วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2567

แว้งที่รัก วันวานของเด็กไทยพุทธท่ามกลางผองเพื่อนมุสลิม

 2 ก.ค. 2564 13:33 น.    เข้าชม 8759

      ข่าวความไม่สงบของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ชื่อของอำเภอแว้ง อำเภอชายแดนของจังหวัดนราธิวาสปรากฏขึ้นตามสื่อต่าง ๆ เนื่องจากเหตุการณ์ลอบวางระเบิดในหลายพื้นที่ที่เกิดขึ้น ทั้งหน้าที่ว่าการอำเภอ บริษัทเอกชน ถนน และบ้านพักข้าราชการ ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นทำให้ชาวแว้งต้องอยู่อย่างหวาดระแวง ทั้ง ๆ ที่ในอดีตแว้งเป็นที่รวมของบุคคลคนหลายเชื้อชาติ ทั้งคนจีน ไทยพุทธ ไทยมุสลิมที่อยู่ร่วมกันมายาวนานอย่างสันติ และหากเราต้องการจะจินตนาการถึงภาพความสันติสุขของอำเภอแว้ง ในวันวานได้อย่างชัดเจน ขอแนะนำให้ทุกท่านได้อ่าน “แว้งที่รัก” ผลงานของ ดร.ขวัญดี อัตวาวุฒิชัย หรือ นามปากกา ชบาบาน
      ดร.ขวัญดี อัตวาวุฒิชัย ผู้เขียน “แว้งที่รัก” ได้ใช้ชีวิตในวัยเยาว์ที่ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส โดยบิดาได้ลาออกจากราชการ พาครอบครัวไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่อำเภอนี้ จึงมีโอกาสเรียนรู้ชีวิตชนบทที่นั่น มีเพื่อนสนิทเป็นเด็กไทยมุสลิมเกือบทั้งหมด เรื่องเล่าสนุก ๆ ของเด็ก ๆ ทั้งหมดใน “แว้งที่รัก” จึงเรียงร้อยออกมาจากชีวิตจริงของผู้เขียนเอง โดยนำเสนอในรูปแบบ “วรรณกรรมเยาวชน” แต่มีเนื้อหาสาระเข้าข่ายงานสารคดีสะท้อนประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่น บอกเล่าการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข สันติ ความผูกพันระหว่างเพื่อนมนุษย์ โดยไม่มีปัญหาเรื่องความเชื่อทางศาสนามาเป็นอุปสรรคขัดขวาง ด้วยลีลาการเขียนคล้ายงานของนักเขียนเชิงสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา แต่ให้ความผ่อนคลายคล้ายเรื่องแต่ง มีความเพลิดเพลินในการอ่าน บอกเล่าเรื่องราวของคนไทยในจังหวัดชายแดนใต้ ได้อย่างมีอรรถรส ชวนติดตาม จุดประกายความคิด และพัฒนาจิตสำนึกเชิงสมานฉันท์ ซึ่งมีความสำคัญยิ่งในสภาพสังคมไทยปัจจุบัน
แว้งที่รัก ของ น้อย

      ทุกอย่างเกี่ยวกับแว้งยังกระจ่างอยู่ในความรู้สึก เป็นความทรงจำที่สดใสของ ดร.ขวัญดี ท่านยืนยันว่าผู้คนในเรื่องมีตัวตนจริงทั้งสิ้น และเรื่องทั้งหมดของ “แว้งที่รัก” ถูกเล่าผ่านสายตาของ “น้อย” เด็กหญิงไทยพุทธที่เติบโตขึ้นท่ามกลางวัฒนธรรมอิสลาม อยู่ในชุมชนที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ดั้งเดิมพ่อแม่ของน้อยเป็นชาวสงขลา และย้ายถิ่นฐานมาสร้างฐานะที่อำเภอแว้ง พ่อทำงานเป็นสมุห์บัญชี ส่วนแม่ก็เปิดร้านค้าอยู่กับบ้านขายผัก ปลา สมุนไพร เครื่องเทศ และหมากพลู น้อยมีพี่สาวหนึ่งคน คือ พี่แมะ และมีเพื่อนสนิทบ้านใกล้เรือนเคียง เป็นเด็กชายชาวมุสลิมชื่อว่า มามุ และมิตรสหายในชุมชนอีกมากมายหลายเชื้อชาติไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่
      เรื่องราวในหนังสือมีทั้งหมด 16 ตอน มีทั้งเรื่องเล่าเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของคนชนบทภาคใต้ตอนล่าง แต่เป็นช่วงเวลาเมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น การกรีดยาง เก็บยาง การตากยาง ได้รู้จักอาหารพื้นบ้าน ประเพณีการถือศีลอดและเทศกาลฮารีรายอ ความผูกพันของครอบครัวและเพื่อนบ้านต่างศาสนาในชุมชน การอยู่ร่วมกันของเด็กไทยพุทธและมุสลิมไม่ว่าจะในชุมชนหรือการไปโรงเรียนเดียวกัน ไปจนถึงประวัติศาสตร์ของอำเภอแว้ง ฉายภาพบรรยากาศของความสมานฉันท์และสันติสุขในการอยู่ร่วมกันของคนไทย 3 เชื้อชาติในอำเภอแว้ง ได้อย่างมีชีวิตชีวาที่สุด ดังตัวอย่างตอนหนึ่งในหน้า 75 และ 78 ตอนที่ชื่อว่า ดอกเหงื่อ

      “คนไทย 3 เชื้อชาติในอำเภอแว้งยึดอาชีพหลักต่างกัน 3 อย่างคือ ทำสวนยาง รับราชการและค้าขายก็จริง แต่ยังมีการไขว้อาชีพดังกล่าวตามความถนัดของแต่ละคนด้วยเหมือนกัน ซึ่งเป็นการดีเพราะทำให้แว้งที่รักของน้อยไม่ขาดอะไรเลย เช่น อาชีพขายอาหารเมื่อใดคนแว้งอยากจะรับประทานจากจาโก๊ย (ปาท่องโก๋) ตอนเช้ามืดก็มี แป๊ะหนวดทอดขาย หรืออยากรับประทานนาซิกราบู (ข้าวยำ) ซาแร (สาหร่ายยำ) หรือนาซิลึโมะ (ข้าวมัน)    ก็ไปหาซื้อในตลาดแม่ค้ามุสลิมเขาขายออกเยอะไป บางวันจะได้กลิ่น อะแยปึจึ๊หรือไก่ย่างคีบไม้ตับพรมหัวกะทิผสมเครื่องแกงแบบมลายูของ เมาะซูแย (น้าแย) ที่อร่อยที่สุดในโลก ลอยข้ามคลองมาชวนให้น้ำลายสอล่วงหน้า ตอนบ่ายเมียตำรวจบางคนที่ขยันหาลำไพ่ก็จะหาบขนมไทยไม่ซ้ำชนิดมาขายถึงบ้านทุกวัน ไม่มีอะไรเร่งรีบที่นี่ แป๊ะหนวด แม่ค้าในตลาด และเมียตำรวจขายของพลาง คุยกันไปพลางอย่างรื่นรมย์ ของก็ขายหมดทุกวันนั่นแหละไม่เห็นต้องแก่งแย่งทะเลาะวิวาทกันเลยใครอยากมีเงินมากก็ขยันให้มากหน่อยเท่านั้นเอง”
หนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับเยาวชน

      “แว้งที่รัก” ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 100 หนังสือดีเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน ประจำปี 2555 โดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และโครงการคัดสรร 100 หนังสือดีเพื่อเด็กและเยาวชนปี 2560 โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม อีกทั้งยังเป็นหนังสือ 1 ใน 44 เล่มที่ได้รับเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลา สาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมความสามารถในการอ่าน และช่วยสร้างบรรยากาศสิ่งแวดล้อมในการส่งเสริมการอ่านแก่นักเรียน ตลอดจนปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้แก่เด็กและเยาวชน     
      เรื่องราวชีวิตของกลุ่มหนูน้อยที่ถูกถ่ายทอดจากชีวิตผู้เขียนเองได้อย่างมีชีวิตชีวา เข้าถึงจิตใจของเด็กที่ได้อ่านไปพร้อมกับจินตนาการ รับรู้ถึงความสวยงามของความแตกต่างของผู้คน ความแตกต่างของสังคมสิ่งแวดล้อม ความแตกต่างของวัฒนธรรม หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะอย่างมากที่จะเป็นแบบเรียนให้เด็กได้อ่าน ได้แสดงความเห็นร่วมกันในห้องเรียนกับครู กับเพื่อน ขยายผลไปสู่การเรียนรู้ที่หลากหลายอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ที่สำคัญคือเด็ก ๆ จะได้รับรู้ว่าสังคมไทยนั้นมีทุนสังคมที่มีคุณค่ายิ่ง ที่ทำให้คนไทยรู้จักการใช้ชีวิตร่วมกันในท่ามกลางความแตกต่างทางชาติพันธุ์และศาสนาได้อย่างมีความสุข

ความคิดเห็น