วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

เราเดินทางมาถึงจุดไหน และเราจะก้าวต่อไปอย่างไรในการแก้ไขปัญหา จชต.

 16 ก.พ. 2565 17:03 น.    เข้าชม 1701

          เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ครั้งที่ 1/2564 และเป็นประธานสรุปผลการปฏิบัติงาน และแถลงแผนการปฏิบัติงานประจำปี ตามยุทธศาสตร์ 6 ด้าน และแผนปฏิรูปประเทศ ณ สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดีรังสิต

          สาระสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ นอกเหนือไปจากผลการดำเนินการของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ในปี 2564 แล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงแนวทางในการดำเนินการของปี 2565 และที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ ผลสัมฤทธิ์ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการให้น้ำหนักความสำคัญในการแก้ไขปัญหาในอนาคต

ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และแนวทาง “ระเบิดจากข้างใน”

          งานของ กอ.รมน. ไม่ว่าจะเป็นงานด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และในพื้นที่ส่วนอื่น ๆ   ของประเทศนั้น จำเป็นจะต้องมีความสอดคล้อง และมีเป้าหมายบูรณาการร่วมกับส่วนราชการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนงานด้านความมั่นคงเชิงพื้นที่ และสามารถทำให้ภาพรวมของประเทศไทยเดินหน้าไปได้ โดยแผนปฏิบัติงานจะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บท แผนปฏิรูปประเทศ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นอกจากนั้นต้องพิจารณาแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ อันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 อีกด้วย

          สิ่งสำคัญที่สุด ก็คือ ต้องเข้าใจในปัญหา และความต้องการของประชาชน ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา และนำแนวทางตามพระราชดำริ “ระเบิดจากข้างใน” ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และพัฒนาประชาชนในพื้นที่เพื่อการมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง นำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน

ผลสัมฤทธิ์ ณ ปัจจุบัน และแนวทางในอนาคตในการแก้ไขปัญหา จชต.

          สำหรับการแถลงผลการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี 2564 ซึ่งเป็นส่วนหนี่งของการแถลงผลงานในภาพรวมของ กอ.รมน. ประจำปี 2564 นั้น สามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

สถิติการก่อเหตุลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

          ในด้านการยกระดับความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน ณ ปัจจุบัน กอ.รมน. ได้ดำเนินการจนทำให้สถานการณ์ในพื้นที่มีสถิติการก่อเหตุรุนแรงที่ลดลง เมื่อระดับความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินถูกยกระดับให้สูงขึ้น ก็จะส่งผลให้งานด้านอื่น ๆ เช่น งานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนสามารถขับเคลื่อนได้  อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เดินหน้าขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน

          ในส่วนของด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนนั้น รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ได้ดำเนินการโครงการสำคัญหลายโครงการเพื่อตอบสนองแนวทางข้างต้น ยกตัวอย่างเช่น “โครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” นอกจากนี้ยังมี “โครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ซึ่งเป็นโครงการเร่งด่วนของยุทธศาสตร์ชาติ ที่มุ่งสร้างความปลอดภัยให้กับพื้นที่ในระดับจังหวัดจนถึงระดับตำบล

          นอกเหนือไปจากโครงการเชิงยุทธศาสตร์ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ก็ยังมีโครงการด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในอนาคตอีกหลายโครงการ อาทิเช่น โครงการเมืองแห่งพลังงาน โครงการเมืองปศุสัตว์ โครงการเมืองแห่งผลไม้ โครงการป่าเศรษฐกิจ-ป่าชุมชน โครงการจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมืองปูทะเลโลก และ อื่น ๆ เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ต้องให้น้ำหนักความสำคัญสูง

          การขับเคลื่อนผลสัมฤทธิ์ของการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากขึ้นนั้น นอกเหนือไปจากการยึดถือแนวทางพระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” แล้ว แนวทางหรือยุทธศาสตร์สำคัญที่ต้องให้น้ำหนักความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการสร้างความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน  ก็คือ 1) การสร้างความเข้าใจ ไม่ให้หวาดระแวงกันระหว่างภาครัฐ และภาคประชาชน และ 2) การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่

การประเมินผลตามหลักสถิติคือเครื่องมือสำคัญ

          การดำเนินการตามโครงการที่รองรับแนวทางดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นจำเป็นจะต้องติดตามประเมินผลที่ลงไปถึงประชาชนอย่างใกล้ชิด และต้องตอบคำถามได้อย่างชัดเจน มีหลักสถิติและตัวเลขที่แน่นอน ซี่งจะช่วยให้การขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลอย่างมีนัยสำคัญ

          ทุกปัญหาในโลกนี้ ย่อมมีหนทางแก้ไข อย่างไรก็ตามปัญหาที่มีความสลับซับซ้อน เฉกเช่น ปัญหาการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำเป็นจะต้องใช้เวลา ในการเรียนรู้ เพื่อให้เกิดความ “เข้าใจ” ความเข้าใจจะนำไปสู่การ “เข้าถึง” ต้นตอ รากเหง้าของปัญหา และเมื่อเข้าถึงต้นตอ และรากเหง้าของปัญหา ก็สามารถแก้ไข “ปัญหา” เหล่านั้น หรือ “การพัฒนาให้ดีขึ้น” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล

          การแถลงผลการดำเนินการของ กอ.รมน. ปี 2564 ได้สะท้อนให้เห็นถึงผลสัมฤทธิ์ที่มีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม รวมไปถึงแนวทางการขับเคลื่อนที่มีความเป็นรูปธรรมในอนาคต ในการแก้ไขปัญหาการก่อความไม่สงบ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

          อย่างไรก็ตาม รัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคประชาชน จำเป็นจะต้องร่วมมือ ร่วมใจ กันต่อไป ภายใต้แนวทาง “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ทั้งนี้เพื่อสร้างสันติสุข ความสงบสุข และการมีคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ความคิดเห็น