วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

กล้วย แก้ วิกฤติ บทเรียนการพลิกฟื้นธุรกิจชุมชนในท่ามกลางสถานการณ์โควิด 19

 3 ธ.ค. 2564 15:44 น.    เข้าชม 3504

          ชุมชนบ้านม้าเงย-โคกม่วง ตำบลป่าชิง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นชุมชนที่มีพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีทั้งการทำสวนยางพาราและทำสวนผลไม้ รวมไปถึงการปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อใช้เป็นอาหารและเพื่อขายเป็นรายได้ อีกทั้งยังมีการรวมกลุ่มกันเพื่อรวบรวมผลผลิตที่มีอยู่มากมายในพื้นที่ มาแปรรูปและเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตรในนาม “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารบ้านม้าเงย-โคกม่วง” การรวมกลุ่มที่เข้มแข็งนั้น ก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านความสามัคคีการช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน ระหว่างผู้นำและลูกบ้าน และได้รับการสนับสนุนทางด้านองค์ความรู้และนวัตกรรมจากสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ก่อให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ ให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้ในด้านเศรษฐกิจ และความยั่งยืนด้านอาหาร

          กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารบ้านม้าเงย-โคกม่วง ได้เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2559 จากความต้องการที่จะแก้ปัญหาผลผลิตทางการเกษตรของชุมชนม้าเงย-โคกม่วง ไม่ว่าจะเป็นกล้วยน้ำว้า มันเทศ ถั่วลิสง ซึ่งมีปริมาณมากจนล้นตลาด ทางผู้นำกลุ่มได้นำปัญหาไปปรึกษากับหน่วยงานราชการ เป็นที่มาของการจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อนำผลผลิตทางการเกษตรของชุมชนมาแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการตลาด โดยครั้งแรกที่เริ่มแปรรูป ได้ทดลองแปรรูปทั้งกล้วยน้ำว้า มันเทศ และถั่วลิสง แต่มาลงตัวที่กล้วยน้ำว้า เนื่องจากมีผลผลิตตลอดทั้งปี เพราะมีการปลูกไว้ในทุกครัวเรือน โดยนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ กล้วยกรอบแก้ว แต่แล้วธุรกิจของชุมชน ที่ดำเนินมาด้วยดีก็ต้องมาสะดุดลงในปีที่ 5 ด้วยวิกฤติจากโรคระบาด covid-19 ผลิตภัณฑ์กล้วยกรอบแก้วที่เคยส่งขายไปทั้งในชุมชนใกล้เคียง และหลายจังหวัด รวมถึงกรุงเทพฯ นั้นถูกยกเลิกการสั่งซื้อเกือบจะทั้งหมด

กล้วย แก้ วิกฤติ

          แม้ว่าการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อคนทุกกลุ่มทำให้ได้รับความเดือดร้อน รายได้ลดลง แต่ท่ามกลางวิกฤติที่เกิดขึ้น มักจะมีโอกาสตามมาด้วยเสมอ การรวมกลุ่มกันของสมาชิกในหมู่บ้านม้าเงย-โคกม่วง แม้จะมีการดำเนินการทำมาแล้วอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเจอวิกฤติดังกล่าว การมองหาหนทางเพื่อแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นนับว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่ทางกลุ่มต้องร่วมกันขบคิดอย่างรอบด้าน โดยระดมสมองค้นหาการนำกล้วยน้ำว้ามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ท้องตลาดยังไม่มีคู่แข่งหรือมีน้อยเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถของชุมชนมาก ๆ เพราะยิ่งการนำกล้วยมาแปรรูปสิ่งที่ตามมานั่นคือ ผลผลิตกล้วยจะมีราคาที่ดี มีการรับประกันราคากล้วยเพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้ที่คงที่แน่นอนสิ่งที่ตามมาอีกอย่างหนึ่งนั่นคือการสร้างงาน สร้างคุณภาพชีวิตให้แก่ชาวบ้านในชุมชนนั่นเอง

          จากปัญหาดังกล่าววิทยาลัยชุมชนสงขลาได้เข้ามาช่วยเหลือ สนับสนุน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ โดยการนำทรัพยากรที่มีอยู่เดิมมาเพิ่มมูลค่า และพบว่ากล้วยดิบสามารถนำมาแปรรูปเป็นแป้ง หรือแป้งทำขนม ใช้ทดแทนแป้งสาลีอเนกประสงค์ได้ อีกทั้งให้คุณค่าทางสารอาหาร ทั้งคาร์โบไฮเดรต เกลือแร่ วิตามิน โปรตีน และสารต้านอนุมูลอิสระ ในด้านของการลดน้ำหนักและดูแลสุขภาพนั้น พบว่าแป้งกล้วยอยู่ในกลุ่มของแป้งที่ทนต่อการย่อย หรือ Resistant Starch ซึ่งนิยมรับประทานในกลุ่มผู้ควบคุมน้ำหนักด้วยวิธีคีโตจีนิค คือการเน้นรับประทานโปรตีนและไขมันดี และลดปริมาณอาหารประเภทแป้ง-น้ำตาล เนื่องจากแป้งกล้วยมีค่า Glycemic Index (GI) ต่ำ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในจุดที่ควบคุมได้ ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงอย่างรวดเร็ว และใช้ในการปรับสมดุลให้ระบบขับถ่าย

          ส่วนขั้นตอนวิธีการทําแป้งกล้วย คือ การนำผลกล้วยน้ำว้าในระยะดิบถึงห่าม มาปอกเปลือก ฝานเป็นชิ้นบาง ๆ โดยต้องฝานใส่ในน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้มีสีดำคล้ำเมื่อสัมผัสอากาศ แล้วนำมาทำให้แห้งด้วยการตากหรืออบ จากนั้นบดให้ละเอียด โดยใช้เครื่องโม่ขนาดเล็ก และร่อนผ่านตะแกรง บรรจุในภาชนะที่สะอาดมิดชิดปิดสนิททันที ลักษณะที่ดีของแป้งกล้วยจะต้องมีเนื้อเนียนสม่ำเสมอ มีสีขาวคล้ำ กลิ่นกล้วยดิบจะมีอ่อน ๆ สำหรับการเก็บรักษาให้บรรจุในภาชนะที่ป้องกันความชื้น ป้องกันสัตว์กัดแทะ เช่น ขวดแก้ว กล่องพลาสติก กระป๋อง ถุงพลาสติก ถุงอลูมิเนียม หรือถุงลามิเนต หากบรรจุในระบบสุญญากาศซึ่งอาจจะเก็บรักษาได้นานมากยิ่งขึ้นและสามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิห้องปกติ

ฝ่าข้ามวิกฤติด้วยพลังกลุ่ม

          กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารบ้านม้าเงย-โคกม่วง ได้ปรับตัวสู่การแพร่ระบาดของ covid-19 หันมาแปรรูปกล้วยน้ำว้าให้เป็นแป้งกล้วยน้ำว้า เพื่อตอบสนองกลุ่มเป้าหมายลูกค้าที่ต้องการลดแป้งเพื่อควบคุมน้ำหนัก และสำหรับคนที่อยากดูแลเรื่องสุขภาพ รวมไปถึงกลุ่มลูกค้าที่แพ้แป้งสาลี ต้องการนำแป้งกล้วยไปใช้ในการทำขนมและทำเค้ก ซึ่งปัจจุบันได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานอาหารและยา (อ.ย.) เรียบร้อยแล้ว และทางกลุ่มยังได้นำแป้งกล้วยนั้น  มาพัฒนาสูตรเป็นขนมที่มีส่วนผสมจากแป้งกล้วย เช่น เค้กกล้วยหอม บราวนี่ บัวลอยไข่หวาน จึงถือว่าตอบโจทย์ทุกมิติ สำหรับผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์แป้งกล้วยสามารถสั่งซื้อและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เพจ Facebook : ม้าเงย ขนมและอาหาร

          การเรียนรู้ของวิสาหกิจชุมชนแปรรูปอาหารบ้านม้าเงย-โคกม่วง ในการสร้างโอกาสเพิ่มมูลค่าสินค้าและสร้างรายได้ให้แก่สมาชิก เป็นตัวอย่างที่ดีของการปรับตัวในสถานการณ์ covid-19 เพื่อเป็นการเปิดตลาดและเป็นการสร้างทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคในปัจจุบัน สิ่งที่เกิดขึ้นนับเป็นพลังของสมาชิกในกลุ่ม ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนสิ่งนี้ให้ไปสู่ความสำเร็จ ร่วมกันก้าวข้ามผ่านทุกวิกฤติปัญหาไปได้ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มแห่งนี้มีสมาชิกที่มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นและที่สำคัญมีความสุขที่ยั่งยืน สามารถเป็นต้นแบบในการพัฒนาธุรกิจชุมชนด้านการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรให้กับชุมชนอื่น ๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้พื้นที่ปลายด้ามขวานแห่งนี้นั้นสามารถมีความสุขและความสันติเกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ได้ต่อไป

สรุป

          กล้วยนั้นถึงแม้จะเป็นพืชประเภทผลไม้ธรรมดา แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันคือต้นทุนทางเศรษฐกิจของพื้นที่ และทันทีที่มันได้รับการเพิ่มคุณค่า (Value Added) โดยอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่น ภายใต้ความร่วมมือร่วมใจของประชาชนในชุมชุน สิ่งที่ตามมาก็คือ การเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจให้กับพื้นที่ด้วยการอาศัยต้นทุนทางเศรษฐกิจที่มีอยู่

          เมื่อศักยภาพทางเศรษฐกิจในชุมชนเพิ่มขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือรายได้ที่เพิ่มขึ้น เมื่อรายได้เพิ่มขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น ความรักความหวงแหนในชุมชุมก็เพิ่มขึ้นความต้องการให้เกิดความมั่นคงปลอดภัยในชุมชนก็เกิดขึ้น ท้ายที่สุดก็จะนำไปสู่ความร่วมมือกับกับภาครัฐ หรือ หน่วยงานองค์กร และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

          นี่คือหนึ่งในหลาย ๆ กรณีศึกษา ในการใช้แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการใช้การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน แล้วเชื่อมโยงขยายผลไปสู่ความมั่นคงในมิติอื่น ๆ

ความคิดเห็น