วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2567

สร้างความเป็นรูปธรรมให้กับการแก้จนอย่างแม่นยำ ใน จชต.

 16 ก.พ. 2565 16:48 น.    เข้าชม 1750

          ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. มีแนวทาง และเจตนารมย์ในยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการแก้ปัญหาความยากจนอย่างเร่งด่วน เน้นการยกระดับคุณภาพชีวิต ขจัดความยากจน และพัฒนาทุกช่วงวัย ทั้งนี้เพื่อตอบสนองในเรื่องการพัฒนา เพื่อเพิ่มศักยภาพพื้นที่ และเพื่อเสริมสร้างความมั่นคง โดยใช้ข้อมูลคนจนจาก TPMAP (Thai People Map and Analytic Platform) ของกระทรวงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในการร่วมกันขับเคลื่อนกับหน่วยงานภายใน ศอ.บต. และหน่วยงานร่วม 37 หน่วยงาน ทั้งนี้เพื่อสร้างความเป็นรูปธรรมให้กับการแก้จนอย่างแม่นยำในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

นำร่อง 10 จังหวัด ในปี 63 และ 10 จังหวัดในปี 64

          การดำเนินการของ ศอ.บต. ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น เป็นการดำเนินการที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์วิจัย และสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำของ หน่วยบริหาร และจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ใน 4 ด้าน คือ 1) นวัตกรรมสำหรับเศรษฐกิจฐานราก และชุมชนนวัตกรรม 2) ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จ และแม่นยำ 3) เมืองน่าอยู่ และการกระจายศูนย์กลางความเจริญ ด้วยการใช้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และ 4) การแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ

          โดยในปีงบประมาณ 2563 ได้ดำเนินการในจังหวัดนำร่องยากจน 10 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน, อำนาจเจริญ, สุรินทร์, ชัยนาท, ยโสธร, ศรีสะเกษ, สกลนคร, มุกดาหาร, กาฬสินธุ์ และปัตตานี เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ในปีงบประมาณ 2564 จึงเพิ่มจังหวัดนำร่องขึ้นอีก 10 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง, เลย, พิษณุโลก, ร้อยเอ็ด, นครราชสีมา, พัทลุง, อุบลราชธานี, บุรีรัมย์, ยะลา และ นราธิวาส

          การดำเนินการในจังหวัดนำร่องทั้ง 20 จังหวัดนั้น นอกจากจะให้ความสำคัญกับการขจัดความยากจนแบบตรงจุดแล้ว ก็จะให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในพื้นที่ บนฐานทรัพยากรท้องถิ่น เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานราก และเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ โดยการเสริมบทบาทของมหาวิทยาลัย สถาบันอุดมศึกษาให้เป็นโครงสร้างความรู้ กำลังคนในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และเศรษฐกิจชุมชนระยะยาว ได้อย่างยั่งยืน

ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ด้วยการผนึกกำลัง

          เพื่อให้การดำเนินการขจัดความยากจนมีความชัดเจน และมีความยั่งยืนในการสร้างผลลัพธ์ให้เป็นรูปธรรม ศอ.บต. และ บพท. จึงได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จ และแม่นยำ

          การดำเนินการร่วมระหว่าง ศอ.บต. และ บพท. นั้น จะดำเนินการผ่านเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 37 องค์กร

          และในปีงบประมาณ 2565 นี้ ศอ.บต. ได้ทุ่มงบประมาณถึง 200 ล้านบาท ภายใต้ MOU ระว่าง บพท. และการผนึกกำลัง 37 องค์กร แก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้งานวิจัย บพท. เป็นฐาน นำเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก และเลขที่บ้าน ค้นหาความยากจนทุกมิติ คาดว่าปี 2565 จะสามารถแก้ไขได้ตามแผน สามารถยุติความรุนแรงได้อย่างยั่งยืน

การขจัดความจน คือ หนึ่งในการขจัดรากเหง้าของปัญหา

          ก่อนหน้านี้ ศอ.บต. มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนใน 5 ด้าน ต่อไปนี้อยู่แล้วอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 1) ด้านสุขภาพ 2) ความเป็นอยู่ 3) การศึกษา 4) รายได้ และ 5) การเข้าถึงบริการของรัฐ แต่หลังจากการสถาปนาความร่วมมือกับ บพท. และ 37 องค์กร ศอ.บต. การดำเนินการดังกล่าวจะได้รับการเพิ่มประสิทธิภาพ ด้วยการนำงานวิจัย และนวัตกรรมในการตรวจสอบครัวเรือนยากจนได้อย่างแม่นยำของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โดย บพท. มาเป็นข้อมูลพื้นฐานรองรับการดำเนินการ ซึ่งจะเร่งให้เกิดความเป็นรูปธรรมได้เร็วยิ่งขึ้น

          เมื่อความยากจน ซึ่งถือว่าเป็น หนึ่งในรากเหง้าของปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับการแก้ไข ภายใต้ความร่วมมือดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ก็จะส่งผลโดยตรงต่อการลดระดับความรุนแรงในพื้นที่ และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนในเร็ววัน

ความคิดเห็น