วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

จากโต๊ะอาหาร สู่จานสันติภาพ

 25 มี.ค. 2564 09:57 น.    เข้าชม 1405

      สงครามและความขัดแย้ง คือที่มาของความหิวโหยและความไม่มั่นคงทางอาหารได้มากพอ ๆ กับที่     ความอดอยากหิวโหยและความไม่มั่นคงทางอาหารสามารถก่อให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรง จนกลายเป็นการสู้รบรุนแรง เช่นเดียวกับการดำเนินชีวิตของคนเรา หลาย ๆ ครั้งที่เรามีปัญหากับคนรัก คนในครอบครัว หรือว่าเพื่อนฝูง แต่ปัญหาเหล่านั้นมักจบลงได้บนโต๊ะอาหาร เมื่อเราได้รับประทานอาหารร่วมกัน ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถามไถ่ความรู้สึกกันและกัน
      สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “กลุ่มลูกเหรียง” ดำเนินกิจกรรมสร้างสรรค์โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็น เด็กกำพร้า และหญิงหม้าย เป็นกลุ่มเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเชื่อมั่น และมั่นใจว่า อาหารสามารถเป็นสื่อกลางในการที่จะสร้างความเข้าใจ และสร้างความหลากหลายของวัฒนธรรมอาหารในพื้นที่ได้มากขึ้น
Local Chef’s to Peace Project สร้างสันติในชายแดนใต้ “ด้วยอาหารถิ่น”
      ทุกวันนี้ความขัดแย้งในชายแดนใต้เป็นเรื่องที่ยังเกิดขี้น หลายฝ่ายต่างช่วยกันค้นหาวิธีการยุติเรื่องราว เหล่านี้ เยาวชนภาคใต้จากกลุ่มลูกเหรียงที่ตั้งใจเปลี่ยนความขัดแย้งให้กลายเป็นความสงบ นั่นคือความตั้งใจของทีม Local Chef’s to Peace Project ซึ่งประกอบไปด้วย พัดลี โตะเดร์อารฟา บือราแงอิสกันดาร์ กูโน และ  ตัรมีซี อนันต์สัย แชมป์จากการแข่งขันโครงการ Youth Co : Lab Thailand 2019 ภายใต้โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (United Nations Development Programme : UNDP) ร่วมกับมูลนิธิซิตี้ แอร์เอเชีย และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ จัดโครงการ  Youth Co:Lab Thailand 2019 ครั้งที่ 3 โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนานวัตกรรมสังคมและทักษะการเป็นผู้ประกอบการให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ โดยการประกวดในครั้งนี้ จะเป็นการนำเสนอไอเดียภายใต้แนวคิด “เคารพความแตกต่าง เปิดรับความหลากหลาย” พื้นที่สนทนาและพัฒนาเยาวชนเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมทางสังคมในประเทศไทยอย่างยั่งยืน โดยจะมีทีมเยาวชนจากทั่วทั้งภูมิภาคของประเทศจำนวน ๑๐ ทีม ที่ผ่านการคัดเลือกและได้เข้าร่วมเวิร์กชอปเพื่อพัฒนาศักยภาพ พร้อมนำเสนอแนวคิดนวัตกรรมสังคมเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างสันติภาพในประเทศบนเวที โดยประเด็นครอบคลุมถึงด้านความหลากหลายทางความเชื่อ ศาสนา และวัฒนธรรม ความหลากหลายทางเพศ การเข้าถึงกฎหมายอย่างทั่วถึง และยุติธรรม การศึกษา สัญชาติ ผู้พิการ ฯลฯ ที่ได้หยิบรสอร่อยของอาหารถิ่นมาสร้างสันติให้ “ไทยพุทธ มุสลิม และไทยจีน” ในชายแดนใต้ มองเห็นถึงปัญหาของคนในพื้นที่ ที่เกิดจากความไม่เข้าใจกันในหลากหลายมิติ ทั้งในเรื่องของความหลากหลายทางสังคม ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความหลากหลายทางวัฒนธรรมอาหารการกิน รวมไปถึงการเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ เราจึงคิดวิธีการแก้ปัญหาต่าง ๆ จนกลายมาเป็นโครงการที่ชื่อว่า ‘Local Chef’s to Peace Project
“ขนมอาซูรอ” เชื่อมความสัมพันธ์ เพื่อลดความหลากหลาย

ขนมอาซูรอ

      พวกเขาจึงนำประเด็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมการกินอาหาร จากหลากหลายศาสนามารวมกันอยู่ในจานเดียวกัน นำรสอร่อยของอาหารถิ่น มาสร้างสันติให้ ‘ไทยพุทธ มุสลิม และไทยจีน’ ในชายแดนใต้ โดยเลือก ‘ขนมอาซูรอ’ ที่จากการนำอาหารหลายอย่างมารวมกัน แล้วกวนให้เป็นเนื้อเดียวคล้ายขนมเปียกปูน ซึ่งจะมีประเพณีการกวนขนมอาซูรออยู่ โดยเริ่มจากเจ้าภาพประกาศเชิญชวนชาวบ้านว่าจะมีการกวนขนม เมื่อถึงวันนัดหมาย ชาวบ้านจะนำเครื่องปรุงขนมมารวมกันและช่วยกันกวน กลายเป็นความสามัคคีของคนในชุมชน การใช้อาหารอาจจะไม่ได้ลดความขัดแย้งไปทั้งหมด แต่อย่างน้อยอาหารที่เรานำเสนอก็จะเป็นตัวเชื่อมให้คนที่มาจากหลากหลายถิ่น เข้ามาอยู่ร่วมกันและเกิดการสนทนาพูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้
ครัวกำปง สู่เชฟเทเบิล 

      การค้นหา และคงไว้ซึ่งคุณค่าอาหารพื้นบ้านภาคใต้ ที่ล้วนถูกบ่มเพาะมาจากวิถีชีวิตในชุมชน ผ่านการเรียนรู้การทำอาหารจากเชฟมืออาชีพ ทั้งจากในพื้นที่ชายแดนใต้และเชฟจากภายนอก ในโครงการ “การพัฒนาเยาวชนบ้านบาโงยซิแน สู่การเป็นเชฟเทเบิล” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ครัวกำปงสู่เชฟเทเบิล ซึ่งสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ริเริ่มกิจกรรมนี้ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ภายใต้โครงการสนับสนุนพื้นที่สันติสุขขนาดเล็กของเครือข่ายภาคประชาสังคม เอกชนและภาครัฐ โดยหวังว่ากระบวนการมีส่วนร่วมในการสร้างพื้นที่สันติสุข โครงการนี้จะเป็นอีกเครื่องมือในการสร้างความมั่นคงทางอาชีพให้กับเด็กและเยาวชน และรุ่นพี่กลุ่มลูกเหรียงที่ได้รับความสำเร็จในระดับภูมิภาคก็ได้ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์แก่น้อง ๆ ในพื้นที่ด้วย

      ครัวกำปงสู่เชฟเทเบิล ได้ถูกรังสรรค์โดยเด็กและเยาวชนในชุมชนบ้านบาโงยซิแน อ.ยะหา จ.ยะลา      สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง) ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ริเริ่มกิจกรรมนี้ และหวังว่ากระบวนการมีส่วนร่ามในการสร้างพื้นที่สันติสุข โครงการนี้เป็นอีกเครื่องมือในการสร้างความมั่นคงทางอาชีพในมิติเด็กและเยาวชนให้มีความยั่งยืน โครงการมีเป้าหมายในการพัฒนาเด็กและเยาวชน ที่มีฐานะยากจนและขาดโอกาสทางการศึกษา จำนวน ๑๘ คน จากพื้นที่ กลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีความสนใจด้านการทำอาหาร เน้นความหลากหลาย เน้นการพัฒนาทักษะและความเข้าใจกระบวนการประกอบอาหาร และที่สำคัญอย่างยิ่งคือการคงไว้ซึ่งคุณค่าของวัตถุดิบในชุมชน เด็กและเยาวชนต้องผ่านการฝึกอบรมโดยวิทยากรจากส่วนกลางและจากครัวลูกเหรียง ตลอดระยะเวลาการอบรมเป็นเวลา ๓ เดือน ตั้งแต่กระบวนการทำความรู้จักวัตถุดิบในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นละแซ โรตีบากา ซุปเป็ด ไก่กอและ แกงมัสมั่น และวัตถุดิบที่เขาคุ้นเคยไม่ว่าจะเป็นผักพื้นบ้าน ดอกดาหลา สะตอ น้ำตาลโตนด กล้วยน้ำว้า กล้วยหิน ข้าวหอมพื้นเมือง น้ำบูดูหรือปลากุเลาเค็มที่ขึ้นชื่อ ก็จะถูกนำมารังสรรค์เป็นเมนูใหม่อย่างน้อย ๑๐ เมนูที่พร้อมขึ้นโต๊ะ chef’s table จนถึงการประกอบอาหารจาก การรังสรรค์เมนูต่าง ๆ เพื่อสร้างเมนูใหม่ รวมถึงเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นการคงไว้ซึ่งรากเหง้าของอาหารท้องถิ่นที่ล้วนบ่มเพาะมาจากวิถีชีวิตในชุมชน เมื่อจบโครงการพวกเขาทั้ง ๑๘ คนจะเข้าถึงโอกาสในการมีงานทำ หรือสามารถเป็นผู้ประกอบการเองในอนาคต
      เมื่อโครงการสิ้นสุดลง เยาวชนทั้ง ๑๘ คน จะนำเสนอเมนูอาหารมื้อพิเศษจากชุมชน ให้กับผู้ประกอบการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ที่สนใจได้ทดลองชิมเมนูอาหาร และสนับสนุนต่อยอด

      โดยโครงการนี้ได้จัดขึ้น ๓ ครั้ง ในช่วงเดือนมกราคม ๒๕๖๔ ทั้งในชุมชนบาโงยซิแน ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้นำในท้องที่ ท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนกลุ่มต่าง ๆ ได้ร่วมรับประทานอาหารพร้อมให้คำแนะนำ   ติชม ครั้งที่ ๒ ได้เชิญผู้บริหาร ศอ.บต. ตัวแทนผู้ประกอบการ และองค์กรภาคประชาสังคมได้มาร่วมรับประทาน และให้กำลังใจ สำหรับการจัดเมนูอาหารในกิจกรรมนี้ น้อง ๆ ได้รังสรรค์เมนู ได้แก่ สลัดผักพื้นบ้าน ทานกับน้ำสลัดปลากุเลา, โรตีบากาบาโงยซิแน ทานกับแกงมัสมั่นไก่, ละแซ น้ำยาปูใบชะพลู, ซุปเป็ด, กุ้งย่างซอสกะปิ อีกทั้งได้จัดเมนูเครื่องดื่มเป็น พั้นซ์ดาหลา, ตาลโตนดอิตาเลี่ยนโซดา และตามด้วยเมนูของหวาน คือ กล้วยหินบวชชี และกล้วยหินปิ้งซอสคาราเมล ซึ่งเป็นการนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาปรับใช้ บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของพื้นที่ในการจัดอาหารในครั้งนี้  ครั้งที่ ๓ เชิญผู้ประกอบการ นักธุรกิจกว่า ๔๕ คน ร่วมรับประทานอาหาร พูดคุย แนะนำและต่อยอด ผลการดำเนินการโครงการนี้ น้อง ๆ ได้แนวคิด เพื่อที่จะนำไปพัฒนา ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้กับน้อง ๆ และยังเป็นการพัฒนาสู่ครัวในชุมชนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป  

ความคิดเห็น