วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ.2567

ความท้าทาย และการเดินหน้าต่อไปของการต่อสู้ความคิดตามแนวทางสันติวิธี

 25 ม.ค. 2564 12:49 น.    เข้าชม 2354

          เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2506 ประธานาธิบดี จอหน์ เอฟ เคเนดี้ ได้กล่าวสุนทรพจน์ในงานประชุมทั่วไปของสหประชาชาติ (United Nation) ณ กรุงนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยสุนทรพจน์นั้น มีข้อความดังนี้

          “Peace is a daily, a weekly, a monthly process, gradually changing opinions, slowly eroding old barriers, quietly building new structures.” —John F. Kennedyซึ่งแปลเป็นเนื้อหาในภาษาไทย ได้ว่า“การสร้างความสุขสงบ และสันติ เป็นกระบวนการที่จะต้องกระทำในทุกๆ วัน ทุกๆ สัปดาห์ และ ทุกๆ เดือน และด้วยการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ที่จะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงความคิด จนค่อยกัดกร่อนให้ความคิดแบบเก่าๆ ให้ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป และ สร้างสรรค์อย่างเงียบงันให้เกิดโครงสร้างของความคิดใหม่”

          นี่คือข้อเท็จจริง ที่เราทุกคนต้องยอมรับว่า “กระบวนการในการสร้างสันติสุข” ให้เกิดขึ้นอย่างถาวรในที่ใดๆ ในโลกนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งมายาวนาน ในมิติของความคิดความเชื่อนั้น เป็นกระบวนการที่ต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำอย่างต่อเนื่อง ทำอย่างมุ่งมั่น

กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข จชต.

          กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข จชต. ก็เช่นเดียวกัน เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงความคิดความเชื่อ และหาจุดสมดุลระหว่างความคิดความเชื่อที่แตกต่าง อันจะนำมาซึ่งความสันติสุขที่ยั่งยืน และที่สำคัญที่สุด “กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข จชต.” ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ จชต. ที่มีมาอย่างยาวนาน

          จุดเริ่มต้นของ “กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข จชต” หรือ ที่เราเรียกว่า “การกลัดกระดุมเม็ดแรก” เกิดขึ้นในปี 2557 โดยเริ่มต้นจากการหารือกับหน่วยงานสูงสุดที่รับผิดชอบในเรื่องนโยบายด้านความมั่นคงของสองประเทศ นั่นคือ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ของประเทศไทย และประเทศมาเลเซีย และได้ข้อสรุปว่า   จะใช้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติของทั้งสองประเทศเป็นช่องทางหลักในการติดต่อสื่อสารจาก “การกลัดกระดุมเม็ดแรก” ในปี 2557 ส่งผลให้ในปี 2558 กลุ่มขบวนการ ได้แก่ BRN, PULO – P4, BIPP, PULO – DSPP และ GMIP ได้ตอบรับเข้าร่วมการพูดคุยเพื่อสันติสุข

          จากการพูดคุยฯ แสดงให้เห็นถึง “ทัศนคติ และจุดยืน” ของแต่ละฝ่าย มีความสอดคล้องกัน นั่นคือในฝั่งของผู้เห็นต่าง คือ อุสตาซ สุกรี ฮารี (Uztas Sukri Haree) กล่าวว่า “ประชาชนปาตานี และชาวมลายู ล้วนเห็นด้วยกับการสร้างสันติภาพ หากรัฐบาลไทยพร้อมพูดคุยกับเรา” นอกจากนั้น พลเอก อักษรา เกิดผล ได้กล่าวสรุปว่า “จากบทเรียนที่ผ่านมาทำให้เรารู้ว่า การใช้ความรุนแรงไม่สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ นอกจากได้รับความรุนแรงที่มากขึ้นกว่าเดิมกลับมา”

          จากทัศนคติและจุดยืนที่สอดคล้องกัน นำไปสู่การกำหนดพื้นที่ปลอดภัยในช่วงรอมฏอนในปี 2558 และส่งผลให้สถิติการก่อเหตุ และการสูญเสียในเวลาดังกล่าว ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเป็นอย่างมาก เมื่อเทียบกับรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

          อย่างไรก็ตาม การสร้างความไว้วางใจ เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และไม่สามารถสร้างได้โดยใช้เอกสาร คำพูด หรือ วาทกรรม แต่เป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายต้องใช้ทั้งความอดทน อดกลั้น เปิดใจรับฟังความคิดเห็น ข้อจำกัดของแต่ละฝ่าย และที่สำคัญต้องรักษาคำมั่น และทำตามคำพูดที่ให้ไว้ ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างความไว้วางใจ ทั้งสองฝ่ายจึงร่วมกันกำหนด TOR หรือ กติกาในการพูดคุยระหว่างกันก่อน โดยได้ร่วมกันจัดตั้ง “คณะทำงานทางเทคนิคร่วมฯ” เพื่อทำหน้าที่ร่างกติกาในการพูดคุยฯและในที่สุด การจัดทำร่าง TOR ที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ ความไว้วางใจซี่งกัน และกันเริ่มก่อตัวขึ้น

          หลังจาก TOR ซึ่งใช้เป็นกติกาในการพูดคุยได้เกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือ การพูดคุยหารือกันในเรื่อง “พื้นที่ปลอดภัย หรือ Safety Zone ที่จะทำให้คนในพื้นที่ปลอดภัย และในขณะเดียวกันก็เกิดความปลอดภัยกับสมาชิกกลุ่มผู้เห็นต่างที่เข้าร่วมกันพูดคุยด้วย ทั้งนี้ร่วมไปถึงการใช้งานด้านการพัฒนา ควบคู่กับการให้ความเป็นธรรมต่อการบังคับใช้กฏหมายต่อทุกกลุ่มทุกฝ่ายโดยเท่าเทียม และในเดือนมกราคม 2561 ทั้งสองฝ่ายก็ได้เห็นชอบการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย รวม 5 พื้นที่ ได้แก่ อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส, อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส, อำเภอรามัน จังหวัดยะลา และ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี โดยกำหนดให้ อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส เป็นพื้นที่ปลอดภัยนำร่อง อย่างไรก็ตาม เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศมาเลเซีย จึงทำให้ข้อตกลงในเรื่องพื้นที่ปลอดภัยต้องหยุดชะงักไป

ความท้าทายที่ต้องเผชิญ

          การพูดคุยฯ ที่ผ่านมาส่งผลให้เหตุการณ์ความรุนแรง และการสูญเสียในพื้นที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด และเป็นที่พิสูจน์แล้วว่า ความขัดแย้งไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ใดในโลก ย่อมจบลงด้วยการพูดคุย อย่างไรก็ตาม เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายกับความกังวลในอีกหลายๆ ประการ อาทิเช่น การทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรง และทางอ้อม มองว่ากระบวนการพูดคุยเป็นแค่พิธีกรรม, การพูดคุยจะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน, การพูดคุยจะนำไปสู่การยกระดับฐานะกลุ่มผู้เห็นต่าง, และ ความกังวลอีกหลายประการที่เป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขยังคงเดินหน้าภายใต้ความท้าทายไม่ว่าจะมีอุปสรรค และความท้าทายเพียงใด ณ ปัจจุบัน คณะทำงานพูดคุยฯ​ ชุดใหม่ ภายใต้การนำ ของ พลเอก วัลลภ     รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข จชต. ยังคงมุ่งมั่นสานต่อความก้าวหน้าให้กับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข ที่คณะทำงานพูดคุยฯ​ ชุดก่อนหน้านี้ ได้ดำเนินการไว้ ด้วยการเดินสายลงพื้นที่ จชต. ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด 19 เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกลุ่มต่างๆ อาทิเช่น กลุ่มผู้นำศาสนา กลุ่มผู้แทนสภาเครือข่ายปัญญาชน จชต., กลุ่มสมาคมนักศึกษามุสลิมในต่างประเทศ, กลุ่มผู้แทนเครือข่ายชาวพุทธ จชต. และ กลุ่มนักธุรกิจ รวมไปถึงการทำงานร่วมกับ คณะทำงานด้านสันติสุข และคณะประสานงานระดับพื้นที่ (สล.3) ก็ก่อนที่จะนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดที่ได้จากทุกกลุ่ม มาประเมิน และนำไปสู่การดำเนินการพูดคุยครั้งต่อไป เมื่อสถานการณ์โควิดในประเทศมาเลเซียเริ่มคลี่คลายลง

ความคิดเห็น