วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2567

จินตนาการดี ๆ สู่สังคมแห่งสันติสุขที่ยั่งยืน

 8 มี.ค. 2565 16:15 น.    เข้าชม 1896

          ทุกคน ๆ ต้องเคยผ่านวัยเด็กกันมาทุกคน และช่วงเวลาที่ทำให้เด็กคนหนึ่งน่าจะมีความสุขมากที่สุดก็คือ การได้เรียนรู้ ผ่านการเล่น ที่คู่ขนานไปกับการจินตนาการ

          การเล่น หรือ การจินตนาการของเด็ก ๆ นั้น ถือได้ว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาสมอง พัฒนาการเรียนรู้ และการเรียนรู้เหล่านี้จะสร้างพื้นฐานสำคัญในการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข และแน่นอนภายในสังคมนั้น ย่อมต้องมีเด็ก ๆ ที่เติบโตมาพร้อมกับการเรียนรู้และมีทักษะในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขภายใต้สังคมที่เขาได้     ดำเนินชีวิตอยู่ ซึ่งสังคมนั้นย่อมจะะกลายเป็นสังคมแห่งความสุขตามไปด้วย

          ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นสังคมที่ตกอยู่ภายใต้บริบทแห่งความขัดแย้งมาเป็นเวลากว่าสองทศวรรษ ดังนั้นหัวงความคิดของผู้คนในสังคมโดยเฉพาะเด็ก ๆ หรือเยาวชน ย่อมต้องเกิดความสับสนหวาดวิตกต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัวพวกเขา ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ในสิ่งที่ดี และที่มีประโยชน์ต่อสังคม อันจะนำไปสู่การเกิดจินตนาการดี ๆ หรือ ความคิดใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกจิตสำนึกด้านจินตนาการที่จะนำสังคมไปสู่ “สังคมแห่งสันติสุข” ให้กับพวกเขาเหล่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้เขาเหล่านั้นมีจุดยืนแห่งความคิดที่ดี และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถมีชีวิตได้อย่างมีความสุข และเป็นส่วนสำคัญในการสร้าง “สังคมแห่งสันติสุขที่ยั่งยืน”

          และอีกหนึ่งหนทางในการส่งเสริมการเรียนรู้ และเติมเต็มจินตนาการที่ดีให้แก่เด็ก ๆ หรือเยาวชน ๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็คือ “อุทยานการเรียนรู้”

อุทยานการเรียนรู้คืออะไร

          อุทยานการเรียนรู้ หรือที่รู้จักกันดีในนาม “TK Park” เป็นองค์การมหาชนภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานบริหาร และพัฒนาองค์ความรู้ สำนักนายกรัฐมนตรี จัดตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลในปี พ.ศ. 2548 โดยมีหน้าที่หลักในการส่งเสริมนิสัยการรักการอ่าน รวมทั้งการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ตลอดชีวิตของเยาวชน และประชาชน เพื่อสร้างสรรค์สังคมฐานความรู้ที่ประชาชนสามารถก้าวทันโลก

          การให้บริการของ “อุทยานการเรียนรู้” หรือ “TK Park” มีทั้งหมด 12 ส่วน ได้แก่ ห้องสมุดมีชีวิต, มายด์ รูม, ห้องเด็ก, ห้องเงียบ, มุมกาแฟ, ห้องสมุดดนตรี, ห้องสมุดไอที, ศูนย์การเรียนรู้อเนกประสงค์, ลานสานฝัน, ห้องฉายภาพยนตร์, ศูนย์อบรมไอที และห้องบันทึกเสียง

อุทยานการเรียนรู้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

          ปัจจุบันสำนักงานบริหาร และพัฒนาองค์ความรู้ ได้จัดตั้ง “อุทยานการเรียนรู้” ใน 28 จังหวัดทั่วประเทศ สำหรับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่

  • อุทยานการเรียนรู้ยะลา ตั้งอยู่ในบริเวณศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา
  • อุทยานการเรียนรู้นราธิวาส ตั้งอยู่ในบริเวณ สวนกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเมืองนราธิวาส
  • อุทยานการเรียนรู้ปัตตานี ตั้งอยู่ที่ ถนนปัตตานีภิรมย์ อำเภอเมือง ปัตตานี
  • และอุทยานการเรียนรู้สงขลา มีด้วยกัน 2 อุทยาน ตั้งอยู่ที่เทศบาลนครหาดใหญ่ สงขลา และ เทศบาลนครสงขลา

          สำหรับอุทยานการเรียนรู้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น จะเป็นการเปิดพื้นที่เรียนรู้สาธารณะสำหรับเยาวชน และประชาชน ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้มีโอกาสเรียนรู้การอยู่ร่วมกัน และแลกเปลี่ยนนวัตกรรมหลายสาขา และร่วมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

หลากหลายรูปแบบการเรียนรู้ในลักษณะ Edutainment

          กลุ่มเป้าหมายหลักของอุทยานการเรียนรู้ ก็คือ กลุ่มเด็ก/เยาวชน ดังนั้น การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในอุทยานการเรียนรู้จะเป็นการเรียนรู้ด้วยการเล่นผ่านกิจกรรมต่าง ๆ หรือ ที่เราเรียกกันว่า “Edutainment” ที่เหมาะกับ เด็ก ๆ และเยาวชน ที่การเรียนรู้ของเขาก็คือ “การเล่น” นั่นเอง

          ยกตัวอย่างเช่น การชมภาพยนตร์ที่ก่อให้เกิดจินตนาการในการเรียนรู้ และสร้างสรรค์, กิจกรรมเชิงวัฒนธรรม, กิจกรรมกีฬา, กิจกรรมในวันสำคัญร่วมกับองค์กรในท้องถิ่น และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมายที่ให้เด็ก และเยาวชนในพื้นที่ได้เป็นผู้มีส่วนร่วมหลักในกิจกรรม

ความพึงพอใจของผู้ใช้บริการอุทยานการเรียนรู้

          ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ของอุทยานการเรียนรู้ จะเป็นกลุ่มเยาวชน ที่มีอายุระหว่าง 13-20 ปี โดยกลุ่มผู้ใช้บริการ  มีความพึงพอใจในบริการ “ห้องสมุดมีชีวิต” มากที่สุด เนื่องจาก มีหนังสือที่เพียงพอให้เลือกเรียนรู้ตามรูปแบบที่สนใจ, หนังสือมีความหลากหลาย และทันสมัย และบรรยากาศภายในอุทยานการเรียนรู้มีส่วนกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในการเรียนรู้ของเยาวชน

          ในส่วนของมิติต่าง ๆ ของกิจกรรมต่าง ๆ ที่ได้รับความพึงพอใจในระดับมาก ได้แก่ กิจกรรมที่จัดมีความหลากหลายครอบคลุมทุกวัย, ความสนุกสนาน, การมีส่วนร่วมของเยาวชน และการเปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงความสามารถและพัฒนาศักยภาพ, กิจกรรมที่จัดได้สอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมไปถึงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น

          การจะสร้างสังคมที่มีคุณภาพ จะต้องเริ่มที่การสร้างคนที่มีคุณภาพให้กับสังคม และการสร้างคนที่มีคุณภาพต้องเริ่มที่การสร้างเด็กและเยาวชนที่มีคุณภาพ วิธีการสร้างที่ดีที่สุด ก็คือ การเปิดโอกาสให้เด็ก และเยาวชนได้มีโอกาสจินตนาการผ่านการเรียนรู้ในลักษณะ Edutainment ผ่านกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ ที่มีความหลากหลาย ส่งเสริมการเรียนรู้ในสิ่งใหม่ ๆ การรับรู้ และเข้าใจในบริบทแห่งพหุวัฒนธรรม และที่สำคัญที่สุดการหยั่งรากจินตนาการในเรื่อง “สันติสุขที่ยั่งยืน”

ความคิดเห็น