วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2567

U2T ส่งต่อนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในระดับชุมชน

 3 ธ.ค. 2564 15:38 น.    เข้าชม 3423

          ปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่งที่ถือว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาในมิติสังคมจิตวิทยา และเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คือ ปัญหาการว่างงาน โดยเฉพาะการว่างงานในระดับเยาวชน จากข้อมูลของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน พบว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา มีอัตราการว่างงานค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น ๆ ในพื้นที่ภาคใต้ นอกจากนั้นยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

สถานการณ์โควิดทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มมากขึ้น

          จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในทุกภูมิภาคของประเทศตกต่ำอย่างหนักมากที่สุดในรอบ 22 ปี ส่งผลให้อัตราการว่างงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีอัตราที่สูงอยู่แล้ว มีแนวโน้มสูงมากขึ้นอีก สิ่งที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่งก็คือ มาตรการรับมือการว่างงานที่มีอยู่ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ อีกทั้งเป็นเพียงมาตรการเฉพาะหน้าที่ไม่มีความยั่งยืน

การพัฒนามาตรการแก้ไขปัญหาการว่างงานอย่างยั่งยืน

          หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการอัตราการว่างงาน อาทิ กรมการจัดหางาน และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้มีการพัฒนาระบบการจ้างงาน และพัฒนาทักษะที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการลดปัญหาการว่างงาน

          นอกเหนือไปจากหน่วยราชการในส่วนของกระทรวงแรงงานที่ได้พัฒนาระบบ AI มาช่วยในการลดอัตราการว่างงานแล้ว ก็มีอีกหน่วยงานหนึ่ง นั่นคือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่ง ที่ตระหนักถึงปัญหาการเพิ่มขึ้นของอัตราการว่างงาน โดยกลยุทธ์ในการแก้ไขปัญหาการว่างงาน ก็คือ การบูรณาการพลังแห่งนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วส่งผ่านการบูรณาการนี้ ไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากในระดับชุมชนทั่วประเทศ และในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

โครงการยกระดับเศรษฐกิจ และสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ

          จากการริเริ่มในการเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการว่างงาน โดยเฉพาะการว่างงานในกลุ่มเยาวชน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) จึงได้จัดทำ “โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคม รายตำบลแบบบูรณาการ” หรือ “โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ” ด้วยการเชื่อมโยงนวัตกรรม     ในระดับมหาวิทยาลัยลงสู่ระดับตำบลกว่า 3,000 ตำบล รวมไปถึงมีการจ้างงานนักศึกษา และประชาชนกว่า 60,000 คน ที่จะได้รับการพัฒนา และเพิ่มเติมทักษะใหม่ ๆ และท้ายสุด กลุ่มนักศึกษา และประชาชนเหล่านี้จะทำหน้าที่พลิกโฉมการสร้างเศรษฐกิจฐานรากในระดับชุมชน โดยการดำเนินการโครงการนี้จะดำเนินการเป็นเวลา 1 ปี

          นอกเหนือไปจากสร้างตัวแทนการเปลี่ยนแปลง จำนวน 60,000 คนแล้ว ยังได้สร้างแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ (Online Community Platform) ขึ้นในเว็บไซต์ www.U2T.ac.th เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นชุมชนมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน จำนวนไม่ต่ำกว่าแสนคน

สถาบันการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เข้าร่วมโครงการ

          ในการดำเนินการ “โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ” มีสถาบันการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วมโครงการด้วยกัน ได้แก่ ทีม palm packaging จากมหาวิทยาลัยทักษิณ, ทีม กระถางต้นไม้จากขุยมะพร้าว จากมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์, ทีม ไข่มุกจากแป้งสาคู ต.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส จากมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์, ทีม แม่ลาน FRESHMART จากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และ ทีม Sayo Bana จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

จากการใช้เงินเป็นตัวตั้ง มาเป็นการใช้ทุนเป็นตัวตั้ง ชุมชนสามารถจัดการธุรกิจได้

          รูปแบบการดำเนินการโครงการดังกล่าว มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ยกตัวอย่างเช่น การดำเนินการของทีมแม่ลาน Freshmart จากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

          การดำเนินการโครงการเริ่มต้นจากการตระหนักถึงปัญหาของวิสาหกิจชุมชน, กลุ่ม OTOP, กลุ่ม SMEs และ ธุรกิจเริ่มใหม่ (Start up) รายย่อยในพื้นที่ 3 ตำบล (ตำบลป่าไร่, ตำบลม่วงเตี้ย และ ตำบลแม่ลาน) ในพื้นที่อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 ส่งผลให้ไม่สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของตนเองได้จนรายได้ หดหาย ภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น

          จากการตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ทางทีมแม่ลาน Freshmart จึงได้ร่วมหาแนวทางทำงานแบบบูรณาการกับภาคส่วนต่าง ๆ โดยนำนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล “SMART Entrepreneur” นอกจากนั้นได้จัดทำ “แผนธุรกิจเพื่อชุมชน” ที่เน้นการใช้ “ทุน” ที่มีอยู่เดิมเป็นตัวตั้ง แทนจากเดิมที่ใช้ “เงิน” เป็นตัวตั้ง ส่งผลให้เกิดแนวคิด “องค์กรชุมชนสามารถจัดการธุรกิจได้ด้วยตนเอง” ซึ่งจะเป็นแนวคิดในการใช้ต้นทุนของชุมชนมาสร้างเป็นเศรษฐกิจฐานราก ที่จะทำให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ในแบบที่ยั่งยืนยาวนาน

          สำหรับ “แผนธุรกิจเพื่อชุมชน” ของทีมแม่ลาน Freshmart นั้น จะมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ได้แก่

          องค์ประกอบที่หนึ่ง คือ การใช้ประโยชน์จากปัจจัยการผลิต ที่ประกอบด้วย ธรรมชาติ ทุนที่เป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้น และหนึ่งสมองสองมือ” ที่สอดคล้องกับวิถีชุมชนมาเป็นตัวตั้ง

          องค์ประกอบที่สอง คือ การสร้าง Mindset ในของการเป็นผู้ประกอบการของผู้นำชุมชน ซึ่งเดิมมักจะใช้เงินเป็นตัวตั้ง ให้เป็นมาเป็นการใช้ “ทุน” หรือ “ปัจจัยการผลิต” ซึ่งเป็นสิ่งที่ชุมชนมีอยู่แล้วมาเป็นตัวตั้ง และนำไปสู่การสร้าง Mindset หลักของชุมชน นั่นก็คือ “ชุมชนสามารถจัดการธุรกิจได้ด้วยตนเอง”

          องค์ประกอบที่สาม คือ สร้างเครือข่ายธุรกิจชุมชน ที่เรียกว่า “SMART Entrepreneur ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเชื่อมโยงเครือข่ายดังกล่าว โดยจัดตั้งตลาดนัดออนไลน์ในพื้นที่อำเภอแม่ลาน เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนธุรกิจชุมชน ให้เกิดเป็นเครือข่ายทางธุรกิจ “SMART Entrepreneur” ในอำเภอแม่ลาน ซึ่งมีผู้ประกอบการกลุ่มต่าง ๆ ทั้ง SME, วิสาหกิจชุมชน, กลุ่มเกษตรกร และ OTOP มากกว่า 200 ราย

สรุป

          การแก้ไขปัญหาใด ๆ ในบริบทที่มีความซับซ้อนหลากหลายมิติ อาทิเช่น การแก้ไขปัญหาการว่างงาน ที่เป็นปัญหาที่นำไปสู่ปัญหาในมิติอื่น ๆ เช่น ปัญหาด้านสังคมจิตวิทยา ปัญหาในการรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน และมิติอื่น ๆ เป็นต้น จำเป็นจะต้องอาศัยการเชื่อมโยงที่นำไปสู่ความร่วมมือ การบูรณาการในการแก้ไขปัญหา ที่มิใช่การแก้ไขปัญหาแบบเฉพาะหน้า แต่ต้องเป็นการเชื่อมโยง ที่นำไปสู่ความร่วมมือ การบูรณาการ เพื่อการแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน “โครงการยกระดับเศรษฐกิจ และสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ” หรือ “โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ” เป็นรูปแบบการดำเนินการที่สามารถตอบสนองความต้องการในการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน ที่ควรนำมาต่อยอด และขยายผลในการแก้ไขปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ความคิดเห็น