วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

พันธุกรรมข้าวพื้นเมืองสู่ความมั่นคงทางอาหารชาวจังหวัดชายแดนใต้

 2 ธ.ค. 2563 12:38 น.    เข้าชม 5669

          ข้าวไทยและพันธุกรรมมีความสำคัญในแง่เดียวกับศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี เพราะเป็นสิ่งที่อยู่บนแผ่นดินไทย ได้รับการคัดเลือกและสร้างสรรค์จากบรรพบุรุษ คนไทยปลูกข้าวพื้นเมืองเพราะชอบรับประทาน จึงคัดเลือกพันธุ์ที่รสชาติดี อร่อย ข้าวพื้นเมืองยังสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต และวัฒนธรรมของพื้นที่ และบางสายพันธุ์ยังมีคุณค่าโภชนาการที่มากกว่าข้าวทั่วไป ความหลากหลายทางพันธุกรรมของพันธุ์ข้าวพื้นเมืองทำให้สามารถปรับตัวจากอดีตถึงปัจจุบันได้ ซึ่งอาจมียีนต้านทานโรค ทนแล้ง ทนเค็ม หรือ ทนน้ำท่วม ลักษณะพันธุกรรมเหล่านี้สำคัญต่อการพัฒนาพันธุ์ข้าวไทย

          ภาคใต้ถือได้ว่ามี “ข้าวพันธุ์พื้นเมือง” ที่หลากหลายแห่งหนึ่งของไทย ด้วยความเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจ และสังคมในปัจจุบัน ทำให้พื้นที่เพาะปลูกข้าวในภาคใต้หรือแม้แต่จำนวนชาวนาลดน้อยลง ซึ่งอาจส่งผลต่อการมีอยู่ของสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองใต้ได้ ซึ่งศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าวพัทลุงได้เคยรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นเมืองภาคใต้ไว้ได้ถึง 162 สายพันธุ์ แต่ในความเป็นจริงยังมีพันธุ์ข้าวพื้นเมืองมากกว่านั้นที่ยังไม่ได้ถูกรวบรวม นอกจากนี้ ข้าวพื้นเมืองภาคใต้หลายพันธุ์ได้การรับรองจากกรมการข้าวให้เป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองประจำจังหวัด เช่น ข้าวซีบูกันตัง จ.นราธิวาส ข้าวมะจานู จ.ปัตตานี ข้าวมือลอ จ.ยะลา หรือข้าวลูกปลา ข้าวช่อขิง จ.สงขลา

รับรองพันธุ์ข้าวใหม่ 2 พันธุ์พื้นบ้านชาวไทยมุสลิม 3 จังหวัดชายแดนใต้

          เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา คณะกรรมการพิจารณารับรองพันธุ์ข้าว กรมการข้าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีมติรับรองข้าวพันธุ์ใหม่ จำนวน 2 พันธุ์ ได้แก่ ข้าวเจ้าสายพันธุ์มะจานู PTNC99012-69 จากศูนย์วิจัยข้าวปัตตานี โดยได้รับรองพันธุ์ในชื่อ “มะจานู 69” ซึ่งตรงกับความนิยมการบริโภคของชาวไทยมุสลิม ที่ชอบใช้มือเปิบข้าวแทนการใช้ช้อน พื้นที่แนะนำในการปลูกคือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส และข้าวเจ้าพันธุ์อัลฮัมดุลิลลาฮ์ 4 ซึ่งตรงกับรสนิยมการบริโภคของ ชาวไทย – มุสลิม ในพื้นที่จังหวัดสตูลและจังหวัดใกล้เคียง

โครงการตำบล มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

          การรับรองพันธุ์ข้าวพื้นเมืองประจำจังหวัด คือบริบทส่วนหนึ่งในการดำเนินงานโครงการ ตำบล มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นการบูรณาการระหว่างกรมการข้าว ร่วมกับศูนย์วิจัยข้าวปัตตานี หน่วยงานภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ประกอบด้วย ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (อำเภอ จะนะ เทพา นาทวี สะบ้าย้อย) โดยกรมการข้าวจึงได้ดำเนินโครงการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาตั้งแต่ปี 2553 โดยมุ่งเน้นการฟื้นฟูพื้นที่นาร้างที่มีความเหมาะสมในการปลูกข้าว การเพิ่มมูลค่าการผลิตข้าวพันธุ์พื้นเมืองทางภาคใต้ และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวในพื้นที่

          การดำเนินงานประกอบไปด้วย 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1) การฟื้นฟูนาร้างเพื่อการปลูกข้าว 2) การส่งเสริมการผลิตข้าว พันธุ์พื้นเมือง 3) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวในพื้นที่เหมาะสม (Zoning) โดยมีการสนับสนุนปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ตามความต้องการของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ และถ่ายทอด องค์ความรู้การผลิตข้าว รวมทั้งส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรให้มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนการผลิตข้าว ในด้านต่าง ๆ เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น รวมทั้งการอนุรักษ์สายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองให้คงอยู่สืบต่อไป สนับสนุนให้เกษตรกรมีการแปรรูปและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ข้าวในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ชาวนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้อย่างยั่งยืน

ความคิดเห็น