วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

Smart Farmer ชาวนาชุมชนบ้านละหาในวิถี New Normal

 25 มี.ค. 2564 09:47 น.    เข้าชม 1676

      พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีการปลูกยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก เนื่องจากมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ทำให้ปลูกยางพาราได้ผลผลิตออกมาคุณภาพดี ส่วนพื้นที่นาข้าวนั้นพบว่า แต่เดิมปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก เมื่อเกิดสถานการณ์ความไม่สงบขึ้นในพื้นที่ ทำให้ประชาชนบางส่วนทิ้งพื้นที่นาให้รกร้างไป จากที่เคยปลูกข้าวกินเองกลับต้องซื้อข้าวกิน จนกระทั่งมีกลุ่มเยาวคนรุ่นใหม่ในพื้นที่อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ซึ่งริเริ่มโดย มูฮำหมัด บิง แกนนำเยาวชนได้รวบรวมเพื่อน ๆ ในหมู่บ้านที่มีความคิดเดียวกัน มาร่วมกันเรียนรู้ โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาผืนนาร้างให้กลับคืนมาเป็นแหล่งผลิตอาหารให้กับคนในพื้นที่ตามแนวทางเกษตรอินทรีย์ แนวคิดของพวกเขาได้รับการสนับสนุนจากผู้นำชุมชน และหน่วยงานภาครัฐ ช่วยผลักดันความฝันของคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ให้เกิดเป็นความจริงขึ้นมา โดยจัดตั้งเป็น โรงเรียนชาวนา ชุมชนบ้านละหา

      จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่อยากจะเรียนรู้และพัฒนาผืนนาร้างให้กลับมาเขียวขจีอีกครั้ง ในวันนี้ความคิดของพวกเขาได้พัฒนาต่อยอดไปเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อื่น โรงเรียนชาวนา ชุมชนบ้านละหา ได้พัฒนา    มาเป็นศูนย์การเรียนรู้ของคนในพื้นที่ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นศูนย์รวมให้ชาวนาเข้ามาพบปะพูดคุยหรือหารือกันถึงปัญหาต่าง ๆ แล้วน้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้ในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ร่วมเรียนรู้แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านการปฏิบัติในแปลงสาธิตการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ส่งเสริมการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่มาเยี่ยมชม พร้อมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่และผู้ที่สนใจ นอกจากนี้ยังปลูกฝังให้คนในพื้นที่รักบ้านเกิดและมีความภาคภูมิใจในถิ่นที่อยู่ของตนเอง

      ผู้ที่สนใจมาเรียนรู้ที่โรงเรียนชาวนา ชุมชนบ้านละหา จะได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริงในทุ่งนา ไม่ว่าจะเป็นฐานสมุนไพรไล่แมลง ฐานปุ๋ยหมักโบกาฉิ ฐานผักสวนครัว ฐานกรีดยาง ฐานไถนา ฐานเกี่ยวข้าว-นวดข้าว โรงสีชุมชน และฐานสำรวจแมลงดีแมลงร้ายในนาข้าว ซึ่งกระบวนการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่พวกเขาออกแบบและช่วยกันคิดต่อยอดนั้น มีเป้าหมายสำคัญคือ การสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้กับพื้นที่ของตนเอง เพราะอาหารคือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ทุกคนอยู่รอด โดยพวกเขามักจะกล่าวสรุปว่า “การทำนานั้นได้มากกว่าข้าว” ซึ่งก็หมายถึงการที่ชุมชนมีความเข้มแข็ง เกิดภาคีเครือข่ายที่พร้อมจะช่วยกันแก้ไขปัญหาและฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจต่าง ๆ ไปพร้อมกันอย่างมั่นคง ยึดมั่นในความพอเพียง และทำการเกษตรที่ยั่งยืนด้วยการไม่ใช้สารเคมี เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เศรษฐกิจชุมชนยั่งยืนท่ามกลางวิถี New Normal

      ปัจจุบัน ท่ามกลางเหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่างการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นแล้วว่า อาชีพด้านเกษตรกรรมก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ หลายคนเมื่อประสบปัญหาว่างงานอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ต้องกลับมาอยู่ที่ภูมิลำเนาของตนเอง ก็อยากจะหันมาเรียนรู้การทำเกษตรแบบอินทรีย์กันมากขึ้น โรงเรียนชาวนา ชุมชนบ้านละหา จึงกลายเป็นแหล่งที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คน ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตการเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เรียกว่า Young Smart Farmer เพราะทุกคนต่างประจักษ์แล้วว่า อาชีพนี้จะทำให้พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นที่โรงเรียนชาวนา ชุมชนบ้านละหา นั้นก็เป็นวิถีการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ เพราะเป็นการเรียนรู้จากภูมิปัญญาของผู้ที่มีประสบการณ์ด้านต่าง ๆ มาถ่ายทอดผ่านการพูดคุยและลงมือปฏิบัติจริง เพื่อให้เกษตรกรรุ่นใหม่เป็น Smart Farmer ที่มีความรู้อย่างถ่องแท้เกี่ยวกับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทั้งในด้านการผลิต การแปรรูปผลผลิต และการตลาดอย่างครบวงจร

      ตลอดระยะเวลาการดำเนินการที่ยาวนานของโรงเรียนชาวนา ชุมชนบ้านละหา นอกจากนายมูฮำหมัด บิง และเพื่อน ๆ จะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลในแต่ละปีแล้ว ยังต้องต่อสู้กับความคิดและค่านิยมของคนส่วนใหญ่ที่คุ้นเคยกับการใช้สารเคมีในการทำการเกษตรที่เป็นวิธีที่สะดวกและรวดเร็ว ให้เปลี่ยนมาใช้วิธีทางธรรมชาติที่เห็นผลช้าแต่ยั่งยืนกว่า ซึ่งผลจากความร่วมมือและการผลักดันร่วมกันมาอย่างยาวนาน ทำให้ปัจจุบัน ในพื้นที่อำเภอแว้ง มีเกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จำนวนทั้งสิ้น ๖๐ ครัวเรือน รวมพื้นที่กว่า ๒๐๐ ไร่ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดคือ วิถีชีวิตการหาอยู่หากิน อยู่กับธรรมชาติของคนในชุมชนกลับคืนมาอีกครั้ง และครอบครัวจะมีอาหารไว้บริโภคตลอดทั้งปี

      และนี่คือต้นแบบของ Smart Farmer ที่บรรลุเป้าหมายในการเปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้มาเรียนรู้สร้างความเข้าใจในการทำการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่จำเป็นต้องทำนาให้ได้ข้าวปีละมาก ๆ เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการทำความเข้าใจในห่วงโซ่อาหารและระบบนิเวศน์ เข้าใจการบริหารจัดการ การลดต้นทุนและ    การเพิ่มมูลค่าผลผลิต และนั่นคือหัวใจสำคัญของการจัดการธุรกิจที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ยุค New Normal สามารถยึดการทำนาเป็นอาชีพเลี้ยงตนเองได้ มีความสุขในสังคมพหุวัฒนธรรมที่พวกเขาภาคภูมิใจ และมีความสุขตามวิถีชีวิตที่ตนเองต้องการได้อย่างยั่งยืน ไม่ว่าสภาพการณ์รอบข้างจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดก็ตาม

ผู้สนใจสามารถติดตามกิจกรรมของโรงเรียนชาวนา ชุมชนบ้านละหา ได้ที่ เฟซบุคเพจ : โรงเรียนชาวนา ชุมชนบ้านละหา

ความคิดเห็น