วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2567

สตรีทอาร์ตชายแดนใต้ สุนทรีย์บนวิถีพหุวัฒนธรรม

 15 ก.พ. 2564 16:15 น.    เข้าชม 5621

          สตรีทอาร์ตถือเป็นศิลปะแขนงใหม่ที่กำลังได้รับความนิยม มีการสร้างสรรค์ขึ้นหลากหลายจุดประสงค์ ในประเทศไทยมีการนำสตรีทอาร์ตเข้ามาเชื่อมโยงในการพัฒนาพื้นที่เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว นำเสนอเรื่องราววิถีชีวิต วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของชุมชน สะท้อนผ่านภาพชีวิตของผู้คน ภาพบุคคลและกิจกรรมต่างๆ ซึ่งหากศิลปินสามารถหลอมรวมเรื่องราวในบริบทของท้องถิ่นเข้ากับผลงานได้อย่างน่าสนใจ ผลงานสตรีทอาร์ตก็จะสามารถเข้าถึงจิตใจและได้รับความนิยมจากผู้คนในพื้นที่  อีกทั้งดึงดูดนักท่องเที่ยวให้หลั่งไหลมาเพื่อชมผลงานนั้น ดังเช่น สตรีทอาร์ตหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่ทะยอยได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นในช่วงระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา

เสพศิลป์ ถิ่นบินหลา Yala Bird City Street Art

          Yala Bird City Street Art  เปิดตัวในปี 2560 ภายใต้แนวคิดเสพศิลป์ ถิ่นบินหลา ได้มีการนำเอาอัตลักษณ์ของชุมชนและวิถีชาวบ้านขึ้นมาพัฒนาให้มีความโดดเด่น โดยจังหวัดยะลาเป็นเมืองแห่งนก ปัจจุบันภาพวาดจะมีทั้งหมด 14 จุด สามารถเดินชมต่อเนื่องกันได้อย่างสะดวก บนผนังบ้านภายในชุมชน อำเภอเมือง จังหวัดยะลา บริเวณชุมชนประชานุกูล ถนนนวลสกุล หรือซอยโรงหนังรามันเก่า ตัวอย่างภาพไฮไลต์ที่เป็นเอกลักษณ์คุ้นตาก็คือ ภาพวาดเด็ก 3 ตา ผลงานของ Alex face ที่สร้างสรรค์ออกมาเป็นภาพเด็ก 3 ตา นอนอุ้มนก ให้ความรู้สึกอบอุ่น รักกัน ช่วยสร้างความรู้สึกดีๆ ให้แก่กันและกัน นอกจากนี้ก็ยังมีภาพนกบินหาสันติภาพ ภาพวาดช้างขนาดใหญ่ ที่สื่อถึงเมืองยะลาที่เชื่อมโยงกับช้างประจำรัชกาลที่ ๙ เป็นต้น ระหว่างทางเดินชมภาพวาดริมสองข้างทางก็ยังได้เห็นบ้านเมือง และวิถีชีวิตของชาวยะลาที่สุขสงบ

สีสันเมืองโกลก

          The Color of Kolok เปิดตัวขึ้นที่ อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส ในเดือนธันวาคม ปี 2561 บนผนังตลอดแนวสวนสาธารณะหน้าด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก นำโดยเอกรัฐ นาคอนุเคราะห์ ศิลปินกราฟฟิตี้ชื่อดังพร้อมเพื่อนศิลปินไทยและต่างชาติ ที่มีชาวบราซิล อังกฤษ และมาเลเซีย รวม 16 คน ลงพื้นที่มาวาดรูปแนว street art (กราฟฟิตี้) ที่ผสมผสานกลิ่นไอของพื้นที่สะท้อนวิถีวัฒนธรรมชายแดนใต้ เพื่อสร้างจุดเช็คอินที่สร้างสีสันและบรรยากาศการท่องเที่ยวที่อำเภอสุไหงโก-ลก ซึ่งทุกคนมาด้วยใจโดยไม่คิดค่าจ้าง ขณะที่เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก รวมทั้งสมาคมชมรมต่างๆ และผู้ประกอบการในพื้นที่ได้ร่วมสนับสนุนงบประมาณเพื่อใช้ในกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการสร้างสีสันให้กับเมืองสุไหงโก-ลก

ถนนอารูเนาะ แหล่งสตรีทอาร์ตปัตตานี

          ไม่ไกลจากศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว สถานที่สำคัญของเมืองปัตตานี สองข้างทางของถนนอาเนาะรู เป็นบ้านเก่าแก่ว่ากันว่าเป็นที่ตั้งของชุมชนจีนแห่งแรกๆ ของเมืองปัตตานี ที่เรียกว่า ย่านกือดาจีนอ บ้านเก่าเหล่านี้ถูกบูรณะดูแลให้สวยงามกลับมามีชีวิตขึ้นอีกครั้ง  ข้างกำแพงถูกแต่งแต้มด้วยสีสันจากสตรีทอาร์ตหลายจุด ไม่ว่าเป็นลวดลายมังกรที่ม้วนตัวเลื้อยพันอยู่บนกำแพง ภาพวิถีชีวิตคนปัตตานีที่อยู่กับทะเล ภาพเรือกอและบนชายหาด ชวนให้อยากเดินเล่นชมงานศิลป์รอบเมือง ในปี 2562 ศิลปะริมทางเหล่านี้เกิดจากความร่วมมือกันของคนในชุมชน เพื่อหวังให้เมืองปัตตานีมีชีวิตชีวามากขึ้น บางภาพใช้ลายเส้นง่ายๆ บางภาพอาจใช้เทคนิคศิลปะชั้นสูงผสมผสาน นอกจากนี้ยังมีศิลปะในตรอกซอยริมคลองอีกด้วย

เบตงสตรีทอาร์ต

          นอกจากการสร้างสตรีทอาร์ทกว่า 10 จุดเพื่อการเฉลิมฉลองเมืองเบตงอายุ 111 ปี เมื่อปี 2560 แล้ว ล่าสุดเดือนมกราคม ปี 2563 ที่ผ่านมา กลุ่มศิลปินกราฟฟิตี้และสตรีทอาร์ต กว่า 30 ชีวิตจากทั่วประเทศไทย ได้ร่วมแต่งแต้มสีสันให้เมืองเบตง จังหวัดยะลา ถ่ายทอดเรื่องราววิถีชีวิต สังคมพหุวัฒนธรรม ความหลากหลายของชาวเบตง รวมไปถึงสัญลักษณ์ต่าง ๆ ภาพกราฟฟิค ภาพแนวการ์ตูน ที่สะท้อนความสนุกสนานตามคาแรคเตอร์ของศิลปิน เพื่อแต่งแต้มสีสันเมืองเบตง กว่า 30 จุด เป็นการสร้างจุดเช็คอินและแลนด์มาร์กใหม่ที่จะทำให้นักท่องเที่ยวได้ใช้เวลาในเมืองเบตงมากขึ้น ได้เดินเล่นถ่ายรูปไปตามจุดต่างๆ ได้เห็นวิถีชีวิตของชาวเบตงในตรอกซอกซอย ซึ่งบางแห่งก็มีร้านอาหารเล็กๆ ของคนในชุมชน และแชร์ภาพเหล่านั้นออกไปในสื่อโซเชียล เชื่อว่าจะกระตุ้นการเดินทาง และสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวให้คึกคักได้เป็นอย่างดี

สะพานรถไฟยะลา สตรีทอาร์ตใหม่ในยุคโควิด-19

          ปลายเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา สองศิลปินชื่อดัง อับดุลฮากีม ยูโซ๊ะ  และเติ้ล ธีระยุทธ พืชเพ็ญ หรือที่รู้จักกันในนาม “TRK” ศิลปินสตรีทอาร์ต ภายใต้การริเริ่มของอาจารย์จิราวุฒิ ด้วงอินทร์  มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งอาจารย์เป็นคนยะลา และต้องการสะท้อนความเป็นจริงของความสงบสุขในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเลือกสะพานดำ หรือสะพานรถไฟยะลา ในการบอกเล่าเรื่องราวที่สามารถเชื่อมโยงระหว่าง 3 เชื้อชาติ ชาวไทยพุทธ จีนและมุสลิม ผ่านศิลปะสตรีทอาร์ท

          “ดอกไม้งามปาตานีกับโยคีแห่งพระนคร”  คือผลงานของ อับดุลฮากีม ยูโซ๊ะ เป็นภาพช้างเพียงแค่ส่วนหัว ความหมายของช้างสื่อถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ส่วนของดอกไม้ที่ต่อจากส่วนหัวของช้างนั้น เป็นลวดลายของดอกพันธุ์พฤกษาหรือเรียกว่า บูงอปัตตานี บ่งบอกถึงความงดงาม บนความเข้มแข็ง สะท้อนอัตลักษณ์ของพื้นที่ชายแดนใต้ นอกจากนี้ยังมีภาพวาดบนฝาผนังอีกมากมายจากหลากศิลปินที่เคยมาวาดลวดลายสร้างสีสันไว้ตลอด 2 ข้างทาง สามารถไปถ่ายรูปกันได้ ยิ่งช่วงจังหวะที่มีรถไฟผ่านร่วมเฟรมด้วยแล้วยิ่งสวยงามมาก

          อย่าพลาดที่จะหาโอกาสไปเดินชมสตรีทอาร์ตไม่ว่าจะเป็นที่ใด เพราะสตรีทอาร์ตเป็นดังพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งของเมือง  ไม่เพียงแต่จะดึงดูดสายตาให้มองเท่านั้น หลายครั้งที่สตรีทอาร์ตยังมีหน้าที่เป็นประตูสู่ความห่วงใยสำคัญที่ซ่อนอยู่ในสังคม วัฒนธรรม หรือการเมือง ในสถานที่ที่มันปรากฏอยู่  ในขณะที่มันเป็นเรื่องง่ายที่จะถ่ายรูปงานสวยๆ บนกำแพงเมืองสักแห่ง แล้วอัปโหลดลงอินสตาแกรม งานสตรีทอาร์ตที่สวยที่สุดยังคู่ควรกับการใช้เวลาสักสองสามขณะเพื่อคิดว่ามันพูดถึงสิ่งใด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันอยู่ในชุมชนจังหวัดชายแดนใต้ที่สันติสุขที่ยั่งยืนเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนาอยากจะเห็น

ความคิดเห็น