วันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน พ.ศ.2567

ปราชญ์ชุมชน กับการหา “คำตอบ” ที่ตำบล

 16 ก.พ. 2565 17:26 น.    เข้าชม 1913

          มนุษย์ได้ชื่อว่าเป็น “สัตว์สังคม” เพราะการที่มนุษย์จะสามารถอยู่รอดได้นั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจกันในการสร้างสรรค์ และขับเคลื่อนสังคมนั้นให้สามารถอยู่ดีมีสุข โดยสังคมเหล่านั้น อาจจะมีหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นสังคมในระดับประเทศ ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับที่ถือว่าเป็นระดับฐานราก ก็คือ สังคมในระดับตำบล หรือ ระดับชุมชน

          สำหรับสังคมในระดับ “ตำบล” หรือ ระดับ “ชุมชน” นี้ ย่อมจะต้องมีต้นทุนของสังคม ซึ่งอาจจะแตกต่างกันไปตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ หรือ ลักษณะทางสังคมจิตวิทยาการที่สังคมในระดับ “ตำบล” หรือ ระดับ “ชุมชน” จะเจริญรุดหน้า สามารถสร้างความอยู่ดีมีสุขนั้น ย่อมต้องอาศัยองค์ความรู้ต่าง ๆ โดยเฉพาะองค์ความรู้ในการใช้ประโยชน์จาก “ต้นทุน” ใน “ชุมชน” นั้น ๆ

          องค์ความรู้เหล่านี้ ส่วนใหญ่แล้วจะเกิดขึ้นจาก “กลุ่มคน” หรือ “บุคคล” ใน “ชุมชน” นั้น ที่ทุ่มเทเรียนรู้ การใช้ประโยชน์จาก “ต้นทุน” ดังกล่าว ที่อยู่ในหลากหลายรูปแบบ อาทิเช่น ทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรมประเพณีใน “ชุมชน” เหล่านั้น เรามักจะเรียก “กลุ่มคน” หรือ “บุคคล” เหล่านี้ว่า “ปราชญ์ชุมชน” หรือ “ปราชญ์ท้องถิ่น” หรือ “ปราชญ์ชาวบ้าน”

“ปราชญ์ชุมชน” กับ การพัฒนาชุมชน

          ปราชญ์ชุมชน ถือว่าเป็น “ผู้นำชุมชน” ประเภทหนึ่ง ที่แสดงบทบาทการเป็นผู้นำด้วยการใช้ “ความรู้” ที่เรียกว่า “ภูมิปัญญาของชุมชน” โดยการใช้ “ภูมิปัญญา” ดังกล่าว มายกระดับคุณภาพในการดำรงชีวิตของตนเอง และชุมชนจนประสบผลสำเร็จสามารถ่ายทอดเชื่อมโยงคุณค่าของ “องค์ความรู้” ที่สั่งสมมาแต่ในอดีตกับการใช้ประโยชน์ในปัจจุบันได้อย่างเหมาะสมการใช้ประโยชน์จาก “ภูมิปัญญา” เหล่านั้น ได้แก่ การแก้ปัญหาที่มีอยู่ และการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่สามารถนำไปต่อยอดก่อให้เกิดประโยชน์กับชุมชน ไม่ว่าจะเป็น ด้านการรักษาสุขภาพ ด้านการสร้างรายได้ สร้างอาชีพ และในด้านอื่น ๆ เป็นต้น

          “ภูมิปัญญา” ดังกล่าว บางส่วนอาจจะมีที่มาจากบรรพบุรุษที่เกิดจากกระบวนการเรียนรู้ ปรับตัวจากปัญหาที่ชุมชนเคยได้ประสบมาก่อน ก่อเกิดเป็นประสบการณ์ที่สั่งสมพัฒนา และสืบทอดต่อ ๆ กันมาเมื่อวันเวลาผ่านไป “ภูมิปัญญา” ดังกล่าว ได้เชื่อมโยงกับ “องค์ความรู้ใหม่ ๆ หรือ เทคโนโลยีใหม่ ๆ” เกิดเป็นการต่อยอด “ภูมิปัญญา” ที่ล้ำหน้ามากขึ้น และถูกถ่ายทอดให้กับผู้คนในลักษณะ “รุ่นสู่รุ่น”

“ปราชญ์ชุมชน จชต.” กับ “วิสาหกิจชุมชน”

          ดังที่กล่าวไปแล้วว่า “ภูมิปัญญาของชุมชน” ที่ถูกพัฒนาโดย “ปราชญ์ชุมชน” นั้น ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อ “ชุมชน” ในหลายหลายมิติ และหนึ่งในนั้น คือ “มิติทางเศรษฐกิจ” หรือ หากจะกล่าวในเชิงเศรษฐศาสตร์ การสร้างประโยชน์ในลักษณะนี้ ก็คือ การใช้ “ภูมิปัญญาของชุมชน” มาเสริมสร้าง “เศรษฐกิจชุมชน” หรือ “เศรษฐกิจฐานราก” หรือ ที่เรียกกันว่า “วิสาหกิจชุมชน”

          ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการเกิดขึ้นของ “วิสาหกิจชุมชน” เป็นจำนวนมาก “วิสาหกิจชุมชน” เหล่านี้ นอกจากช่วยยกระดับเศรษฐกิจให้กับชุมชนแล้ว ยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตในด้านอื่น ๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ด้านวัฒนธรรม และวิถีชีวิต และที่สำคัญที่สุดคือการให้ความร่วมมือในการเป็นส่วนหนึ่ง ในการรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สร้างต้นแบบและเชื่อมโยง “เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน”

          ความท้าทายอีกประการหนึ่งก็คือ “การสร้างความ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในเชิงพื้นที่” สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ด้วยการพัฒนาต้นแบบ “วิสาหกิจชุมชน” ต่อจากนั้นก็เชื่อมโยง “วิสาหกิจชุมชน” ให้เป็น “เครือข่ายแห่งความ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เชิงพื้นที่”

          ตัวอย่างการดำเนินการดังกล่าว ได้แก่ การดำเนินการโครงการ “คำตอบ อยู่ที่ตำบล” ของ ศูนย์ประสาน การปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ ศปป.5 กอ.รมน. ที่ตระหนักถึงความสำคัญของ “วิสาหกิจชุมชน” ที่มีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้

ในการดำเนินการดังกล่าว ได้ทำการคัดเลือกกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จำนวน 10 กลุ่ม ดังนี้

          กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดสงขลา จำนวน 1 กลุ่ม ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร ตำบลนาหมอศรี (ปลาส้ม) จังหวัดสงขลา

          กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส จำนวน 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) ปราชญ์ชาวบ้าน วิสาหกิจชุมชนศาลาใหม่ จังหวัดนราธิวาส 2) กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ไข่เค็ม จังหวัดนราธิวาส 3) กลุ่มเพาะเห็ดนางฟ้า จังหวัดนราธิวาส และ 4) กลุ่มแปรรูปบ้านโต๊ะแช จังหวัดนราธิวาส

          กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี จำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) กล้วยหินกรอบแก้ว จังหวัดปัตตานี และ 2) กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่โคกหนองนาโมเดล จังหวัดปัตตานี

          กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดสตูล จำนวน 1 กลุ่ม ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนสมุนไพรทักษอร จังหวัดสตูล

          กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดยะลา จำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) กล้วยหินแปรรูป (ตรานังตา) จังหวัดยะลา และ 2) วิสาหกิจชุมชนบ้านชาสมุนไพรตำบลหน้าถ้ำ จังหวัดยะลา

          เป็นที่ทราบกันดีว่า “ชุมชน” คือ จุดยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างไรก็ตาม    ในห้วงเวลาผ่านมาอาจจะยังไม่ชัดเจนนักว่าจะดำเนินการอย่างไร เริ่มต้นที่จุดสำคัญจุดไหน

          การดำเนินการในลักษณะที่เริ่มต้นที่ การต่อยอด ขยายผล ความเข้มแข็งให้กับ วิสาหกิจชุมชน น่าจะเป็นการเริ่มต้นที่ตรงประเด็นที่สุดของความหมายของคำว่า “คำตอบ อยู่ที่ตำบล” นั่นคือ การใช้ “ภูมิปัญญาชุมชน” หรือ “ภูมิปัญญาท้องถิ่น”ที่เกิดขึ้นจาก “ปราชญ์ชุมชน” มาสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน แล้วต่อยอด ขยายผลความเข้มแข็งนี้ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในภาพรวมต่อไป

ความคิดเห็น