วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

ฮูลูบาลังเฮิร์บ นวัตกรรมเพื่อสุขภาพจากภูมิปัญญาท้องถิ่น

 27 ส.ค. 2563 18:38 น.    เข้าชม 4242

          การส่งเสริมอาชีพให้คนในชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความสุขให้เกิดขึ้นจากการมีคุณภาพชีวิตที่ดี กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรฮูลูบาลัง หรือ ฮูลูบาลัง เฮิร์บ  แห่งตำบลปุยุด อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ถือเป็นหนึ่งกลุ่มตัวอย่างที่มีความเข้มแข็ง มีการนำวัตถุดิบสมุนไพรในท้องถิ่นมาแปรรูป ด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ถ่ายทอดกันรุ่นสู่รุ่น จนได้มาเป็นเครื่องสำอางคุณภาพนานาชนิด เช่น สบู่สมุนไพรโยเกิร์ตนมแพะเป็นผลิตภัณฑ์สร้างชื่อที่ทางกลุ่มได้รวมตัวกันผลิตออกมาจำหน่ายมาเป็นเวลานานเกือบ 20 ปี สามารถต่อยอดสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนอย่างและประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

          นายอิสรมาน ดอเลาะ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฮูลูบาลัง  คือหนึ่งในกำลังสำคัญที่ผลักดันกลุ่มให้ประสบความสำเร็จ จากการที่ได้เติบโตมาในครอบครัวหมอยาสมุนไพรท้องถิ่นที่สืบทอดองค์ความรู้ด้านสมุนไพรมาหลายชั่วอายุคน มีแนวความคิดที่จะอนุรักษ์สมุนไพรในท้องถิ่นและนำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งในยุคนั้นผลิตผลพืชท้องถิ่นที่ได้รับความนิยมในด้านอาหารเสริมลดน้ำหนัก ช่วยลดคอเลสเตอรอล และไขมัน ได้แก่ ผลส้มแขก ซึ่งบริษัทต่างชาตินำไปผลิตขายในราคาแพงลิบลิ่ว นายอิสรมานจึงได้ชักชวนชาวบ้านในชุมชนให้เริ่มต้นจากการผลิตอาหารเสริมจากส้มแขกเป็นรายแรกในพื้นที่ จากเดิมที่ชาวบ้านแปรรูปโดยการตากแห้งขาย ได้พัฒนาจนสามารถแปรรูปเป็นแคปซูลส้มแขกเป็นแห่งแรกของประเทศ จนราคาส้มแขกในพื้นที่ขยับจากราคาหลักสิบจนเป็นหลักร้อย

กำเนิดกลุ่มสมุนไพรฮูลูบาลัง

          จากความสำเร็จในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผลส้มแขก จึงก้าวสู่เป้าหมายที่จะพัฒนาต่อยอดการแปรรูปสมุนไพรในท้องถิ่นชนิดอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ในปี 2540 จึงได้มีการก่อตั้งกลุ่มสมุนไพรฮูลูบาลัง ขึ้นที่มาของชื่อกลุ่มมาจากการที่นายอิสรมานผู้เป็นประธานของกลุ่ม ได้ค้นพบตำราโบราณที่เป็นของบรรพบุรุษย้อนกลับไปหลายชั่วอายุคน ซึ่งเป็นหมอยาสมุนไพรชื่อว่า ฮูลูบาลัง เป็นผู้ผลิตยาสมุนไพรถวายให้แก่กษัตริย์ และพระราชวงศ์ รวมถึงผลิตเครื่องประทินผิวถวายราตูกูนิง ในยุคสมัยเมื่อ 300 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งมีสูตรการทำสบู่ที่ไม่ใช้สารเคมี ไม่ใช้โซดาไฟ ใช้วิธีรมควัน เผาเปลือกไม้หอม ดอกไม้แห้ง เพื่อซึมเข้าไปในเนื้อสบู่ เป็นความหอมตามธรรมชาติ

          สบู่โยเกิร์ตนมแพะจึงเป็นผลิตภัณฑ์แรกจากสูตรตำราโบราณ ที่นำมาทดลองผลิตจนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นมาจากวัตถุดิบที่มีอยู่มากในท้องถิ่น ได้แก่ นมแพะ เป็นวัตถุดิบหลัก ประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ โดยรับซื้อจากกลุ่มสหกรณ์เลี้ยงแพะในพื้นที่จังหวัดปัตตานี และเป็นผลผลิตของเกษตรกรสมาชิกกลุ่ม ประกอบกับส่วนผสมอื่น ๆ ที่มีคุณค่าในการบำรุงผิวพรรณ ไม่ว่าจะเป็นสมุนไพร ว่านนางคำ เพื่อบำรุงผิวหน้า และขมิ้น ทำให้มีสรรพคุณช่วยลดสิว ฝ้า กระ จุดด่างดำ รวมถึงช่วยให้ผิวเนียนเปล่งปลั่ง นอกจากนี้ยังใส่โยเกิร์ต และน้ำผึ้ง ใช้ไขมันคุณภาพสูง ได้แก่น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก ผสมกับน้ำด่างขี้เถ้า ไม่มีการใช้โซดาไฟ และสารกันเสีย หรือใส่สี สารเคมีใด ๆ ทั้งสิ้น บรรจุภัณฑ์ในกล่องกระดาษห่อหุ้มด้วยผ้าปาเต๊ะ ที่ทางกลุ่มทำขึ้นมาเอง เพื่อแสดงถึงอัตลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น

พัฒนาจากภูมิปัญญา ต่อยอดสู่นวัตกรรม

          ผลิตภัณฑ์ไฮไลท์อีกชิ้นหนึ่งของฮูลูบาลัง เฮิร์บ ก็คือผลิตภัณฑ์เซรั่มหอยทาก ซึ่งผ่านการคัดสรรเป็นสินค้าโอทอป 5 ดาว ของจังหวัดปัตตานีเมื่อปี 2561 ด้วยคุณสมบัติของเมือกหอยทาก ที่ช่วยปรับสภาพผิวให้ชุ่มชื้นทำให้ผิวเรียบเนียน ทางกลุ่มจึงได้มีแนวคิดในการเลี้ยงหอยทากพันธุ์พื้นเมืองซึ่งเลี้ยงง่าย ด้วยความเหมาะสมของสภาพอากาศ และดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ โดยทางกลุ่มจะปล่อยเลี้ยงแบบธรรมชาติ ให้หอยทากได้ดูดซึมแร่ธาตุจากดิน และมีการเสริมอาหารธรรมชาติจำพวก ผักผลไม้ให้กับหอยทาก เมื่อหอยทากมีอายุได้ 6 เดือนสามารถนำมาสกัดเมือกได้ โดยนำหอยทากมาทำความสะอาดพักไว้ 1 คืน หลังจากนั้นนำหอยทากมานวดบริเวณหัวเพื่อให้หอยทากคายเมือกออกมา ต้องใช้หอยทาก จำนวน 8 ตัว เพื่อให้ได้ปริมาณเมือก 30 cc จากนั้นนำหอยทากที่สกัดเมือกแล้วมาพักรอการนำมาสกัดเมือกใหม่ในครั้งต่อไป หอยทากจะมีอายุในการสกัดเมือกได้ 1 ถึง 3 ปี

          กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางของกลุ่มฮูลูบาลัง เป็นไปตามมาตรฐาน GMP เน้นการใช้สมุนไพรปริมาณมาก วัตถุดิบที่ใช้มีการคัดสรร และกำหนดเกณฑ์ของสมุนไพรทุกชนิด มีการตรวจสอบ และบันทึกคุณภาพของวัตถุดิบทุกรอบตามเกณฑ์มาตรฐาน มีการควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอนและมีการสุ่มเก็บตัวอย่างส่งตรวจยังห้องปฏิบัติการมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับการรับรอง และขึ้นทะเบียนจากสำนักงานอาหารและยา (อ.ย.) ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถผลิตได้ ทุกวันนี้ผลิตได้ไม่พอกับความต้องการของตลาด ทั้งนี้ และยังมีการวิจัย และพัฒนาวัตถุดิบในพื้นที่ตัวใหม่ ๆ สู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ทั้งเครื่องสำอาง และอาหารเสริมสุขภาพออกมาอย่างหลากหลาย ภายใต้ความร่วมมือในการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านวิชาการสมุนไพร และการแปรรูปจากสถาบันการศึกษาทั้งในท้องถิ่น และส่วนกลาง ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลผลิตภัณฑ์ได้ที่เพจเฟสบุค Hulubalang

ความคิดเห็น