วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ.2567

นักรบสีน้ำเงิน ทหารนักพัฒนา

 17 ก.พ. 2564 20:32 น.    เข้าชม 3383

          เมื่อเราพูดถึงคำว่า “นักรบ” เรามักจะนึกถึงภาพ “นักรบสีเขียว” แต่งกายชุดสีเขียว และมีอาวุธประจำกาย ที่พร้อมจะมอบกายถวายชีวิตให้กับการป้องกันภยันตรายจากอริราชศัตรู...แต่หากพูดถึง “นักรบสีน้ำเงิน” ผู้คน    ก็อาจจะรู้สึกแปลก ๆ ว่า เอ....“นักรบสีน้ำเงิน” มันเป็นอย่างไรกันหนอ

          “นักรบสีน้ำเงิน” จริง ๆ ก็มีพื้นฐานมาจาก “นักรบสีเขียว” และก็มีหน้าที่ในการต่อสู้กับอริราชศัตรู ของประเทศเช่นเดียวกัน อริราชศัตรูนี้มิใช่ข้าศึกที่เป็นตัวคน แต่เป็นข้าศึกอีกรูปแบบหนึ่งที่มีผลต่อคุณภาพชีวิต   ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่บางพื้นที่ “ข้าศึก” เหล่านี้ ได้แก่ ความยากจน หรือคุณภาพชีวิตที่ยังไม่ได้มาตรฐาน นั่นเอง

ก่อกำเนิดของ “นักรบสีน้ำเงิน”

          นักรบสีน้ำเงิน เป็นฉายานามของหน่วยงานของทหาร ที่มีนามว่า “หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา” ก่อตั้งขึ้นเพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ที่กำลังแพร่กระจายเข้าสู่ประเทศไทยในขณะนั้น โดยในจุดเริ่มต้นนั้น ใช้ชื่อว่า “กองอำนวยกลางรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ หรือ กรป.กลาง” โดยรวบรวบสรรพกำลังจากทุกกระทรวง ทบวง กรม มาเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร ยากในการเข้าถึงจากหน่วยงานภาครัฐ เพื่อป้องกันการแทรกซึมโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายตรงข้าม โดยมีหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่เป็นส่วนปฏิบัติการหลักกระจายอยู่ทั่วประเทศ มีหน้าที่หลักในการเสริมสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้พี่น้องประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่งผลให้ประเทศเกิดความมั่นคงในระยะยาว

          เมื่อสถานการณ์ความมั่นคงเปลี่ยนแปลงไป กรป.กลาง ได้ปรับบทบาทมาสู่การเป็น หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา โดยมีคติพจน์ประจำหน่วยงาน ว่า “เทิดทูนสถาบัน มุ่งมั่นพัฒนา และ ประชารัฐมั่นคง”

หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้

          หน่วยบัญชาการทหารพัฒนามีหน่วยขึ้นตรง ได้แก่ กองบัญชาการ, สำนักงานพัฒนาภาค, สำนักงานทหารพัฒนา, สำนักงานสนับสนุน, ศูนย์ฝึกบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยพัฒนาการพิเศษ สำหรับหน่วยที่ดูแล  งานด้านการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ก็คือ สำนักงานพัฒนาภาค 4

          สำนักงานพัฒนาภาค 4 มีหน่วยขึ้นตรงในความรับผิดชอบ 9 หน่วยงานดังนี้

               1) หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 41 มีที่ตั้งอยู่ที่ บ.เจาะวา ต.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส

               2) หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 42 มีที่ตั้งอยู่ที่ บ.ลีตอ ต.บาโร๊ะ อ.ยะหา จ.ยะลา

               3) หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 43 มีที่ตั้งอยู่ที่ บ.หนองโหล๊ะ ต.ชุมพล อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง

               4) หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 44 มีที่ตั้งอยู่ที่ บ.นัดฆอนิส ต.น้ำดำ อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี

               5) หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 45 มีที่ตั้งอยู่ที่ บ.สะพานเคียน ต.ควนโดน อ.ควนโดน จ.สตูล

               6) หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 46 มีที่ตั้งอยู่ที่ บ.ใหม่พัฒนา ต.วัดประดู่ อ.เมือง จ.สุราษฏร์ธานี

               7) สถานีวิทยุกระจายเสียง 912 มีที่ตั้งอยู่ที่ ต.บางนาค อ.เมือง จ.นราธิวาส

               8) สำนักงานพัฒนาภาค 4 ส่วนหน้า และ 9) หน่วยช่างพัฒนา มีที่ตั้งอยู่ที่ บ้านทุ่งผีปั้นรูป ต.ป่าบอน อ.ป่าบอน จ.พัทลุง

          สำหรับหน่วยงานของสำนักงานพัฒนาภาค 4 ที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 41, 42, และ 44

หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ กับการแก้ไขปัญหา จชต.

          หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 41, 42 และ 44 มีหน้าที่ดูแลงานด้านการพัฒนาในพื้นที่ จ.นราธิวาส,​ จ.ยะลา และ ปัตตานี ได้มีส่วนช่วยในเรื่องการพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นงานก่อสร้างเส้นทางชนบท, งานจัดหาน้ำกินน้ำใช้, งานพัฒนาช่วยเหลือประชาชน, งานเกษตรผสมผสานตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

          โดยในแต่ละปีจะหมุนเวียนพัฒนาไปในแต่ละพื้นที่ ภายใต้การบูรณาการกับหน่วยงานและภาคส่วน ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กระจายครอบคลุมไปในทุกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังมีความจำเป็นจะต้องยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

          นอกเหนือไปจากงานพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น หน่วยงานของสำนักงานภาค 4 อาทิเช่น หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ ยังทำหน้าที่ในการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น อุทกภัย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 41, 42 และ 44 จะร่วมกับหน่วยงานและภาคส่วนอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชน ได้แก่ นำรถประปาสนามพร้อมกำลังพลไปแจกจ่ายน้ำดื่มสะอาดให้ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ และการช่วยเหลือในรูปแบบอื่น ๆ ที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ประสบภัยดีขึ้น

สรุป

          ในการพัฒนาประเทศนั้น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีปัญหาด้านความมั่นคง และยากต่อการเข้าถึงไม่สามารถดำเนินการพัฒนาด้วยหน่วยงานตามปกติได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องใช้หน่วยงานเฉพาะที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การพัฒนาเพื่อความมั่นคง”

          ตลอดระยะเวลามากกว่าครึ่งศตวรรษ ที่หน่วยงานทหารพัฒนาได้ปฏิบัติงานตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มขีดความสามารถ ทั้งในภูมิภาคอื่นของประเทศ และในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับคำชื่นชม และการยอมรับจากประชาชนให้เป็นทหารนักพัฒนา ที่ถูกขนานนามว่า “นักรบสีน้ำเงิน”

ความคิดเห็น