วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2567

“ปลาออร์แกนิก” เชื่อมโยงประมงพื้นบ้าน สู่เส้นทางอาหารที่เกื้อกูล

 2 ก.ค. 2564 13:53 น.    เข้าชม 4411

      ว่ากันว่าทุกวันนี้กินอะไรก็ไม่ปลอดภัย เนื้อหมูเนื้อวัวก็มีสารเร่งเนื้อแดง ในเนื้อไก่ก็มีฮอร์โมนเร่งโต ในผักผลไม้ก็มีสารเคมี สารกำจัดศัตรูพืช อาหารทะเลก็พบการปนเปื้อนสารฟอร์มาลีน ผลร้ายทุกประการล้วนตกมาอยู่กับผู้บริโภค คนที่กินปลาไม่สามารถรู้ได้เลยว่าปลามาจากไหน ปนเปื้อนอะไรมาบ้างหรือเปล่า ส่วนผู้ผลิตก็ประสบปัญหาการควบคุมราคาโดยพ่อค้าคนกลาง วิถีการผลิตแบบประมงพื้นบ้านได้รับผลกระทบจากการที่เรือประมงพานิชย์ใช้อวนรุนอวนลากจับปลาแบบเหมารวมจนปลาเล็กปลาน้อย ไม่มีโอกาสโต ระบบนิเวศน์ทางทะเลเสื่อมโทรม สัตว์น้ำทะเลลดลงทุกวัน ในท่ามกลางสภาวการณ์เช่นนี้ มีร้านขายอาหารทะเลเล็ก ๆ ร้านหนึ่ง มุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหานี้ นั่นก็คือ ร้านปลาออร์แกนิก
ประมงพื้นบ้าน มาตรฐานสากล
      ทุก ๆ สัปดาห์ ร้านปลาออร์แกนิก จะคัดสรรอาหารทะเลออร์แกนิกจากระบบประมงอินทรีย์ ไม่ว่าจะเป็น  ปูม้าจากสตูล กุ้งแชบ๊วยจากอ่าวพังงา ปลาเก๋าจากกระบี่  และหมึกกล้วยจากปัตตานี นี่เป็นตัวอย่างเล็กน้อยของอาหารทะเลออร์แกนิกที่เดินทางเกือบพันกิโลเมตรมาถึงซอยวิภาวดี 22 กรุงเทพมหานคร ที่ตั้งของร้านปลาออร์แกนิก นอกจากสัตว์น้ำทะเลสด ๆ หลากชนิด แล้วยังมีอาหารทะเลแปรรูป อาทิเช่น ปลาแห้ง ปลาเค็ม ปลาหวาน กะปิ กุ้งแห้ง ข้าวเกรียบปลา อาหารทะเลนึ่ง รวมทั้งสินค้าเด่น ย้อนกลับไปจนถึงจุดเริ่มต้นของกระบวนการผลิต  และมีตรารับรอง มกท. จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ คือ ปลากุเลาเค็ม ราชาแห่งปลาเค็มจากปัตตานี ซึ่งสินค้าทุกชนิดจะระบุหมายเลขล็อตผลิต แหล่งผลิต สามารถตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ไปจนถึงที่มาของวัตถุดิบได้
      ร้านปลาออร์แกนิก จึงถือกำเนิดขึ้นในปี 2556 โดยเริ่มต้นจากรูปแบบ “โครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำอินทรีย์” โดยมูลนิธิสายใยแผ่นดิน และในปี 2558 ได้เริ่มขอรับรองมาตรฐานสินค้าประมงอินทรีย์ การจับสัตว์น้ำจากแหล่งธรรมชาติ จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) ซึ่งเป็นหน่วยตรวจรับรองที่ได้รับการยอมรับมาตรฐานและการตรวจรับรองทั้งจากองค์กรในประเทศและต่างประเทศ โดยมีเกณฑ์การรับรอง คือ ต้องเป็นสัตว์น้ำที่จับจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่มีความปลอดภัยต่อมลพิษที่เกิดจากอุตสาหกรรม การเกษตร หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิด

      มลภาวะทางทะเล, สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าใครเป็นผู้จับ และระบุแหล่งทำการประมงได้, ต้องไม่มีการใช้สารเคมีทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นในขณะทำประมง การดูแลสัตว์น้ำหลังการจับ และการขนส่งจนถึงมือผู้บริโภค และที่สำคัญต้องมาจากการทำประมงด้วยวิธีที่รับผิดชอบ  ต่อธรรมชาติ และสภาพแวดล้อม เช่น การจับสัตว์น้ำด้วยอวนตาใหญ่ ไม่จับสัตว์น้ำวัยอ่อน หรือสัตว์น้ำที่มีไข่นอกเปลือกหรือกระดอง เป็นต้น
สร้างเส้นทางอาหารที่เกื้อกูล

      โครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำอินทรีย์ ดำเนินงานภายใต้วัตถุประสงค์หลัก เพื่อส่งเสริมคุณค่าของชาวประมงพื้นบ้านให้เป็นที่รู้จักในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นการผลิตอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย ด้วยการทำประมงอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีบทบาทที่สำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งให้เกิดความยั่งยืนมีใช้ไปถึงลูกหลาน และเพื่อเชิญชวนสาธารณชนที่เป็นทั้งผู้บริโภคอาหารทะเลและผู้ที่ชอบท่องเที่ยวทางทะเลให้มีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน โดยปัจจุบัน โครงการฯ ได้ต่อยอดสู่การจดทะเบียนเป็นบริษัท ปลาออร์แกนิกวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด หรือ ร้านปลาออร์แกนิก โดยมีเจ้าของ 90 เปอร์เซ็นต์เป็นชาวประมงจาก 7 พื้นที่ ในจังหวัดเพชรบุรี สงขลา พัทลุง ปัตตานี พังงา กระบี่ และสตูล รวมตัวกันใช้ชื่อว่าเครือข่ายรักษ์ปลา-รักษ์ทะเล และดำเนินการร่วมกับมูลนิธิสายใยแผ่นดิน

 

 

      บริษัท ปลาออร์แกนิกวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด หรือ ร้านปลาออร์แกนิก มีหลักการสำคัญในการทำธุรกิจอยู่ 4 ข้อ ข้อแรกก็คือชาวบ้านจะต้องเป็นเจ้าของโดยส่วนใหญ่ ข้อสองคือ ทางบริษัทต้องการสื่อสารให้สาธารณชนเข้าใจถึงวิถีประมงแบบพื้นบ้านและการใช้ทรัพยากรที่ยั่งยืน ข้อสามคือ เน้นขายอาหารทะเลที่ปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค และข้อสุดท้ายคือ ใช้ระบบที่เป็นธรรมแก่ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยโมเดลธุรกิจของร้านปลาออร์แกนิกไม่มีอะไรซับซ้อน แค่ยึดจุดประสงค์ให้ชาวบ้านมีกำไรมากขึ้น อธิบายได้ง่าย ๆ ว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์ ของราคาขายจะถูกแบ่งให้ชาวประมงเจ้าของปลาและกองกลางชุมชน สมทบเป็นกองทุนสวัสดิการ กองทุนฟื้นฟู ผลตอบแทน การปันผลให้กับสมาชิกกลุ่ม เป็นเงินไว้พัฒนาชุมชนและการศึกษาของเด็ก ๆ ในภายภาคหน้าต่อไป
      หากท่านใด สนใจอยากพรีออร์เดอร์อาหารทะเลดี ๆ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ เครือข่ายรักษ์ปลา-รักษ์ทะเล ทางร้านปลาออร์แกนิกจะประสานกับ 7 พื้นที่ว่าช่วงฤดูกาลนี้มีสินค้าอะไรบ้าง แล้วเอาข้อมูลประกาศลงไปในเฟซบุ๊กแฟนเพจ โดยทุกวันจันทร์-พุธ จะเป็นช่วงเวลาที่ทางร้านจะเปิดโอกาสให้ลูกค้าพรีออร์เดอร์อาหารทะเล ซึ่งจะเดินทางมาถึงในวันศุกร์เช้าโดยรถทัวร์ ให้ลูกค้ามารับได้ที่ร้านปลาออร์แกนิกหรือจัดส่งถึงบ้านโดยช่องทางขนส่งเอกชนช่องทางต่าง ๆ ตามความสะดวกของลูกค้า
ความภูมิใจของประมงพื้นบ้านปัตตานี

      ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2535 เป็นช่วงเวลาแห่งความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวปัตตานี เนื่องจากปัญหาการทำประมงโดยใช้อวนรุน อวนลากโดยประมงพาณิชย์ ทำให้ชาวประมงพื้นบ้าน คนพื้นถิ่นไม่สามารถทำการประมงเพื่อยังชีพได้อีกต่อไป พากันอพยพไปขายแรงงานที่ประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่างประเทศมาเลเซีย จากจุดนั้นเอง ได้เกิดพลังความร่วมมือของคนในท้องถิ่นที่มีความรัก และหวงแหนท้องทะเลบ้านเกิด ได้ร่วมกันผลักดันนโยบายในการอนุรักษ์และฟื้นฟูท้องทะเลไทย ทำให้ปัตตานีกลายเป็นจังหวัดเดียวที่ปลอดเรืออวนรุน โดยผลักดันให้รัฐบาลออกประกาศกระทรวงเรื่องห้ามใช้เครื่องมืออวนรุนในท้องที่จังหวัดปัตตานี เกิดกฎหมายที่ให้กำหนดการแบ่งพื้นที่การทำประมงให้เป็นไปอย่างยั่งยืน และหยุดการใช้อวนรุนอวนลากในพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเล ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน และมีระบบนิเวศที่มีความสำคัญต่อความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลโดยรวม 
      เมื่อหยุดการประมงแบบทำลายล้างได้แล้ว ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูระบบนิเวศอ่าวปัตตานี มากกว่า 10 ปี กว่าที่จะกลับมาอุดมสมบูรณ์อย่างในปัจจุบัน 
      ความมุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดเส้นทางอาหารที่เกื้อกูล ไม่ใช่การมุ่งหวังแค่เม็ดเงิน แต่ร้านปลาออร์แกนิกเชื่อมั่นในความเกื้อกูลกันของทุกฝ่าย ซึ่งสิ่งที่พวกเขาใช้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จก็คือเรื่องราวดี ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ทำให้เห็นว่าสิ่งที่พวกเขาพยายามกันมานั้นก่อให้เกิดผลดีได้จริง ๆ ตัวอย่างสำคัญ คือ หนึ่งในสมาชิกจากพื้นที่ชายแดนใต้ นั่นคือ กลุ่มประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี ซึ่งมีชาวประมงพื้นบ้าน 52 หมู่บ้าน รวมกว่า 8 หมื่นคน แต่เดิมไม่เพียงประสบปัญหา ไม่สามารถที่จะนำอาหารทะเลออกมาขาย อันเนื่องมาจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ และยังถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา ปัญหาการได้รับผลกระทบจากการใช้อวนรุนอวนลากโดยเรือประมงพานิชย์ ทำให้ทรัพยากรชายฝั่งเสื่อมโทรม สัตว์น้ำลดลง เป็นปัญหาที่ชุมชนชาวประมงพื้นบ้านชายแดนใต้ต้องเผชิญมากว่า 30 ปี แต่ด้วยความพยายามที่จะอนุรักษ์และฟื้นฟูรักษาทรัพยากรมาตลอด จึงทำให้ธรรมชาติฟื้นตัวขึ้น

      แต่กระนั้น ก็ยังคงมีคำถามว่า ในเมื่อทรัพยากรฟื้นตัวขึ้น แต่ทำไมพี่น้องของเขายังยากจนเหมือนเดิม เมื่อช่วยกันวิเคราะห์หาสาเหตุก็พบว่า ชาวประมงพื้นบ้านจับสัตว์น้ำได้มากขึ้น แต่ราคาสินค้าไม่ขยับขึ้น ทั้งยังถูกตัดราคาโดยพ่อค้าคนกลาง ประกอบกับปัจจัยการผลิตสูงขึ้น จึงร่วมกันค้นหาวิธีทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งนำมาสู่การแปรรูปอาหารทะเลเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า เป็นปลากุเลาเค็ม ปลาอินทรีย์เค็ม กะปิ ข้าวเกรียบปลา โดยรวบรวมความรู้จากภูมิปัญญาของคนแก่คนเฒ่า นำมาทดลองพัฒนามาเรื่อย ๆ ผู้หญิงบางคนที่สามีเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ จากที่เคยทำงานนั่งคัดปลากะตัก มีรายได้ต่อวันแค่ 10 กว่าบาท เมื่อมีโอกาสทำงานในส่วนของการแปรรูปอาหารทะเล แล่ปลาหรือทำปลาเค็มส่งมาขาย ก็สามารถขยับรายได้ขึ้นมาเป็นวันละ 300-400 บาท อย่างไรก็ตาม นอกจากประเด็นของปากท้องและราคาที่เป็นธรรม ลึก ๆ แล้วหัวใจสำคัญ ไม่ใช่กลไกราคาที่ชาวประมงพื้นบ้านปัตตานีได้รับจากการเข้าร่วมโครงการนี้ แต่เป็นความรู้สึกว่า
      “ตัวเองมีค่าและเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย ด้วยความที่เป็นมุสลิมมลายู ที่ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม จะรู้สึกแตกต่างกับสังคมกรุงเทพฯ ฉะนั้นเมื่อเข้ามาอยู่ร่วมในโครงการ และมีเสียงสะท้อนกลับมาว่าปลาของเขาดีทำให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ รู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมตรงนี้ด้วย”

ความคิดเห็น