วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2567

พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนรู้คัมภีร์อัลกุรอาน

 25 มี.ค. 2564 10:02 น.    เข้าชม 6786

      คัมภีร์อัลกุรอาน หรือ อัล-กุรอาน (Al-Quran) บ้างเรียก โกหร่าน หรือ โก้หร่าน เป็นคัมภีร์ในศาสนาอิสลาม ชาวมุสลิมเชื่อว่าเป็นพระวจนะของอัลลอฮ์ที่ประทานผ่านทางเทวทูตญิบรีล มาสู่นบีมุฮัมมัด คำว่า กุรอาน มาจากรากศัพท์ในภาษาอาหรับแปลว่า การอ่าน หรือ อาขยาน ที่พระเจ้าประทานให้กับศาสนทูตมูฮัมหมัด เพื่อเป็นทางนำในการดำเนินชีวิตของชาวมุสลิมผู้ศรัทธาเมื่อ ๑,๔๐๐ กว่าปีก่อน อัลกุรอานจึงมีความสำคัญต่อชีวิตของชาวมุสลิมนับตั้งแต่อดีตกระทั่งปัจจุบัน ลักษณะพิเศษของอัลกุรอานประการหนึ่งคือ เป็นคัมภีร์ที่อมตะ ยังคงเนื้อหาเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ และถึงแม้อัลกุรอานจะเขียนเป็นภาษาอาหรับ แต่ชาวมุสลิมทุกชาติทุกภาษาล้วนต้องศึกษาและอ่านให้ได้ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ได้มีสถานที่สำคัญแห่งหนึ่ง     เป็นแหล่งเก็บรวบรวมและอนุรักษ์ดูแลรักษาคัมภีร์อัลกุรอานโบราณอันล้ำค่า ที่มีที่มาจากแหล่งต่าง ๆ ไว้ทั่วโลก นั่นคือ พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนคัมภีร์รู้อัลกุรอาน ตั้งอยู่ที่ โรงเรียนสมานมิตรวิทยา   ชุมชนบ้านศาลาลูกไก่ ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่รวบรวมมรดกทางวัฒนธรรมของโลก

      พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนรู้คัมภีร์อัลกุรอาน ตั้งอยู่ในพื้นที่ห้องเรียนชั้นล่างของโรงเรียนสมานมิตรวิทยา จัดแสดงแบบเรียบง่ายในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่            ปี พ.ศ. ๒๕๕๓ โดยมีการรวบรวมประเภทคัมภีร์อัลกุรอาน โบราณที่คัดด้วยลายมือที่เป็นมรดกทางศิลปวัฒธรรมอิสลาม    ที่ตกทอดมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
      พิพิธภัณฑ์นี้ก่อตั้งโดยการนำของโต๊ะครู มาหะมะลุตฟี หะยีลาแม ผู้บริหารสถานศึกษาสอนศาสนาอิสลามโรงเรียนสมานมิตรวิทยาและคณะครูโรงเรียนสมานมิตร ทำการรวบรวมประเภทคัมภีร์อัลกุรอานโบราณ    ที่เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอิสลามที่ตกทอดมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเริ่มแรกรวบรวมไว้จำนวน ๑๓ เล่ม จากคัมภีร์ที่เป็นสมบัติของโรงเรียนเองและจากสุเหร่าเก่าแก่ในชุมชน จากนั้นก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยทางพิพิธภัณฑ์ได้รวบรวมคัมภีร์อัลกุรอาน จำนวน ๗๙ เล่ม เนื่องจากมีชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ทยอยนำมามอบให้ นอกจากนี้ยังมีชาวต่างชาติในแถบประเทศอาเซียนนำมามอบให้อีกด้วย พร้อมเอกสารโบราณที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตมุสลิม ที่ได้จากทั่วมุมโลก เช่น อิยิปต์ อินโดนีเซีย เป็นต้น และได้จาก        ชาวมุสลิมที่เดินทางไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ รวมถึงชาวมุสลิมที่เคยติดต่อกับประเทศไทยในอดีต ผ่านการซ่อมแซมและการดูแลรักษาอย่างดี จากทั้งผู้เชี่ยวชาญในประเทศและต่างประเทศ (โดนเฉพาะประเทศตุรกี ได้ช่วยบูรณะเคลือบสารพิเศษเพื่อเป็นหลักฐานโบราณคดีโลกอิสลาม) ปัจจุบันคัมภีร์ดังกล่าวมีอายุตั้งแต่ ๑๕๐ ปี ถึง ๑,๑๐๐ ปี มีลวดลายที่สวยงามมาก โดยใช้สีประดับกรอบด้วยทองคำเปลวเขียนด้วยศิลปะมลายูนูซันตาราจีนและอาหรับผสมผสานกันแสดงถึงความหลากหลายในพื้นที่

      คัมภีร์อัลกุรอานที่เก็บรักษาไว้ที่นี่นั้น มีที่มาจากทั่วโลก พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขนาดเล็กของโรงเรียนชายแดนใต้แห่งนี้ จึงเปรียบเสมือนแผนที่ทางวัฒนธรรมที่พาผู้ชมย้อนเวลาไปยังอาณาจักรต่าง ๆ ในโลกมุสลิม ไกลที่สุดคือย้อนกลับไปเมื่อพันกว่าปีที่แล้ว ผ่านคัมภีร์อัลกุรอานที่ได้มาจากประเทศอิหร่าน ตระการตาไปกับความงดงามของคัมภีร์โบราณจากรูสะมีแล จังหวัดปัตตานี อายุกว่า ๓๐๐ ปี ที่ได้รับคัดเลือกจากสถาบันหอสมุดสุไลมานียะห์ ประเทศตุรกี ให้เป็นคัมภีร์ที่มีความสวยงามที่สุดในประเทศโลกมุสลิม เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๙ นอกจากนี้ ยังมี           อัลกุรอานจากประเทศจีน ที่โดดเด่นด้วยปกหนังและผ้าไหม มีการเขียนลวดลายมลายูรูปดอกชบา หรือบุหงารายาส่วนอัลกุรอานสมัยอาณาจักรโมกุล ในประเทศอินเดีย ที่ปกทำด้วยหนังสัตว์ ๆ ส่วนกระดาษทำด้วยเปลือกไม้ แม้จะเป็นตัวอักษรชนิดเดียวกันคืออักษรอาหรับ แต่ก็มีรายละเอียดที่แตกต่างสะท้อนอัตลักษณ์ของแต่ละวัฒนธรรม รวมถึงมีอุปกรณ์สาธิตเกี่ยวกับการบูรณะซ่อมแซมคัมภีร์อัลกุรอาน ส่วนห้องเก็บเอกสารโบราณ จัดแสดงเอกสารตำราโบราณต่าง ๆ อาทิเอกสารภาษาศาสตร์ เอกสารทางศาสนา วรรณคดี ศิลปะ ขนบธรรมเนียมประเพณี กฎหมายเวชศาสตร์ นอกจากนี้ในห้องเก็บเอกสารโบราณยังมีการจัดแสดงภาพเขียนโบราณ เรือกอและจำลอง และภาพแสดงการทำเรือกอและ ภาพบุคคลสำคัญในศาสนาอิสลามรวามถึงหุ่นจำลองของมัสยิด ๓๐๐ ปี (มัสยิดวาดีอัลฮูเซ็น หรือมัสยิดตะโละมาเนาะ) อันสวยที่ตั้งอยู่กลางห้อง

ก้าวสู่พิพิธภัณฑ์ระดับสากล


      กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้เล็งเห็นความสำคัญของคัมภีร์และเอกสารโบราณ และความมุ่งมั่นในการดำเนินงานของชุมชนท้องถิ่น จึงได้เข้ามาต่อยอดในการดำเนินการขึ้นทะเบียนคัมภีร์และเอกสารโบราณ    เข้ามาช่วยทางโรงเรียนในการดำเนินการเก็บรักษา บูรณะ ซ่อมแซม ตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง นอกจากนี้       ทางภาครัฐยังได้อนุมัติงบประมาณให้กรมศิลปากร ดำเนินการจัดสร้าง “พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนรู้อัลกุรอาน” ขึ้นใหม่ ณ บริเวณด้านหน้าโรงเรียนสมานมิตรวิทยา โดยทางกรมศิลปากรได้ดำเนินการตามแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เริ่มจากการจัดการประชุมสัมมนา    การเสริมสร้างองค์ความรู้ เเละระดมเเนวคิดในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามเเละศูนย์การเรียนรู้อัลกุรอาน ในพื้นที่จังหวัดชายเเดนภาคใต้ขึ้น และเริ่มดำเนินการออกแบบเพื่อก่อสร้างอาคาร                ในปีงบประมาณ ๒๕๕๗ และเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี ๒๕๕๙ ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งงานก่อสร้างในส่วนของอาคารสถานที่ได้แล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างการดำเนินงานจัดแสดงนิทรรศการภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ ซึ่งกำลังเร่งการดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จในปีงบประมาณ ๒๕๖๕

      ภายในอาคาร พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนรู้อัลกุรอาน ได้กำหนดการจัดแสดงนิทรรศการ ประกอบด้วย ห้องที่ ๑ ห้องบรรยายเกริ่นนำ ห้องที่ ๒ วิถีมุสลิม แสดงเนื้อหาเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของชาวมุสลิมตามแนวทางที่ศาสนาอิสลามบัญญัติไว้ โดยนำเสนอวิถีชีวิตและประเพณีสำคัญของพี่น้องมุสลิมที่ปรากฏแพร่หลายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้เป็นหลัก วิธีคิดและหลักปฏิบัติตนของมุสลิม แนะนำสถานที่สำคัญ สถานที่น่าสนใจเกี่ยวเนื่องกับมุสลิมในจังหวัดนราธิวาส เนื้อหาเทิดพระเกียรติรัชกาลที่ ๙ เนื้อหาเทิดพระเกียรติรัชกาลที่ ๑๐ และ ห้องที่ ๓ คัมภีร์อัลกุรอาน จัดแสดงเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม เส้นทางการเผยแผ่ศาสนาอิสลามสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย คัมภีร์อัลกุรอานธรรมนูญสำหรับชีวิต โดยคัดเลือกคัมภีร์อัลกุรอานจัดแสดงเป็นชิ้นหลักและชิ้นรอง โดยเนื้อหาประกอบการจัดแสดง จะมีการจัดทำเป็น ๓ ภาษา คือ ไทย อังกฤษ และภาษามลายูปาตานี

       ในเวลาอีกไม่นาน พิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมอิสลามและศูนย์การเรียนรู้อัลกุรอานแห่งนี้ จะเป็นแหล่งเรียนรู้ทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ ในการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับคัมภีร์อัลกุรอาน และมรดกวัฒนธรรมอิสลาม และเสริมสร้างจิตสำนึกให้คนในท้องที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เห็นคุณค่าความสำคัญ เกิดความรู้สึกรัก หวงแหน ภาคภูมิใจในมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอิสลามที่มีอยู่ในท้องถิ่นของตน รวมทั้งทำให้เกิดผลดีทางด้านเศรษฐกิจและสังคม จากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมโดยนักท่องเที่ยวจากทั้งในประเทศและทั่วโลก สอดคล้องกับนโยบายชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ซึ่งจะช่วยส่งเสริมอาชีพและรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ สร้างเศรษฐกิจชุมชนที่เข้มแข็งได้อย่างยั่นยืนต่อไป
      สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการของพิพิธภัณฑ์ได้ที่ เฟซบุคเพจ บ้านศาลาลูกไก่ พิพิธภัณฑ์ศูนย์การเรียนรู้คัมภีร์อัลกรุอาน

ความคิดเห็น