วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ.2567

ยะลาเมืองอัจฉริยะเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน

 15 ก.พ. 2565 12:33 น.    เข้าชม 3641

          เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ครั้งที่ 1/64 เพื่อรับทราบผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน และบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคมเป็นประธาน โดยมีการพิจารณามอบตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะของประเทศไทยให้แก่ 15 พื้นที่ โดยมีการพัฒนาเมือง  และได้รับการประกาศรับรองเป็นพื้นที่เมืองอัจฉริยะ ได้แก่ 1) สามย่านสมาร์ทซิตี้, 2) ขอนแก่นเมืองอัจฉริยะ, 3) เมืองอัจฉริยะวังจันทร์วัลเลย์, 4) แม่เมาะเมืองอัจฉริยะ, 5) ภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ, 6) เมืองอัจฉริยะย่านพระราม 4, 7) โครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะเพื่อสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่โดยรอบคลองผดุงกรุงเกษม, 8) เมืองอัจฉริยะมักกะสันเพื่อสนับสนุนการบริการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน, 9) การพัฒนาเมืองเก่าอย่างชาญฉลาด, 10) เทศบาลนครเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมืองอัจฉริยะ ความเป็นเลิศที่ยั่งยืนสู่ชุมชน, 11) เมืองศรีตรัง, 12) ฉะเชิงเทรา เมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว น่าลงทุน,   13) แสนสุขสมาร์ทซิตี้, 14) โครงการนครสวรรค์สมาร์ทซิตี้ และ 15) ยะลาเมืองอัจฉริยะเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน

ที่มาโครงการยะลาเมืองอัจฉริยะเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน

          สืบเนื่องจากในปี 2562 รัฐบาลได้กำหนดให้มีนโยบายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศตามแนวทางการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี โดยได้มอบหมายให้สำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ และได้มีการอนุมัติเมืองอัจฉริยะ ของประเทศไทย จำนวน 15 เมือง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “เทศบาลนครยะลา” ภายใต้ “โครงการยะลาเมืองอัจฉริยะเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

          “สำหรับยะลาเมืองอัจฉริยะเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน” ซึ่งเสนอโดยเทศบาลนครยะลา นั้น ประกอบด้วยระบบอัจฉริยะใน 4 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านสิ่งแวดล้อม (Smart Environment), 2) ด้านเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy),   3) ด้านการบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) และ 4) ด้านการดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) โดยการที่จะทำให้แนวทางทั้ง 4 ด้านดังกล่าว บรรลุเป้าหมาย จำเป็นจะต้องพัฒนาให้เทศบาลนครยะลาเป็นเมืองที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data Driven City) และ ต้องมีความพร้อมด้านการเชื่อมต่อของระบบสารสนเทศ และระบบโทรคมนาคม (City of Connectivity) สำหรับการพัฒนาดังกล่าวเทศบาล      นครยะลา จะให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ระบบโครงสร้างสารสนเทศ เพื่อหาจุดบกพร่อง เดิมที่มีอยู่ รวมทั้งการขยายขีดความสามารถของเมืองในอนาคต

วิสัยทัศน์สู่การเป็นศูนย์กลางดิจิทัลจังหวัดชายแดนใต้

          การขับเคลื่อน “โครงการยะลาเมืองอัจฉริยะเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน” นั้นจะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ 1) การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และการสื่อสารโทรคมนาคม (City Backbone), 2) การบูรณาการระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่มีอยู่เดิม, 3) การยกระดับขีดความสามารถ และสมรรถนะของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลทั้งระบบ และ 4) การติดตั้งอุปกรณ์​ และ นวัตกรรมเพิ่มเติม โดยประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการ “ยะลาเมืองอัจฉริยะเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน” มีด้วยกัน 3 ประเด็นหลักๆ ดังนี้

          หนึ่ง โดยยกระดับมาตรฐานด้านการจัดการความมั่นคงปลอดภัย และลดภาพด้านลบของเมืองในเรื่องความไม่มั่นคงปลอดภัย “ให้คนนอกยะลาเห็นเมืองยะลาอย่างที่คนยะลาเห็น”

          สอง ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และการจัดบริการภาครัฐให้ได้มาตรฐานสากล “สู่ยะลาเมืองคุณภาพชีวิตมาตรฐานสากล”

          และ สาม สร้างจุดขายเพื่อทวงคืนบทบาทการเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และการลงทุนแห่งภูมิภาค “สร้างยะลาสู่เมืองเข้มแข็งในอดีต และเข้มแข็งยิ่งขึ้นในศตวรรษที่ 21”

ความคิดเห็น