วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2567

แผนการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้

 2 ธ.ค. 2563 12:30 น.    เข้าชม 4390

          ในปีงบประมาณ 2564 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า ภายในการบังคับบัญชาของ พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคง ภาค 4 ได้ประกาศแผนงานเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ประจำปี 2564 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2564 ทั้งนี้ เพื่อต่อยอดการทำงาน สนองความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา และพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดความยั่งยืน

เน้นการผนึกกำลัง และบูรณาการแบบมีส่วนร่วม

          สำหรับการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา และพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเน้นการผนึกกำลังทุกภาคส่วนในพื้นที่ ทั้งภาคราชการ และ ภาคประชาชน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการบูรณาการแบบมีส่วนร่วม ภายใต้ยุทธศาสตร์พระราชทาน (GrandStrategy) เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ที่เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ที่ถูกใช้มาอย่างยาวนานในการแก้ไขปัญหา และ พัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

นโยบายเร่งด่วน 5 งาน

          ภายใต้การเรียนรู้ผลการปฏิบัติงานในปีงบประมาณที่ผ่านมา ในปีงบประมาณ 2564 กองอำนวยการรักษา  ความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า ให้ความเร่งด่วนกับ งาน 5 งาน ดังนี้

          1. งานควบคุมพื้นที่ และการบังคับใช้กฎหมาย

               การบังคับใช้กฎหมาย ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการกับผู้กระทำผิด แต่ในขณะเดียวกันยังคงเปิดโอกาสให้บุคคลที่เห็นต่างเข้ามาพูดคุยแสวงหาทางออกโดยสันติวิธีอย่างต่อเนื่อง หากทุกพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความสงบเรียบร้อย ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่มีการปลุกระดมสร้างความขัดแย้งและ ก่อเหตุร้ายอย่างแท้จริงแล้ว กฎหมายพิเศษพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนำมาบังคับใช้กันอีกต่อไป..

          2. งานแก้ไขปัญหายาเสพติด

               ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ภายใต้การบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นหน่วย ในส่วนกลาง (สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด) และ หน่วยในพื้นที่ นั่นคือ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ในพื้นที่ ทำให้สามารถจับกุมผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ได้เป็นจำนวนมาก

          3. งานส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง

               หน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่ อาทิเช่น หน่วยเฉพาะกิจจังหวัด (ยะลา, ปัตตานี, นราธิวาส และ สงขลา) ร่วมไปถึงหน่วยเฉพาะกิจทหารพราน ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อเสริมความเข้มแข็งในการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม

          4. งานส่งเสริมการพัฒนาเพื่อความมั่นคง

               เพื่อให้เสริมประสิทธิภาพให้กับงานตามมาตรการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ “งานพัฒนาเพื่อความมั่นคง” ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานด้านความมั่นคง เนื่องจากในพื้นที่  บางพื้นที่ หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงยังไม่สามารถเข้าไปดำเนินการได้ การพัฒนาเพื่อความมั่นคงดังกล่าว จะเป็นการสร้างความมั่นคงพื้นฐานในขั้นต้น ไม่ว่าจะเป็นทางสังคม การพัฒนาพื้นที่ รวมไปถึงการสร้างจิตสำนึกด้านความมั่นคงผ่านกิจกรรมในการพัฒนาศักยภาพของคน ชุมชน และพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น การใช้กิจกรรมตามแนวคิด “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” และยุทธศาสตร์แนวทางดำเนินงาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ทางด้านเศรษฐกิจพอเพียง หรือ ศาสตร์พระราชา เป็นต้น

          5. งานสร้างความเข้าใจ โดยยึดหลักสันติวิธี

               ในปี 2564 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา จชต. ไม่ว่าจะเป็น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า และ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ร่วมกันขับเคลื่อนสภาสันติสุขตำบล ด้วยการตั้งคณะทำงานสภาสันติสุขตำบล ทั้งนี้เพื่อใช้เป็นกลไกในระดับตำบลเพื่อปิดช่องว่างในการบริหารจัดการแผ่นดินในระดับตำบลที่มีหลายส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง

               อย่างไรก็ตาม บุคลากร หรือ กำลังพล ในทุกภาคส่วน คือ หัวใจสำคัญการขับเคลื่อนการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2564 ดังนั้น แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคง ภาค 4 ได้ย้ำในประเด็น “ยุทธศาสตร์คนดี” ที่เน้นการคัดเลือกบุคคลที่มีระเบียบวินัย มีความรู้ความสามารถ พร้อมทุ่มเท เสียสละ มีคุณธรรม ปฏิบัติตนเป็นที่รักและศรัทธา รวมไปถึงเคารพในขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม บทบัญญัติทางศาสนาของประชาชนอย่างเคร่งคัด และต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด หรือสิ่งผิดกฎหมายใด ๆ รวมถึงต้องไม่สร้างเงื่อนไขในพื้นที่ พร้อมฝึกฝนตนเองให้เตรียมรับสถานการณ์อยู่เสมอ ในทุกรูปแบบ เพื่อสร้างความอุ่นใจและความมั่นใจให้กับพี่น้องประชาชน

ความคิดเห็น