนด์สินค้า ลีมาตานี เพื่อให้สินค้าเป็นที่รู้จักกว้างขวางขึ้น โดยมีช่องทางการขายทางเพจเฟสบุค ผ้าทอจวนตานีบ้านตรัง @ JuanTaniFabricWeavingBantrang

ความสามัคคีคือความยั่งยืนของชุมชนบ้านตรัง

          จากเดิมสมาชิกกลุ่มทอผ้าแต่ละคนมีรายได้จากการทอผ้า 5,000-10,000 บาทต่อเดือน ในปัจจุบันมีได้รายได้ 30,000 บาทขึ้นไปต่อเดือน เป็นรายได้เสริมจากการทำอาชีพหลัก ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่มีอาชีพ ทำนา ทำสวน บางคน ก็เป็นผู้นำชุมชน รับราชการก็มี แต่ล้วนมีความรักในการอนุรักษ์สืบทอดศิลปหัตถกรรม เมื่อว่างเว้นจากการทำงานแล้วก็ทอผ้าเพื่อเป็นรายได้เสริมของครอบครัว สามารถส่งลูกเรียนสูงขึ้นเพื่อจะได้กลับมาช่วยพัฒนาชุมชนตนเอง ทั้งยังมีการสืบทอดทักษะการทอผ้าให้กับคนรุ่นใหม่ ไม่ให้องค์ความรู้สูญหาย

          ในด้านการบริหารกลุ่ม สมาชิกจะมีการแบ่งงานกันทำ ทั้งงานตรวจสอบคุณภาพผ้าทอ การขาย การทำบัญชี และ มีการต่อยอดการบริหารเงินทุน โดยมีการออมเงินในกลุ่ม ปล่อยกู้ให้กับสมาชิก จนปัจจุบันมีกองทุนของโรงทอเป็นจำนวนถึง 5 ล้านบาท สินค้าของกลุ่มได้รับการยอมรับให้เป็นสินค้าระดับห้าดาว เป็นของฝากจากจังหวัดปัตตานี และนี่คือเรื่องราวของกลุ่มสตรีทอผ้าบ้านตรัง กลุ่มคนเล็ก ๆ ที่เหมือนเส้นด้ายเล็ก ๆ ที่สอดประสานกัน เป็นตัวแทนความสามัคคีกลมเกลียว สะท้อนให้เราเห็นว่าการสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชนนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อจะนำไปสู่ความสุข และสันติในพื้นที่ในที่สุด

ความคิดเห็น