วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

สวนรวมพรรณไม้ป่า 60 พรรษามหาราชินี ภาคใต้ จังหวัดนราธิวาส

 28 ก.ย. 2563 14:39 น.    เข้าชม 7764

      ประเทศไทยมีความหลากหลายของทรัพยากรพรรณพืช ทั้งพืชชั้นสูง และพืชชั้นต่ำ ประมาณได้กว่า 15,000 ชนิด หลายชนิดเป็นพืชเศรษฐกิจ หลายชนิดเป็นยาสมุนไพร ทรัพยากรด้านพืช ทวีความสำคัญขึ้นทุกวันในอนาคต    งานด้านอนุรักษ์พรรณพืชโดยเฉพาะงานด้านสวนพฤกษศาสตร์ จึงเกิดขึ้นในประเทศไทย ตั้งแต่ ปี 2534 โดยมี      การจัดตั้งองค์การสวนพฤกษศาสตร์ขึ้นในประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่รวบรวมพรรณไม้ชนิดต่าง ๆ นำมาปลูก ขยายพันธุ์ โดยเฉพาะไม้ประจำถิ่น ไม้หายาก และไม้ที่กำลังจะสูญพันธุ์ ทั้งนี้ จะเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรทางพรรณพืชอันล้ำค่าของประเทศไว้ เพื่อการศึกษาหาประโยชน์จากทรัพยากรพืชอย่างยั่งยืนต่อไป
      สวนพฤกษศาสตร์ที่มีมาตรฐานจะมีองค์ประกอบที่สำคัญ เช่น แปลงรวบรวมพรรณพืช ห้องสมุด หอพรรณไม้ ห้องปฏิบัติการ นอกจากงานด้านอนุรักษ์พืชแล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพืชสำหรับการศึกษาของนักวิจัย นักเรียนนักศึกษา หรือตอบสนองต่อการเป็นแหล่งท่องเที่ยว และสถานพักผ่อนหย่อนใจ รวมไปถึงตอบสนองต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ เช่น การเป็นแหล่งพันธุกรรมให้แก่ชุมชนในท้องถิ่น
จากทุ่งเลี้ยงสัตว์สู่สวนรวมพรรณไม้ป่าหายาก

      สวนรวมพรรณไม้ป่า 60 พรรษามหาราชินี ตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 60 พรรษา เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2535 โดยจัดตั้งขึ้นทั้งสิ้น 4 แห่ง ใน 4 จังหวัด  ได้แก่ ภาคกลาง ที่ จ.ราชบุรี, ภาคเหนือ  ที่ จ.เชียงใหม่, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.อุดรธานี และ ภาคใต้ ที่ จ.นราธิวาส

      สวนรวมพรรณไม้ป่า 60 พรรษามหาราชินี ภาคใต้ ตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 3 ต.สุไหงปาดี อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส โดยขอใช้ที่ดินเนื้อที่ 100 ไร่บริเวณที่สาธารณประโยชน์ที่สงวนเลี้ยงสัตว์โคกไร่ใหญ่ ซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าลุ่มแม่น้ำบางนรา ทำการสำรวจเก็บรวบรวมพันธุ์ไม้ป่า และขยายพันธุ์โดยนำมาปลูกเป็นหมวดหมู่ตามวงศ์ (Family) ตามสกุล (Genus) โดยคำนึงถึงความเหมาะสมทางนิเวศวิทยาเป็นหลัก พรรณไม้ดั้งเดิมเป็นพรรณไม้ในป่าดิบชื้น ได้แก่ มะหาด เนียง แซะ ตีนเป็ด หว้า ไทร ทัง กาหลอ ใบสีทอง เต่าร้างยักษ์ หม้อกัง หมากแดง กล้วยไม้เพชรหึง เป็นต้น

      นอกจากนี้ยังมีพรรณไม้ป่าที่ได้ทำการรวบรวมจากท้องที่ต่าง ๆ นำมาปลูกไว้เป็นหมวดหมู่ และตามหลักอนุกรมวิธานพืชอีก 10 แปลง ได้แก่ แปลงเฟิร์น แปลงไผ่ แปลงไม้วงศ์ยาง แปลงไม้ทนแล้ง และไม้อวบน้ำ แปลงไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัด แปลงกล้วยไม้ แปลงปาล์ม แปลงไม้วงศ์ขิง แปลงหวาย และแปลงไม้ป่ากินได้
ปาล์มบังสูรย์ พรรณไม้งามประจำถิ่น

      ปัจจุบันสวนรวมพรรณไม้ป่า 60 พรรษามหาราชินี ภาคใต้ มีพันธุ์ไม้รวมทั้งสิ้นกว่า 600 ชนิด หลายชนิดเป็นไม้ที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจ บางชนิดเป็นพืชสมุนไพร บางชนิดเป็นไม้ที่หาดูได้ยากและบางชนิดเป็นไม้ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ หนึ่งในพรรณไม้หายากในสวนแห่งนี้ ได้แก่ ปาล์มบังสูรย์ เป็นไม้ประจำ จ.นราธิวาส มีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ เป็นไม้ประจำถิ่นหายาก อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ลักษณะเป็นไม้ลำต้นเตี้ย ๆ แต่แตกก้านออกเป็นกอใหญ่ สูงท่วมหัว สามารถสูงได้ถึง 3 เมตร ใบแผ่กว้างทรงสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด มีเส้นใบเรียงกันเป็นระเบียบสวยงาม ได้รับการยกย่องจากทั่วโลกว่า เป็นปาล์มที่สวยงามที่สุด ซึ่งจะพบในป่าแถบนี้เท่านั้น
      ชื่อ "ปาล์มบังสูรย์" ตั้งโดยศาสตราจารย์ประชิด วามานนท์ ที่ปรึกษาโครงการส่วนพระองค์ เมื่อครั้งท่านเดินทางมาสำรวจพื้นที่แถบนี้ ได้พบปาล์มชนิดนี้ปลูกอยู่ในหมู่บ้านมุสลิม ศาสตราจารย์ประชิด เห็นว่า ใบของปาล์มชนิดนี้ มีลักษณะคล้าย "บังสูรย์" เครื่องสูงที่ใช้บังแดดในพิธีแห่ จึงนำมาตั้งเป็นชื่อปาล์มดังกล่าว ส่วนภาษาท้องถิ่นเรียกว่า   บูเก๊ะอีแป แปลว่าตะขาบภูเขา น่าจะมาจากส่วนช่อดอกที่คล้ายตัวตะขาบ เป็นปาล์มประดับชนิดหนึ่งที่มีราคาสูงมาก ตั้งแต่ 2,500-10,000บาท (300 บาท/นิ้ว วัดความกว้างสุดของใบ)
ป่าในเมือง สวนป่าประชารัฐ เพื่อความสุขของคนไทย

      ผู้เข้าชมสวนรวมพรรณไม้ป่า 60 พรรษามหาราชินี ภาคใต้ มีทั้งประชาชนทั่วไป เด็กและเยาวชนจากโรงเรียนในพื้นที่รอบข้าง และนักท่องเที่ยว เช่น กลุ่มนักปั่นจักรยาน  โดยสามารถหาความเพลิดเพลินจากกิจกรรมวาดรูป ถ่ายภาพพันธุ์ไม้ ชมการสาธิตการปีนเก็บตัวอย่างพันธุ์ไม้ได้ ทางสวนฯ มีเจ้าหน้าที่ให้บริการทั้งในด้านฐานการเรียนรู้ ฐานการเพาะชำกล้าไม้ การทำปุ๋ยหมัก การกลั่นน้ำส้มควันไม้ การส่งเสริมการสร้างรายได้ให้กับประชาชนในการเพาะปลูกพรรณไม้ประดับ การสนับสนุนกล้าไม้ในกิจกรรมปลูกต้นไม้ในพื้นที่ และมีบริการลานสันทนาการสำหรับให้บริการโรงเรียนโดยรอบพื้นที่ นำเยาวชนมาศึกษาเรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ใช้สถานที่ในการศึกษาเรียนรู้ ปลูกฝังจิตสำนึก หรือจัดค่ายลูกเสือ

      โดยกิจกรรมต่าง ๆ ข้างต้นเป็นไปตามนโยบาย “ป่าในเมือง สวนป่าประชารัฐ เพื่อความสุขของคนไทย” ของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา  ที่สนับสนุนให้ประชาชนเข้ามาใช้ประโยชน์ป่าในเมือง ซึ่งหมายถึง พื้นที่ป่าไม้หรือพื้นที่ปลูกต้นไม้ ที่ตั้งอยู่ในเมืองหรือใกล้เมือง โดยภาครัฐร่วมกับท้องถิ่น และชุมชนดำเนินการในลักษณะของพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ตามความเหมาะสม ด้วยการดำเนินโครงการภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นในการอนุรักษ์ผืนป่าในเขตเมือง เพื่อสร้างความสุขให้กับประชาชนได้อย่างยั่งยืน

ความคิดเห็น