วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2567

สตาร์ทอัพ “ตีคราม” จากใบไม้ในวันนั้น สู่ผลิตภัณฑ์ในวันนี้

 30 ธ.ค. 2563 16:54 น.    เข้าชม 3083

          ผ้าหนึ่งผืนที่มีสีสัน ลวดลายสวยงามที่มาจากความพยายามในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่คงคุณค่าดี ๆ จากธรรมชาติ เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดแก่ผู้บริโภค ให้ได้มีส่วนร่วมในการดูแลและใส่ใจธรรมชาติไปด้วยกัน นี่คือแนวคิดของแบรนด์สตาร์ทอัพของเยาวชนรุ่นใหม่จากสถาบันการศึกษาในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างแบรนด์ Teekram หรือ ตีคราม ถือกำเนิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างคณาจารย์และนักศึกษา สาขาการออกแบบแฟชั่น ศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่สร้างโอกาสให้นักศึกษาได้นำองค์ความรู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาสร้างเป็นแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการมีงานทำของนักเรียนนักศึกษาให้มีรายได้ระหว่างเรียน

ห้องเรียนสตาร์ทอัพ เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง

          จุดเริ่มของแบรนด์ตีคราม ในปี 2561 เริ่มจากทางคณะศิลปกรรมศาสตร์ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโครงการ Pattani Heritage City ทาง    ดร.ศุภชัย สร้อยจิต อาจารย์สาขาออกแบบแฟชั่น และเครื่องแต่งกายจึงนำมาใช้เป็นต้นทุนในการถ่ายทอด ภูมิปัญญาการย้อมสีธรรมชาติให้กับนักศึกษา ทั้งในแง่การทอผ้า การมัดย้อม การตัดเย็บแปรรูป และเกิดเป็นการทดลองสร้างแบรนด์ขึ้นมาเพื่อผลิตสินค้าจำหน่ายจริง

          จากสมาชิกเริ่มต้นของนักศึกษากลุ่มผู้ผลิตแบรนด์ ตีคราม 3 คน ที่ลงทุนกันคนละ 2,000 บาท เพื่อซื้อเส้นใยและวัสดุย้อม และได้รับการสนับสนุนสถานที่ผลิต กี่ทอผ้า อุปกรณ์การย้อมจากทางมหาวิทยาลัย เมื่อผลิตแล้วก็จำหน่ายผ่านช่องทางการตลาดได้แต่ทางเพจเฟสบุค Teekram การออกบูธในงานต่าง ๆ และวางขายที่ ศูนย์ย่อย Spoke Innovation Hub ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จนบัดนี้ ย่างเข้าปีที่ 3 ของแบรนด์ตีคราม สมาชิกต่างได้ต้นทุนคืน และมีเงินผลกำไรที่ใช้หมุนเวียนในธุรกิจต่อไป รวมถึงการเปิดรับนักศึกษารุ่นน้องเข้ามาเรียนรู้และสืบทอดการทำงาน ทั้งด้านการผลิตและการตลาด ก่อนที่รุ่นพี่จะจบการศึกษาไป

          ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ตีคราม เป็นผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายทอมือ ย้อมเส้นใยฝ้าย 100% ด้วยสีสันจากธรรมชาติ ได้แก่สีครามจากการย้อมเย็นด้วยคราม ซึ่งแต่เดิมพื้นที่ปัตตานีเคยเป็นแหล่งผลิตครามในยุคโบราณ แต่ภูมิปัญญานี้ได้เลือนหายไปตามกาลเวลา จนคนรุ่นใหม่พยายามที่จะเรียนรู้อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีการย้อมร้อนด้วยวัสดุธรรมชาติจากท้องถิ่น ได้แก่ สีน้ำตาลเข้มจากเปลือกมังคุด เปลือกเงาะ และเปลือกต้นประดู่ สีชมพูจาก แก่นฝาง เมื่อได้เส้นใยย้อมสีที่สวยงามแล้ว จึงนำมาทอด้วยเทคนิคต่าง ๆ ทั้งลวดลายแบบดั้งเดิม และลายประยุกต์ และยังมีส่วนที่ใช้วิธีการมัดย้อมอีกด้วย ก่อนจะนำไปแปรรูปเป็นสินค้าอย่างผ้าคลุมไหล่ กระเป๋าถือ กระเป๋าสะพาย ด้วยดีไซน์เก๋แบบคนรุ่นใหม่ ทั้งหมดล้วนเป็นฝีมือของน้อง ๆ นักศึกษาทั้งสิ้น

Spoke Innovation Hub คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี

          คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นหน่วยงานที่จัดการศึกษาทางด้านศิลปกรรมในแขนงต่าง ๆ ทั้งด้านวิจิตรศิลป์ และประยุกต์ศิลป์ โดยมีความคิดสร้างสรรค์เป็นฐานในการจัดการเรียนการสอน พร้อมกันนี้เนื่องด้วยจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีศิลปกรรม มีเอกลักษณ์และความหลากหลายทางวิถีศิลปวัฒนธรรม จึงนับเป็นต้นทุนสำคัญที่ทำให้มีความคิดสร้างสรรค์ตาม อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและพหุวัฒนธรรมเกิดขึ้นตามมา

          ศูนย์ย่อย Spoke innovation Hub คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ภายใต้โครงการศูนย์นวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จึงได้รับการจัดตั้งขึ้นในปี 2562 เพื่อเป็นสถานที่ดำเนินการ creative economy ของนักศึกษาและผู้ที่สนใจงานด้านศิลปะในจังหวัดชายแดนภาคใต้​ ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ด้านต่าง ๆ มีการพัฒนาฝีมือ และเป็นพื้นที่กลางในการประชาสัมพันธ์และจัดจำหน่าย ผลงานของนักศึกษา คณาจารย์ ศิษย์เก่า และผลงานจากชุมชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานีและจังหวัดใกล้เคียง

          นอกจากการส่งเสริมให้นักศึกษาสร้างสรรค์ผลงานและสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์แล้ว ยังมีการร่วมมือกับชุมชนผู้ผลิตงานฝีมือ โดยเริ่มจากการจัดกิจกรรมฝึกอบรมผู้ผลิต และ ผู้ประกอบการในพื้นที่ ในเรื่องการออกแบบ และการตลาด เช่น วิสาหกิจชุมชนจักสานไม้ไผ่บ้านทุ่ง จ.ปัตตานี, กลุ่มกระจูดบ้านโคกพะยอม ต.โคกเคียน จ.นราธิวาส, กลุ่มผลิตภัณฑ์จักสาน (ก้านจาก) บ้านละเมาะทะเล ต.ตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี, ผลิตภัณฑ์กะลา จากกลุ่ม WarisanSeni อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี, กลุ่มย่านลิเภา อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส และกลุ่มผ้าบาติก จ.นราธิวาส เป็นต้น ผู้สนใจสามารถเข้าไปดูผลิตภัณฑ์และรับข่าวสารกิจกรรมต่าง ๆ ได้ที่เพจ Spoke Innovation Hub คณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี

ความคิดเห็น