วันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน พ.ศ.2567

การเพิ่มประสิทธิภาพการเสริมสร้างความเข้าใจงานด้านความมั่นคงในยุคดิจิทัล

 3 ธ.ค. 2564 14:40 น.    เข้าชม 3264

          อริสโตเติ้ล นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของกรีกได้กล่าวไว้ว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม (Human being is social animal)” เนื่องจากมนุษย์ต้องอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นสังคม ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่เพียงคนเดียวตามลำพังได้ เนื่องจากมนุษย์ต้องทำกิจกรรมร่วมกันอยู่ตลอดเวลา ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกัน และกัน และแต่ละชีวิตต่างก็ต้องการที่จะเสริมสร้างความสุข ความมั่นใจ และความปลอดภัยให้กับตนเองอยู่เสมอ สังคมจึงเป็นแหล่งรวมศูนย์ทางความคิดที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นมา เพื่อแสวงหาคำตอบทุก ๆ อย่างให้กับตนเอง

          สังคมในทุกระดับชั้นเป็นแหล่งรวมคนหลายๆ คนเข้าด้วยกัน ซึ่งในจำนวนผู้คนเหล่านั้น แต่ละคนต่างก็มีชีวิตจิตวิญญาณ มีความรู้สึกนึกคิดและมีจุดหมายปลายทางที่แตกต่างกันออกไป และด้วยเหตุนี้เองบางครั้งจึงทำให้สังคมต้องเกิดปัญหาหรือมีความสับสนวุ่นวายขึ้น อันเนื่องมาจากความแตกต่างทางด้านความคิดของแต่ละคน ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่สังคมมีปัญหาขึ้นจะเป็นด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม ผู้ที่จะทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้หมดสิ้นไปได้ ก็หาเป็นใครที่ไหนไม่ หากแต่เป็นหน้าที่ของสมาชิกทุก ๆ คนนั่นเอง ที่ต้องร่วมใจกันแก้ไขปัญหา และ  หาทางออกให้กับสังคม และนำสังคมกลับคืนสู่สมดุลแห่งความสงบสุข และสันติ

          คำถาม ก็คือ อะไรคือเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้คนในสังคม ที่มีความแตกต่างทั้งในเรื่องความรู้สึกนึกคิด และจุดหมาย ด้วยความหลากหลายนี้ ให้สามารถเสริมสร้างความเข้าใจซึ่งกัน และนำพาสังคมสู่สมดุลแห่งความสงบสุข

          คำตอบ ก็คือ มนุษย์ใช้ “การสื่อสาร” เป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างความเข้าใจ หรือ กลไกหลักในการเสริมสร้างความเข้าใจ อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ที่สืบเนื่องมาจากความคิด ความเชื่อ ที่แตกต่างกันนั่นเอง

ความหมายของคำว่า “การสื่อสาร”

          เมื่อเราพูดถึงการสื่อสาร เราจะสามารถจินตนาการถึงภาพที่แสดงให้เห็นถึงการสื่อสาร ได้มากมายยกตัวอย่าง เช่น การพูดคุยกันของคนตั้งแต่สองคนขึ้นไป โดยการสื่อสารทั้งอาจจะใช้ทั้งภาษาพูด ภาษากาย และภาษาในรูปแบบอื่น ๆ เช่น ภาษาเขียน ภาษารูปภาพ และ อื่น ๆ อีกมากมาย

          คำจำกัดความต่อไปนี้ จะช่วยทำให้เราเข้าใจ ความหมายของคำว่า “การสื่อสาร” ได้มากยิ่งขึ้น

          คำว่า การสื่อสาร (communications) มีที่มาจากรากศัพท์ภาษาลาตินว่า communis หมายถึง ความเหมือนกัน  หรือร่วมกัน การสื่อสาร (communication) หมายถึงกระบวนการถ่ายทอดข่าวสาร ข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์ ความรู้สึก ความคิดเห็น ความต้องการจากผู้ส่งสารโดยผ่านสื่อต่าง ๆ ที่อาจเป็นการพูด การเขียน สัญลักษณ์อื่นใด การแสดงหรือการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ไปยังผู้รับสาร ซึ่งอาจจะใช้กระบวนการสื่อสารที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสมหรือความจำเป็นของตนเองและคู่สื่อสาร โดยมีวัตถุประสงค์ให้เกิดการรับรู้ร่วมกันและมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อกัน บริบททางการสื่อสารที่เหมาะสมเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การสื่อสารสัมฤทธิ์ผล

          จากคำจำกัดความข้างต้น การสื่อสารที่ครบถ้วนนั้น อย่างน้อยจะต้องมี ผู้ส่งสาร, สื่อ หรือ เนื้อหา (Content) ที่ต้องการจะส่ง, ช่องทางที่ใช้ส่ง, และ ผู้รับสาร

          การปฏิสัมพันธ์ของการสื่อสารระหว่างผู้ส่งสาร และผู้รับสาร จะนำไปสู่ผลลัพธ์ของการสื่อสาร ซึ่งประสิทธิผลของการสื่อสารอาจจะจบลงด้วยความเข้าใจ หรือ ความไม่เข้าใจ ระหว่างผู้ส่งสาร และผู้รับสาร ก็อาจจะเป็นได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพ ของการสื่อสารนั้น

การสื่อสาร คือ กระบวนการที่หวังผลในการสร้างความเข้าใจ

          สิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในกระบวนการสื่อสาร คือ การที่จะสื่อความหมายอย่างไรเพื่อให้ผู้รับสารนั้นเข้าใจได้อย่างถูกต้องว่า ผู้ส่งหมายความว่าอะไรในข่าวสารนั้น ด้วยสาเหตุนี้เองจึงมีการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับการสื่อสารกันอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้เพื่อหาคำตอบว่า จะทำอย่างไรให้การสื่อสารนั่นมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุด

          คล็อด อี. แชนนัน (Claude E.Shannon) และวอร์เรน วีเวอร์ (Warren Weaver) ได้คิดทฤษฎีการสื่อสารทางเดียวเชิงเส้นตรง โดยทฤษฎีนี้ ได้กล่าวไว้ว่า การสื่อสารเริ่มด้วยผู้ส่ง (Sender) ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลทำหน้าที่ส่งเนื้อหาข่าวสาร (Message) เพื่อส่งไปยังผู้รับ (Recipient) โดยผ่านทางเครื่องส่งหรือตัวถ่ายทอด (Encoding) ในลักษณะของสัญญาณ (Signal) ที่ถูกส่งไปในช่องทาง (Channel) ต่าง ๆ กันแล้วแต่ลักษณะของการส่งสัญญาณแต่ละประเภท เมื่อทางฝ่ายผู้ได้รับสัญญาณแล้ว สัญญาณที่ได้รับจะถูกปรับให้เหมาะสมกับเครื่องรับหรือการรับเพื่อทำการแปลสัญญาณ (Decoding) ให้เป็นเนื้อหาข่าวสารนั้นอีกครั้งหนึ่งให้ตรงกับที่ผู้ส่งส่งมาก ในขั้นนี้เนื้อหาที่รับจะไปถึงจุดหมายปลายทางคือผู้รับตามที่ต้องการ ต่อจากนั้นผู้รับส่งข้อมูลย้อนกลับ (Feedback) ว่าคิดอย่างไร หรือเกิดความรู้สึกอย่างไร ไปสู่ผู้ส่งสาร หลังจากได้รับสารนั้นแล้ว

          แต่ในบางครั้งสัญญาณที่ส่งไปอาจถูกรบกวนหรืออาจมีบางสิ่งบางอย่างมาขัดขวางสัญญาณ (Noise) นั้น   ทำให้สัญญาณที่ส่งไปกับสัญญาณที่ได้รับมีความแตกต่างกันเป็นเหตุให้เนื้อหาข่าวสารที่ส่งจากแหล่งข้อมูลไปยังจุดหมายปลายทางอาจผิดเพี้ยนไปนับเป็นความล้มเหลวของการสื่อสารเนื่องจากที่ส่งไปกับข้อมูลที่ได้รับไม่ตรงกัน อันจะทำให้เกิดการแปลความหมายผิดหรือความเข้าใจผิดในการสื่อสารกันได้

          กรณีศึกษาที่ทำให้เห็นได้ชัดที่สุด ของความสำคัญของการเสริมสร้างการเข้าใจ ก็คือ ยุทธศาสตร์ และนโยบาย ในการแก้ไขปัญหา จชต.

          ต่อไปนี้ จะเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการประยุกต์ใช้ “การเสริมสร้างความเข้าใจ” ในฐานะกลไกในการสื่อสารเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์แห่งยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง

          ในยุทธศาสตร์พระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” คำว่า “เข้าใจ” คือ คำสำคัญคำแรกในยุทธศาสตร์พระราชทาน หรือ Grand Strategy ในการแก้ไขปัญหา จชต. ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชน กับ ประชาชน ให้เกิดความเข้าใจร่วมกันในเรื่องที่ต้องการจะเข้าถึง และ พัฒนา หากการทำ “ความเข้าใจ” ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ การเข้าถึง และพัฒนา ซึ่งเป็นประสิทธิผลของยุทธศาสตร์  ก็ยากที่จะเกิดขึ้น

          ในยุทธศาสตร์ความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2560-2564 ได้กำหนดให้มีกลยุทธ์เสริมสร้างความเข้าใจไว้ในหลายๆ เป้าประสงค์ ได้แก่

  • กลยุทธ์เสริมสร้างความเข้าใจ และความไว้วางใจระหว่างประชาชน กับประชาชน และประชาชน กับเจ้าหน้าที่ (เป้าประสงค์ที่ 3 การเสริมสร้างความเข้มแข็งของสังคมพหุวัฒนธรรม)
  • กลยุทธ์การสร้างความเข้าใจ สนับสนุนให้มีกระบวนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ (เป้าประสงค์ที่ 5 การอำนวยความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน และ การสร้างความเข้าใจ)

          ในนโยบายการบริหาร และการพัฒนา จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีวัตถุประสงค์ 6 ข้อ และนโยบาย 23 ข้อ นั้น ในวัตถุประสงค์ข้อที่ 3 มีประโยคสำคัญที่กล่าวไว้ว่า

          “เพื่อให้สังคมไทยและสังคมในพื้นที่ยอมรับและเห็นคุณค่าของการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม และรับผิดชอบร่วมกันในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีนโยบาย 4 ข้อ เป็นการส่งเสริมคุณค่าและการยอมรับ

          การอยู่ร่วมกัน บนพื้นฐานสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างมีเกียรติศักดิ์ศรี และเท่าเทียมกัน ส่งเสริมกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทุกฝ่าย ส่งเสริมให้การดำเนินวิถีชีวิตและการปฏิบัติตามหลักศาสนา และเสริมสร้างความเข้าใจและความไว้วางใจระหว่างประชาชนทั้งในพื้นที่และสังคมไทยให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ”

          หรือ ในวัตถุประสงค์ข้อที่ 6 มีประโยคสำคัญที่กล่าวไว้ว่า

          “เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นต่อสังคมทั้งในและต่างประเทศ ให้เกิดการสนับสนุน และมีบทบาทเกื้อกูลการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีนโยบาย 2 ข้อ เป็นการพัฒนากลไก รูปแบบการสื่อสาร และการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน และเสริมสร้างความเข้าใจอันดี ความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน องค์การระหว่างประเทศ และองค์การพัฒนาเอกชนต่าง ๆ ถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้”

          คำสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ “การเสริมสร้างความเข้าใจ” ที่ปรากฏในยุทธศาสตร์​ และ/หรือ นโยบาย มีส่วนสำคัญยิ่งในการพัฒนาแผนงาน โครงการ และกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องอาศัยการบูรณาการ และประสานสอดคล้องกัน ของทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนกลาง และในระดับพื้นที่ ส่งผลให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เกิดความเข้าใจในนโยบายในการแก้ไขปัญหา รวมไปถึงได้เห็นถึงผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเวลาที่ผ่านมา

การเสริมสร้างความเข้าใจที่มีประสิทธิภาพ ช่วยยกระดับความเชื่อมั่นของประชาชน

          กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการเสริมสร้าง ความเข้าใจกับประชาชนกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจในส่วนของความเป็นไปของสถานการณ์ และนโยบายการแก้ไขปัญหา รวมไปถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากนโยบายดังกล่าว

          ภายใต้การดำเนินการเสริมสร้างความเข้าใจที่ต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย มีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ และนโยบายการแก้ไขปัญหา จชต. มีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามลำดับ

แนวโน้มระดับความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ และนโยบายการแก้ไขปัญหา จชต. พ.ศ 2559-2563
แนวโน้มระดับความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ และนโยบายการแก้ไขปัญหา จชต. พ.ศ 2559-2563

 

          แนวโน้มระดับความเชื่อมั่นที่ดีขึ้นตามลำดับ เป็นผลมาจากการสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจในสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านกระบวนการสื่อสาร และเผยแพร่ข้อมูลเชิงบวก และเชิงสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ของ คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม นอกจากนั้นผลการดำเนินงานในพื้นที่จะช่วยทำให้ประชาชนมีการรับรู้ ทัศนคติที่ดี และมีความเชื่อมั่นต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการสนับสนุนกับแนวทางการดำเนินงานของรัฐ ตลอดจนเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ทำให้ประชาชนมองการปฏิบัติงานในพื้นที่เชิงบวกมากขึ้น

ประสิทธิภาพของการเสริมสร้างความเข้าใจ ที่กำลังถูกท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

การรับรู้ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ (Social Media) ที่เพิ่มมากขึ้น

          อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพการเสริมสร้างความเข้าใจ เพื่อนำไปสู่การรับรู้ และความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ และนโยบายการแก้ไขปัญหา จชต. กำลังถูกท้าทายจากการเปลี่ยนของเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัล

          จากผลการสำรวจช่องทางการรับรู้ข่าวสาร และช่องทางที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ จชต.​ พบว่า ประชาชนกว่าร้อยละ 37.78 ใช้ช่องทางอินเทอร์เน็ต (เฟซบุ๊ค, ไลน์/Line TODAY, ทวิตเตอร์ และยูทูป) ในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ จชต.​ ในขณะที่สื่อโทรทัศน์ซึ่งเป็นสื่อกระแสหลัก ที่เป็นสื่อที่ทรงอิทธิพลสูงสุด มีประชาชนร้อยละ 31.88 ใช้เป็นช่องทางในการรับรู้

          จากร้อยละที่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญของร้อยละการใช้ช่องทางระหว่างสื่อโทรทัศน์ และสื่ออินเทอร์เน็ต สะท้อนให้เห็นว่า นับวันสื่ออินเทอร์เน็ต จะทวีความสำคัญ และมีอิทธิพลต่อการรับรู้ของประชาชนกลุ่มเป้าหมายมากยิ่ง ๆ ขึ้น เมื่อเทียบกับสื่อโทรทัศน์ ที่ความนิยมจะค่อย ๆ ลดน้อยลง ทั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล

ร้อยละการใช้ช่องทางการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และร้อยของอิทธิพลที่มีต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร

 

ประเด็นที่ประชาชนรับรู้

ประเด็นที่ประชาชนรับรู้จากรับรู้มากสู่รับรู้น้อย

 

          ในส่วนของประเด็นการรับรู้ เรียงลำดับจากการรับรู้มาก ไป การรับรู้น้อย ได้แก่ ๑) การเฝ้าระวัง การแจ้งเตือน การติดตาม เพื่อป้องกันการเกิดเหตุร้ายรายวัน, ๒) การตรวจค้นจับกุมผู้กระทำผิด และนำเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย, ๓) เจ้าหน้าที่รัฐลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นของคนในชุมชน, ๔) การส่งเสริมธุรกิจการลงทุน การพัฒนาเมืองต้นแบบด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และเกษตรกรรมแปรรูป, ๕) ความเป็นอยู่ วิถีชีวิตวัฒนธรรมของคนในชุมชน, ๖) การเยียวยา ฟื้นฟู ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงอย่างเป็นธรรม, ๗) ประชาชนในพื้นที่ให้ความร่วมมือในการเฝ้าระวัง ป้องกัน กับ เจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น, ๘) แหล่งท่องเที่ยว และธรรมชาติที่สวยงามในพื้นที่ที่หลากหลาย และ ๙) การนำเสนอข่าวในเชิงสร้างสรรค์ให้กำลังใจ และช่วยเหลือกัน โดยลดภาพข่าวที่รุนแรง และสะเทือนใจ

แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในงานด้านความมั่นคง

          จากผลการสำรวจการรับรู้ ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างการรับรู้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับทิศทางในการใช้ช่องทางให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนกลุ่มเป้าหมาย และการให้น้ำหนักประเด็นในการสร้างรับรู้ ให้สอดคล้องยุทธศาสตร์ และนโยบายในแต่ละช่วงเวลา ทั้งนี้เพื่อที่จะรักษา และเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการเสริมสร้างความเข้าใจ ให้มีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ สรุปได้ดังนี้

การเพิ่มประสิทธิภาพช่องทางการรับรู้

          จากผลการสำรวจ จะเห็นได้ว่า สื่อโทรทัศน์ และ สื่ออินเทอร์เน็ต เป็นสื่อที่เป็นที่นิยม อย่างไรก็ตามในอนาคตอันใกล้นี้ ในภาพรวมสื่อโทรทัศน์ (โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์บางช่องที่ได้รับความนิยมน้อย) แต่เป็นสื่อที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมักใช้เป็นช่องทางในการสื่อสารจะมีแนวโน้มความนิยมที่ลดลง ในขณะที่สื่ออินเทอร์เน็ต (Social Media) ซึ่งยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์เท่าใดนัก กลับได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต

เว็บไซต์ ศปป.5 กอ.รมน. (www.isoc5.net)

 

          ดังนั้นการเพิ่มประสิทธิภาพในส่วนของการใช้ช่องทางการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ที่มีประสิทธิผลมากขึ้นควรพิจารณาใช้สื่อโทรทัศน์ที่ยังคงมีความนิยมสูง แทนการใช้สื่อโทรทัศน์ที่ได้รับความนิยมน้อย และให้เพิ่มน้ำหนักการใช้ประโยชน์จากช่องทางสื่อออนไลน์​ เช่น Social Media ให้มากขึ้น รวมไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับช่องทางที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่ เช่น เว็บไซด์ของหน่วยงาน เป็นต้น ให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ

การปรับปรุงประเด็นในการสื่อสาร

          จากผลการสำรวจจะเห็นได้ว่า ประเด็นการรับรู้ในเรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิต (เศรษฐกิจและการสร้างรายได้, การศึกษา และ อื่น ๆ)  และศักยภาพในพื้นที่ จชต.​ ยัง เป็นประเด็นที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ และนโยบาย ในปัจจุบัน และในอนาคต ยกตัวอย่างเช่น โครงการเมืองต้นแบบ และศักยภาพในพื้นที่ ซึ่งมีอยู่มากมาย และควรค่าอย่างยิ่งที่จะนำไปสู่การรับรู้ อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน กลับเป็นประเด็นที่ยังมีการรับรู้น้อย เมื่อเทียบกับประเด็นในด้านการรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน รวมไปถึงประเด็นเกี่ยวกับเหตุร้ายรายวัน ดังนั้นจึงอาจจะมีผลให้ระดับความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ และนโยบายฯ​ ในปี ๖๓ เพิ่มขึ้นมาเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับระดับความเชื่อมั่นในปี ๖๒ ดังนั้นจึงควรให้น้ำหนักการสื่อสารให้กับประเด็นในเรื่อง เศรษฐกิจ และการสร้างรายได้, การยกระดับคุณภาพชีวิต และ ศักยภาพในพื้นที่ ให้มากขึ้น

สื่อสารแบบสองทางเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน

          นอกเหนือไปจากการเพิ่มประสิทธิภาพช่องทางการรับรู้ ด้วยการใช้สื่ออินเทอร์เน็ต หรือ Social Media สื่อสารประเด็น และเนื้อหา ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไปสู่ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว และทันเวลาแล้ว สิ่งนี้ที่จำเป็นจะต้องเพิ่มเติมขึ้นมา ก็คือ การใช้สื่ออินเทอร์เน็ต หรือ Social Media เป็นช่องทางการสื่อสารแบบสองทาง ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ ที่เป็นผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงจากนโยบาย แผนงาน โครงการ และกิจกรรมที่ดำเนินการโดยภาครัฐ หรือ องค์กรใด ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็น และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการดำเนินการต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินการเหล่านี้ สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแท้จริง

สรุป

          มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องอยู่ร่วมกัน อย่างไรก็ตามอาจจะมีความแตกต่างทางความคิด ความเชื่อ ซึ่งอาจจะนำมาสู่ปัญหาและ/หรือ ความขัดแย้ง ดังนั้นสังคมมนุษย์จำเป็นจะต้องใช้การสื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสื่อสารแบบสองทาง ซึ่งเป็นเครื่องมือเชิงกระบวนการมาช่วยในการเสริมสร้างความเข้าใจ เพื่อลดความขัดแย้ง หรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และนำสังคมสู่สภาวะที่สมดุล สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน สงบสุข สันติ

          การเสริมสร้างความเข้าใจ ซึ่งเป็นกระบวนการในการสื่อสารรูปแบบหนึ่ง ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง ตั้งแต่สังคมเล็ก ๆ จนถึงสังคมระดับประเทศ และระดับโลก เพื่อแก้ไขปัญหาในบริบทที่เกี่ยวข้อง

          การแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงเป็นอีกหนึ่งบริบท ที่ต้องอาศัยการเสริมสร้างความเข้าใจมาเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา ที่เกิดขึ้นจากการที่คนในสังคมนั้น ๆ มีความคิด ความเชื่อ ที่แตกต่าง และหลากหลาย

          การแก้ไขปัญหา จชต. เป็นกรณีศึกษาที่สะท้อนให้เห็นว่า การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน บนพื้นฐานที่มีความแตกต่างทางความคิด ความเชื่อในระดับสูง จำเป็นจะต้องอาศัยการเสริมสร้างความเข้าใจที่มีประสิทธิภาพ และมีความระบบ และจะต้องถูกบรรจุให้เป็นหนึ่งในกลไกเชิงยุทธศาสตร์ที่ใช้ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา

          ในช่วงกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมา กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ได้แปลงยุทธศาสตร์   การเสริมสร้างความเข้าใจไปสู่การปฏิบัติ ส่งผลให้แนวโน้มความเชื่อมั่นของประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่มีต่อสถานการณ์ และนโยบายการแก้ไขปัญหา จชต. ดีขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ตาม ภายใต้โลกยุคใหม่ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งผลให้พฤติกรรมในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนกลุ่มเป้าหมายในปัจจุบัน และในอนาคต มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของช่องทางการรับรู้ ที่ปรับเปลี่ยนจากสื่อกระแสหลัก เฉกเช่น สื่อโทรทัศน์​ มาสู่ สื่ออินเทอร์เน็ต (Social Media) รวมไปถึงประเด็นในการนำเสนอที่ต้องเน้นการนำเสนอในประเด็นที่สอดคล้องกับจุดเน้นของยุทธศาสตร์ และนโยบายในปัจจุบัน และในอนาคต ยกตัวอย่างเช่น การให้น้ำหนักการสร้างการรับรู้ใน ประเด็นด้านเศรษฐกิจ และการสร้างรายได้, การยกระดับคุณภาพชีวิต และการพัฒนาศักยภาพในพื้นที่ให้มากขึ้น

          ภายใต้แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการเสริมสร้างความเข้าใจดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ก็จะช่วยให้หน่วยงานด้านความมั่นคงสามารถรับมือกับความท้าทายในเรื่องการสร้างการรับรู้ และการเสริมสร้างความเข้าใจ สามารถยกระดับความเชื่อมั่นที่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายมีให้กับการแก้ไขปัญหา จชต. ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล

ความคิดเห็น