วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ.2567

ความท้าทายของเวทีความรู้สาธารณะหนุนเสริมสันติสุขชายแดนใต้

 2 ก.ค. 2564 16:09 น.    เข้าชม 2831

      ปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อยาวนาน ที่ทำให้สันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นดินแดนแห่งความงดงามทางพหุวัฒนธรรม ได้ถูกทำให้จางหายมาเป็นเวลานานกว่าสองทศวรรษ นับจากเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อปี พ.ศ. 2547 ดังนั้นในห้วงความคิด ความรู้สึกของผู้คนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่างถวิลหาถึงสันติสุขเหล่านี้
      อย่างไรก็ตามการสร้างสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้เกิดขึ้นมาในสังคมหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการเสริมสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาควิชาการ  โดยความร่วมมือร่วมใจในการขับเคลื่อนให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดความสันติสุขนั้น เกิดขึ้นในหลากหลายรูปแบบ หลากหลายกิจกรรม และหนึ่งในกิจกรรมที่ทรงคุณค่าต่อการเกื้อกูล หนุนเสริมสันติสุขชายแดนใต้ ก็คือ เวทีความรู้สาธารณะ
67 เวทีความรู้สาธารณะ/หลากหลายความรู้เสริมสันติสุขชายแดนใต้
      โดยในช่วง กว่า 4 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2558-2561) มีการจัดเวทีสาธารณะหนุนเสริมสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความโดดเด่น  จำนวนถึง 67 เวที
      ในบรรดาเวทีความรู้สาธารณะนั้น มีความรู้ที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการเสริมสันติสุขชายแดนใต้มากมายหลายประเด็น อาทิเช่น กระบวนการสันติสุข, ประวัติศาสตร์, ภาษา และวัฒนธรรม, กฎหมาย และสิทธิมนุษยชน, การเมืองการปกครอง และสถานการณ์โลก, พัฒนาชุมชน สุขสภาวะ และพื้นที่ปลอดภัย, การสื่อสาร, ทรัพยากรธรรมชาติ และภัยพิบัติทางธรรมชาติ, สตรี และเด็ก และอื่นๆ
การให้ความรู้ในพื้นที่สาธารณะ คือ จุดเชื่อมต่อระหว่างรัฐกับประชาชน
      เวทีความรู้สาธารณะนี้ให้ความรู้ในหลากหลายแขนงที่ล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยพัฒนาทักษะและศักยภาพของสมาชิกในสังคมแห่งความขัดแย้ง ซึ่งได้แก่ ประชาชนในพื้นที่ และภาคส่วนอื่น ๆ เช่น ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และองค์กรระหว่างประเทศ ได้มีองค์ความรู้ที่จะสนับสนุนการสร้างสันติสุข การกระจายของความรู้ให้มากที่สุดจึงเป็นแนวทางที่ปูทางไปสู่การสร้างปัญญาแห่งการสร้างสันติสุขที่ยั่งยืน
ความท้าทายในการให้ความรู้เสริมสันติสุขผ่านพื้นที่สาธารณะ
ขาดการบูรณาการ

      ข้อท้าทายของความรู้ในพื้นที่สาธารณะชายแดนใต้/ปาตานี ประการหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ การขาดการบูรณาการของความรู้ให้ครอบคลุมในทุกมิติของบริบททางสังคมและวัฒนธรรมในพื้นที่
ขาดการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในโลกแห่งความเป็นจริง
      การขาดการบูรณาการดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ส่งผลให้ยากต่อนำเอาองค์ความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับความเป็นจริงในบริบทของความขัดแย้ง หลายครั้งที่ได้เรียนรู้ แต่เมื่อจะนำไปปฏิบัติจริงกลับไม่สามารถทำตามสิ่งที่ได้เรียนรู้มาได้ เพราะความรู้ที่ปรากฏในพื้นที่สาธารณะเหล่านั้นยังคงเป็นความรู้ในระยะสั้น อีกทั้งยังขาดการบูรณาการในลักษณะองค์รวม
ขาดความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้ให้ความรู้สาธารณะ
      การทำงานและการจัดเวทีที่ยังคงยึดติดกับเพียงกลุ่มของตัวเอง เป็นอีกประการสำคัญ เนื่องจากหลายครั้งในประเด็นที่ใกล้เคียงกัน แต่ด้วยองค์กรที่ต่างกันก็ไม่สามารถทำงานด้วยกันได้ นอกจากแนวทางการทำงานที่ต่างแล้ว บ่อยครั้งก็ขึ้นอยู่กับแหล่งทุนด้วยเช่นกัน เพราะหลายครั้งที่การทำงานของบางกลุ่มกลับทำเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ให้ทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าตอบแทน ทำให้ประสิทธิภาพนั้นออกมาไม่ค่อยดีนัก ขณะเดียวกันหลายครั้งอีกเช่นกันที่ผู้เข้าร่วมไปเข้าร่วมเพียงเพราะว่าได้มีค่าตอบแทนในด้านต่าง ๆ
การนำเสนอยากต่อความเข้าใจ
      วิธีการนำเสนอของความรู้ไม่ได้ถูกสื่อสารให้ผู้รับสารสามารถเข้าใจได้โดยง่าย เช่น เมื่อนำเสนองานวิชาการ บรรดานักวิชาการด้วยกันก็มักจะเข้าใจสารที่ต้องการจะสื่อ แต่เมื่อนำเสนอต่อชาวบ้านรากหญ้าแล้ว ก็ควรต้องมีการปรับวิธีการสื่อสารความรู้เหล่านั้นออกไป เพื่อให้ชาวบ้านรากหญ้าได้เข้าใจด้วย เป็นต้น 
ขาดการเก็บรวบรวมข้อมูลการจัดเวทีความรู้ และขาดการประชาสัมพันธ์
      นอกเหนือจากเวทีความรู้สาธารณะที่เด่นจำนวน 67 เวที แล้ว ยังมีเวทีให้ความรู้สาธารณะอื่นๆ อีกนับร้อยเวที ที่ถูกจัดขึ้นในแต่ละปี อย่างไรก็ตามยังไม่มีองค์กรกลางในการจัดเก็บข้อมูลการจัดเวทีความรู้เหล่านี้ นอกจากนั้นยังไม่มีการประชาสัมพันธ์ภาพกิจกรรมสร้างสรรค์เหล่านี้สู่สาธารณะชนในวงกว้าง ดังนั้นสังคมไทยจึงยังคงถูกตอกย้ำภาพในมิติของความไม่สงบอยู่ตลอดเวลา และนี่คือ ความท้าทายของ “เวทีความรู้สาธารณะหนุนเสริมสันติสุขชายแดนใต้” ที่รอการแก้ไข
สิ่งที่สังคมได้รับจากเวทีสาธารณะ
      โดยทั่วไปแล้ว ผู้คนในทุกสังคม ต่างก็มีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เพื่อทำให้สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคมนั้นอยู่ได้อย่างปกติสุข หรือดียิ่งขึ้น และหากการเรียนรู้นั้นมีการแลกเปลี่ยนถ่ายทอดระหว่างกัน มีส่วนร่วมระหว่างกัน ก็จะยิ่งทำให้การขับเคลื่อนสังคมให้พัฒนาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
      เวทีสาธารณะ คือ กระบวนการที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถ่ายทอดความรู้ที่ผู้คนในสังคมนั้น ๆ ได้เรียนรู้ หรือเกิดประสบการณ์ โดยเวทีสาธารณะนั้น อาจจะเป็นเวทีสาธารณะในชุมชนเล็ก ๆ หรือในบริบทที่ใหญ่กว่านั้น ได้มีการเรียนรู้ร่วมกัน ในการสร้างสรรค์หนทาง แนวทาง และวิธีการให้สังคมนั้นอยู่ได้อย่างปกติสุข หรือดียิ่งขึ้น หรือ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้น หรือแม้กระทั่งการแสวงหาทางออกจากวิกฤต   
      ผลลัพธ์ของการสร้างสรรค์ให้เกิดเวทีสาธารณะนั้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับพื้นที่ (จังหวัดชายแดนภาคใต้) และ ในระดับประเทศ (ส่วนกลาง)
      ในระดับพื้นที่ หรือจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ เวทีที่ช่วยให้สมาชิกในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นประชาชนในพื้นที่ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และ องค์กรระหว่างประเทศ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อร่วมกันหาหนทางเปลี่ยนแปลงสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ตกอยู่ในสถานการณ์ความรุนแรง ให้กลับมาสู่ความเป็นปกติสุข หรือสันติสุข
      ในขณะที่ส่วนกลางเกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบาย ซึ่งเป็นทิศทางหลักในการแก้ไขปัญหา ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดเวทีสาธารณะขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง มีการตกผลึกทางความคิด ความรู้ที่เกิดขึ้นจากสมาชิกในพื้นที่ความขัดแย้ง หากข้อสรุปจากเวทีเหล่านั้น ถูกนำมาต่อยอดประเด็นต่ออย่างสร้างสรรค์ และนำมาเป็นข้อมูลลำคัญส่วนหนึ่งในการกำหนดนโยบาย ทิศทาง แนวทาง และ กลยุทธ์  ให้สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ การแก้ไขปัญหาย่อมจะรุดหน้าไปสู่สันติสุขแท้จริงได้ในอีกไม่นาน
ที่มา:
1) https://deepsouthwatch.org/th/node/11893
2) https://deepsouthwatch.org/th/node/11634

ความคิดเห็น