วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

รวมพลังสร้างสันติสุข พหุวัฒนธรรม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

 16 ก.พ. 2565 18:20 น.    เข้าชม 3291

          ปัจจัยแห่งความสำเร็จประการแรกในการทำสิ่งใด ๆ ในโลกนี้ให้เป็นรูปธรรม ก็คือ “การตั้งเป้าหมาย” เพราะการตั้งเป้าหมาย จะนำไปสู่การประเมินว่า ณ ปัจจุบัน เราอยู่ห่างไกลจากเป้าหมายมากน้อยเพียงใด เมื่อเราทราบแล้วว่า เราอยู่ห่างจากเป้าหมายแค่ไหน จะทำให้เราสามารถวางแผนไปสู่เป้าหมายในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          หากเป้าหมายนั้นเป็นเรื่องของการพัฒนาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีความสันติสุขในระดับที่เหมาะสมได้อย่างยั่งยืน สังคมซึ่งหมายถึงผู้คน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จะต้องกลับมาถามตนเอง หรือ ให้คำจำกัดความกับคำว่า “สันติสุขที่เหมาะสมได้อย่างยั่งยืน” ที่ต้องการนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร ณ ปัจจุบันนี้ ระดับสันติสุข อยู่ในระดับไหน และ จะก้าวไปสู่ หรือ พัฒนาไปสู่ “สังคมสันติสุข ภายใต้ความเป็นพหุวัฒนธรรมได้อย่างยั่งยืน” ตามที่ต้องการได้อย่างไร

งานศึกษาวิจัย “รูปแบบการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง (3 จชต.)

          เพื่อค้นหาคำตอบดังกล่าวอย่างเป็นระบบ จึงได้เกิดการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ขึ้น โดยงานศึกษาวิจัยนี้ มีชื่อว่า “รูปแบบการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง (3 จชต.)”

          งานศึกษาวิจัยนี้ จะให้ความสำคัญกับการศึกษาข้อมูลใน 2 ประเด็น ได้แก่ 1) อะไรคือสภาพความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ตามแนวยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิสังคมเศรษฐกิจในอนาคต และ 2) รูปแบบในการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง (3 จชต.) ตามแนวทางยุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิสังคมเศรษฐกิจในอนาคตเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน จะมีรูปแบบอย่างไร

ความต้องการของผู้คนในสังคมคือจุดเริ่มต้น

          จุดเริ่มต้นในการหาคำตอบจากคำถามข้างต้นจะต้องเริ่มจากผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง นั่นก็คือ “ผู้คน”   ซึ่งประกอบไปประชาชนในพื้นที่ องค์กรชุมชน ภาคประชาสังคม ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และนักธุรกิจ การหาคำตอบจะใช้ทั้งการสัมภาษณ์เชิงลึกกับกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 144 คน (เชิงคุณภาพ) และการใช้แบบสอบถาม   กับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 400 คน (เชิงปริมาณ) ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์เชิงลึก และแบบสอบถาม จะถูกนำมาวิเคราะห์ตามหลักสถิติศาสตร์ เพื่อให้ได้คำตอบที่ต้องการ

คำตอบที่ได้จากการสัมภาษณ์ (เชิงคุณภาพ)

          จากการสัมภาษณ์ พบว่า ผู้คนใน 3 จชต. ให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และมีสันติสุข ภายใต้ความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม โดยมีผู้นำที่ดูแลเอาใจใส่ประชาชน มีการจัดระบบการศึกษา ที่มุ่งต่อเยาวชน มีการบำรุงศาสนา การปลอดยาเสพติด มีคุณภาพชีวิตที่ดี สภาพแวดล้อมที่ดีของเมือง มีความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน การพัฒนาใด ๆ ตามนโยบาย หรือ แผนใด ๆ ของรัฐบาลจะต้องสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ กับประชาชน

          โดยในรายละเอียดของความต้องการข้างต้น จะมีความแตกต่างกันไม่มากก็น้อยตามสภาพภูมิสังคมของแต่ละจังหวัด (ยะลา, ปัตตานี และนราธิวาส)

          การทำให้ความต้องการข้างต้นเกิดขึ้นได้ จะต้องให้ความสำคัญกับการปรับสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ให้มีภูมิทัศน์ที่ดี และมีความปลอดภัยในการดำรงชีวิตประจำวัน การเป็นเมืองแห่งการศึกษา และการท่องเที่ยว เชิงวัฒนธรรมของศาสนาอิสลาม

คำตอบที่ได้จากแบบสอบถาม (เชิงปริมาณ)

          จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถาม พบว่าประชาชนให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต มากกว่าความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยสังคมหรือชุมชนต้องมีความสามัคคี การอยู่ร่วมกันทำงานอย่างมีความสุข มีความรักในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยประชาชนต้องให้รัฐสร้างความมั่นใจในเรื่องระบบการสนับสนุนงานพัฒนาของประชารัฐ และระบบการรักษาความปลอดภัยให้เกิดกับประชาชน

          การทำให้ความต้องการข้างต้นเกิดขึ้นได้ จะต้องให้ความสำคัญกับการพึ่งตนเอง การพัฒนาต่าง ๆ ต้องเป็นไปตามขั้นตอน มีความเรียบง่ายและประหยัด สภาพภูมิสังคม การส่งเสริมความรู้ และเทคนิควิชาการสมัยใหม่ที่เหมาะสม และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ตามลำดับ การพัฒนาข้างต้นให้เกิดความยั่งยืนนั้น จะต้องให้ความสำคัญกับ การอนุรักษ์ และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ

          จะต้องสอดคล้องกับลักษณะทางภูมิสังคมของแต่ละพื้นที่ และที่สำคัญที่สุดก็คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์, การพัฒนาสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ บนพื้นฐานของการมีความสุขร่วมกันในบริบทของพหุวัฒนธรรม

รูปแบบการขับเคลื่อนไปสู่สังคมสันติสุข พหุวัฒนธรรม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

          จากสรุปผลการวิจัย พบว่า รูปแบบการขับเคลื่อนสังคม จชต.​ ไปสู่การเป็น “สังคมสันติสุข พหุวัฒนธรรม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (ดังแสดงในรูป) จะต้องให้ความสำคัญกับ “การพัฒนาคุณภาพชีวิต” และ “ความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน” ที่ดำเนินการโดยภาครัฐ แต่ต้องสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่

          การพัฒนาคุณภาพชีวิต และการสร้างความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน จะเกิดขึ้นได้ด้วย การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยในรูปแบบใหม่, ความมีอิสระในเชิงวัฒนธรรมภายใต้กรอบกฎหมายของรัฐ การอยู่ร่วมกันในรูปแบบสังคมพหุวัฒนธรรม, การพัฒนาคุณภาพชีวิตรูปแบบใหม่, การเป็นศูนย์กลางทางศาสนา และการศึกษา, การท่องเที่ยวเชิงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนในพื้นที่

          หลักสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินนั้น จะต้องให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ การพึ่งตนเอง โดยการพัฒนาจะต้องเป็นไปตามขั้นตอนเน้นความเรียบง่าย และประหยัด และต้องสอดคล้องกับภูมิสังคม

          การดำเนินการพัฒนาตามแนวทางข้างต้นจะนำไปสู่การสร้างสังคมสันติสุข พหุวัฒนธรรม ที่ยั่งยืน สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะทางกายภาพของพื้นที่ ปัญหาสำคัญในพื้นที่ และเพื่อให้ประชาชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีแนวคิดในการสร้างภูมิคุ้มกันแก่สังคมของตนเอง ในการก้าวสู่การเป็น “สังคมแห่งสันติสุข ภายใต้ความงดงามของพหุวัฒนธรรม และเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน” อย่างแท้จริง

          การสร้างสังคม ๆ หนึ่ง ให้เป็นไปในรูปแบบที่ต้องการในอนาคตนั้น จะต้องรู้ว่า ณ ปัจจุบัน สังคมนั้นอยู่ ณ  จุดใดเมื่อเทียบกับสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นในอนาคต และการที่จะค้นหาคำตอบดังกล่าวจะต้องอาศัยการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบมาเป็นเครื่องมือในการหาคำตอบ

          ในทำนองเดียวกัน การสร้างสังคมแห่งสันติสุข ที่มีความเป็นพหุวัฒนธรรม ให้สามารถพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน ได้มีการทำงานศึกษาวิจัย “รูปแบบการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง (3 จชต.)” มาใช้ค้นหาแนวทางที่เป็นระบบเพื่อนำไปสู่สถานะที่ต้องการ และแนวทางนั้นก็คือ “รูปแบบการขับเคลื่อนไปสู่สังคมสันติสุข พหุวัฒนธรรม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่ผู้เกี่ยวข้องในแต่ละภาคส่วนสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างสภาวะแห่ง “สังคมสันติสุข พหุวัฒนธรรม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน”

ความคิดเห็น