วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2567

ครูรัก(ษ์)ถิ่น ตอบโจทย์ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

 25 มี.ค. 2564 09:36 น.    เข้าชม 1468

      ในปัจจุบัน ประเทศไทยยังมีโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล จำเป็นจะต้องได้รับการดูแล และให้มีอยู่ในพื้นที่ต่อไป เพื่อให้เด็กในพื้นที่นั้นได้มีโอกาสทางการศึกษา โรงเรียนเหล่านี้มีอยู่ประมาณ ๒,๐๐๐ แห่ง ทั่วประเทศ และไม่อาจดำเนินการตามนโยบายการ “ควบรวม” โรงเรียนขนาดเล็กของกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีนักเรียนน้อยกว่า ๑๒๐ คน เนื่องจากไม่มีโรงเรียนรองรับในพื้นที่ใกล้เคียง อีกทั้งประสบปัญหาขาดแคลนครู โครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลเป็นครูรุ่นใหม่ เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน ที่เรียกสั้น ๆ            ว่า โครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น เป็นโครงการที่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ให้การสนับสนุน โดยมอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่มีฐานะยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษา ให้เข้ารับการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ เมื่อจบออกมาแล้ว พวกเขาจะต้องไปปฏิบัติหน้าที่ครูในโรงเรียนในพื้นที่    ซึ่งเป็นท้องถิ่นที่เป็นภูมิลำเนาของตนเองเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๖ ปี
      โครงการครูรักษ์ถิ่น จัดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูในพื้นที่ห่างไกล และปัญหาครูย้ายออกจากพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพทางการศึกษาของเด็กนักเรียน ดังนั้นการสร้างครูซึ่งเป็นคนในพื้นที่ โดยการคัดเลือกจากเด็กนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือว่ามีฐานะยากจน ให้เข้ามาเรียนครู เมื่อเด็กเหล่านี้จบการศึกษาออกไปแล้ว จะบรรจุเป็นครูในโรงเรียนเป้าหมายได้ในทันที ถือเป็นการสร้างครูคุณภาพ ให้เข้าไปจัดการพัฒนาการศึกษาแก่ลูกหลานภายในชุมชนบ้านเกิดให้มีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งในปีการศึกษา ๒๕๖๓ นับเป็นปีแรกที่ได้เริ่มโครงการนี้ โดยมีเป้าหมายที่จะผลิตครูรักษ์ถิ่นจำนวน ๕ รุ่น รุ่นละประมาณ ๓๐๐ คน และคาดว่าในระยะเวลา ๑๐ ปี จะสามารถผลิตครูได้เพียงพอต่อความต้องการในพื้นที่ห่างไกลได้
สร้างครูรุ่นใหม่ หัวใจรัก(ษ์)ถิ่น


      ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นสถาบันหนึ่งที่ได้รับการยอมรับด้านการ ผลิตครูที่มีคุณภาพ และไปทำงานด้านการศึกษาทั่วประเทศ รวมทั้งยังเป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่ร่วมงานกับ กสศ. ใน โครงการ ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ ตั้งแต่รุ่นที่ ๑ (ปี ๒๕๖๒) ต่อเนื่องถึงรุ่นที่ ๒ ในปี ๒๕๖๓ ซึ่งน้อง ๆ ที่ผ่านการคัดเลือก จะได้เข้าศึกษาในคณะครุศาสตร์สาขาปฐมวัยและประถมศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จุดเด่นของการสร้างครูโดยคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จะเน้นในเรื่องของการสร้างครูคุณภาพ ทั้งเรื่องของการเรียนการสอน และการมีจิตวิญญาณความเป็นครูเพื่อชุมชน โดยคำนึงถึงความต้องการของโรงเรียนในพื้นที่ซึ่งเป็นสังคมแบบพหุวัฒนธรรม

      ในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม รวมถึงปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานาน ครูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องได้รับการเสริมความรู้ พัฒนาทักษะ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับปัญหาในพื้นที่ที่แตกต่างกัน ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาได้สร้างกิจกรรมพิเศษขึ้นมา นอกเหนือจากการเรียนการสอนในวิชาพื้นฐานปกติ นักศึกษาครูจะต้องผ่านหลักสูตรพิเศษในการพัฒนาครูที่เรียกกันว่า Extra Time ซึ่งทดลองให้นักศึกษาครูสาขาประถมศึกษา ๓๐ คนเข้ามาอยู่รวมกันในหอพัก แล้วเพิ่มช่วงเวลาพิเศษในการเสริมความรู้เฉพาะทาง สร้างจิตวิญญาณความเป็นครู และพัฒนาศักยภาพทุกด้านอย่างเต็มที่ ใช้ช่วงเวลา ๑-๓ ทุ่มในวันธรรมดา ตลอดจนวันเสาร์อาทิตย์และช่วงเวลาปิดเทอมด้วย โดยเสริมสิ่งที่นักศึกษาครูต้องเรียนรู้เพิ่ม จนจบหลักสูตร ซึ่งรวมแล้วนักศึกษาทุกคนจะมีเวลาเรียนรู้เพิ่มขึ้นคนละ ๑,๘๐๐ ชั่วโมง

      โดยเวลาที่เพิ่มขึ้นมาของหลักสูตร Extra Time จะเสริมความรู้เกี่ยวกับบริบทพื้นที่ หรือการสอนศาสนาอิสลามเบื้องต้น (ตาดีกา) ส่วนนักศึกษาที่เป็นชาวพุทธก็เสริมด้านศาสนาพุทธ ทั้งยังมีการอบรมเทคนิคการสอนที่เกี่ยวกับบริบทชุมชนมากกว่าหลักสูตรครูทั่วไป หลักสูตรพัฒนาชุมชน เสริมเรื่องทวิภาษา พหุวัฒนธรรม เนื่องจากชุมชนส่วนใหญ่ใช้ภาษามลายูปาตานี (อักษรยาวี) เป็นหลักในการสื่อสาร จึงมีการสอนเพิ่มเติม ทั้งนี้ ได้ทำการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่องการจัดการเรียนการสอนชั้นประถมศึกษาในท้องถิ่นที่มีการใช้ภาษาที่แตกต่างกัน ทำให้การเรียนการสอนนั้นมีคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของเด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สำคัญนักศึกษาครูต้องรู้ว่า ครูและโรงเรียนไม่ได้มีหน้าที่ในการสอนหนังสืออย่างเดียว แต่ต้องเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในท้องถิ่นด้วย
ครูรัก(ษ์)ถิ่น ไม่ใช่แค่สอนหนังสือ แต่ต้องเป็นนักพัฒนาชุมชน


      นอกเหนือจากการกำหนดหลักสูตร และการให้ความรู้แก่นักศึกษา อีกภารกิจที่ถือว่าสำคัญและยังเป็นการเปลี่ยนแปลงบทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัย จากเดิมที่ทำหน้าที่เฉพาะรับนักศึกษา เปลี่ยนเป็นการมีส่วนร่วมในการคัดเลือกนักศึกษาครูที่ผ่านดุลยพินิจของคณาจารย์คณะครุศาสตร์ มรย. มีการลงพื้นที่เพื่อคัดกรองนักศึกษาร่วมกับ กสศ. ชุมชน และโรงเรียนปลายทางที่จะรองรับนักศึกษา มีการเตรียมเด็กตั้งแต่ก่อนเข้าเรียนในลักษณะของค่ายเตรียมก่อนเรียนครู ซึ่งถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย เป็นสิ่งแสดงให้เห็นว่าทุกฝ่ายทั้งมหาวิทยาลัย ชุมชน และโรงเรียนในพื้นที่พร้อมที่จะทำงานร่วมกัน ในการดูแลเด็ก ๆ ในชุมชนเพื่อพัฒนาให้เขาเติบโตขึ้นเป็นทรัพยากรบุคคล และจะเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยพัฒนา สร้างความเจริญให้แก่พื้นที่ของตนได้

      ในช่วงเวลา ๔ ปีของหลักสูตรครูรักษ์ถิ่น นักศึกษาที่ผ่านขั้นตอนค้นหาของแต่ละชุมชน จะได้รับการปลูกฝังความเป็นครูนักพัฒนา โดยต้องมีกิจกรรมร่วมกับชุมชนและโรงเรียนปลายทางที่น้อง ๆ จะเข้าบรรจุหลังจบการศึกษา นักศึกษาต้องสื่อสารและทำกิจกรรมกับชุมชนเพื่อรับทราบความเคลื่อนไหวตลอดเวลา โดยมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีผู้อำนวยการและครูโรงเรียนปลายทางเป็นเสมือนพี่เลี้ยง ให้คำแนะนำ ให้มองเห็นปัญหาหรือแผนงานพัฒนาชุมชนเชิงลึกที่จะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในวันข้างหน้า ทำให้รู้ว่าอะไรคือความต้องการของท้องถิ่น ในที่สุดจะสามารถค้นพบนวัตกรรมนำมาใช้พัฒนาท้องถิ่นของตนเองได้ นักศึกษาในโครงการครูรักษ์ถิ่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกคน ต่างยืนยันว่า ไม่มีความคิดที่จะย้ายออกไปสอนที่อื่น และทุกคนก็ยังมั่นใจว่า จะมีความสุขดีกับการได้สอนน้อง สอนลูก สอนหลานในชุมชนของพวกเขาเองตลอดไป

ความคิดเห็น