วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ.2567

ทำไมเทศบาลนครยะลาจึงได้รับรางวัลเทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืน

 8 มี.ค. 2565 16:29 น.    เข้าชม 2452

          เมื่อพูดถึงคำว่า “น่าอยู่” แทบทุกคนน่าจะนึกถึง “สถานที่” เช่น บ้านน่าอยู่ หรือเมืองน่าอยู่ เป็นต้น แต่เมื่อเราจินตนาการแบบต้องการให้เห็นภาพของ “ความน่าอยู่” ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่อยู่หลัง “สถานที่” ต่าง ๆ (บ้าน และเมือง) แล้ว ในแต่ละคนอาจจะจินตนาการภาพของ “ความน่าอยู่” แตกต่างกันออกไป ยกตัวอย่างเช่น หากเรานึกถึง “บ้านน่าอยู่” เราอาจจะจินตนาการถึงภาพของบ้านที่มีครอบครัวที่มีความสุข ไม่มีการทะเลาะ เบาะแว้ง มีพื้นที่พอประมาณ มีต้นไม้เขียว ๆ อากาศดี ๆ หรือ หากเรานึกถึง “เมืองน่าอยู่” เราอาจจะจินตนาการถึงภาพ  ของเมืองที่มีถนนหนทางที่ทำให้ผู้คนในเมืองนั้นเดินทางได้อย่างสะดวก มีความปลอดภัย มีพื้นที่สีเขียว ตึกรามบ้านช่องถูกสร้างอย่างมีระเบียบ ผู้คนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข

          จินตนาการข้างต้นเป็นความรู้สึกนึกคิดของผู้คนทั่วไป เมื่อนึกถึงคำว่า “น่าอยู่” แต่ถ้ามี “คำถาม ๆ หนึ่ง เช่น แล้วเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ล่ะ มีความน่าอยู่หรือไม่” คำถามนี้คงทำให้ผู้ถูกถามอาจจะตอบไม่ถูกก็เป็นได้ เพราะเมื่อนึกถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ภาพ ๆ หนึ่งที่อาจจะปรากฏขึ้นมาในห้วงความคิด ก็คือ “เหตุการณ์รุนแรง”

          แต่เชื่อหรือไม่ว่า หากเราไม่ยึดติดในภาพข่าวลบ ๆ แล้วพิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว จะพบว่า “ภาพที่เห็น อาจจะไม่ใช่ความเป็นจริงทั้งหมด” กล่าวคือ ถึงแม้จะมีเหตุการณ์รุนแรง แต่โดยพื้นฐานแล้วจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความน่าอยู่ที่แฝงอยู่มากมาย ยกตัวอย่างเช่น เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา ซึ่งได้คว้ารางวัลชนะเลิศเทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืนยอดเยี่ยม

อะไรคือกรอบแนวคิดที่บอกถึงความน่าอยู่อย่างยั่งยืน

          มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (Thailand Environment Institute: TEI) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งดำเนินการในฐานะสถาบันวิชาการอิสระ มิได้แสวงหากำไร ได้กำหนด “กรอบแนวคิดเทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืน” ว่าจะต้องพิจารณาในเรื่องใดบ้าง ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

          คนมีสุข : คนในเมืองนั้นต้องมีสุขภาพดี ได้รับการศึกษา สวัสดิการ และการพิทักษ์สิทธิที่เหมาะสม และเท่าเทียม ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเอื้ออาทร มีกิจกรรมสร้างสรรค์สังคม ดำรงประเพณีวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น

          เมืองอยู่ดี : มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสม โครงสร้างพื้นฐานเพียงพอสำหรับคนทุกกลุ่ม มีความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ปลอดภัย และเศรษฐกิจมั่นคง

          สิ่งแวดล้อมยั่งยืน : ทรัพยากรธรรมชาติมีความสมบูรณ์มีพื้นที่สีเขียวเพียงพอ ภูมิทัศน์สวยงาน ของเสีย หรือ มลพิษถูกจัดการอย่างเหมาะสม และประชาชนมีวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

          เรียนรู้ และบริหารจัดการที่ดี : มีวิสัยทัศน์และแผนงานชัดเจน บุคลากรมีความรอบรู้ และเชี่ยวชาญ ระบบ การทำงานได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พร้อมการบริหารจัดการที่ดี และมีนวัตกรรมการพัฒนาเมือง

          กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้นำเกณฑ์ดังกล่าวมาใช้ในการตัดสินการมอบรางวัลผลงานนวัตกรรม   เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ที่มีด้วยกัน 2 ประเภท ได้แก่ 1) รางวัลเทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืน และ 2) รางวัลเทศบาลด้านสิ่งแวดล้อมยั่งยืนระดับประเทศ

          โดยในปี พ.ศ.2564 เทศบาลที่ได้รับรางวัลชนะเลิศเทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืนยอดเยี่ยมระดับประเทศ ก็คือ เทศบาลนครยะลา

ทำไมเทศบาลนครยะลาจึงได้รับรางวัลนี้

          จากการประเมินของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พบว่า งานเด่นของเทศบาลนครยะลาก็คือ การที่ภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในพื้นที่ได้ร่วมกันคิดร่วมกันทำ รวมทั้งเปิดโอกาสรับฟังปัญหา และหาหนทางแก้ไขโดยวิเคราะห์บริบท และความต้องการของเมือง ทำให้เห็นถึงภาพของปัญหาได้อย่างชัดเจน สิ่งเหล่านี้ น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการเรียนรู้ และการการบริหารจัดการที่ดี

          ปัญหาของเทศบาลนครยะลาที่ทุกภาคส่วนเห็นร่วมกัน ก็คือความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง การรุกล้ำทางเท้าและที่สาธารณะ ปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้นซึ่งเป็นผลมากจากการพัฒนา และขยายตัวของเมืองประกอบกับคนรอบนอกอพยพเข้ามาศึกษาทำงาน

          จากปัญหาดังกล่าว จึงได้มีแนวคิดริเริ่มในการต่อยอดการพัฒนาเชื่อมโยงประเด็นการรักษ์โลกจากระดับท้องถิ่น (Local) ไปสู่ระดับโลก (Global) ด้วยการสร้าง City Branding โดยใช้ทุนท้องถิ่นที่มีอยู่เดิมเพื่อจัดการเมืองที่เอื้ออาทรต่อการอยู่อาศัยใน 3 ประเด็น นั่นคือ 1) เมืองที่มีอัธยาศัยไมตรี 2) เมืองที่มีสิ่งแวดล้อมดี และ 3) เมืองที่มีศิลปะ

          การเปลี่ยนแนวคิดข้างต้น จะใช้การดำเนินโครงการที่เกิดจากการประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน    โดยในขั้นต้นเริ่มจากกำหนดนโยบายผ่านการจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็น เมื่อมีนโยบายและแนวทางในการดำเนินการที่ชัดเจนแล้ว ก็จะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ และร่วมดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว  โดยมีสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ มีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง

          จากแนวคิดในการแก้ไขปัญหาของเทศบาลนครยะลา ที่ถูกผลักดันสู่กระทำจริงได้อย่างเป็นระบบ ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ส่งผลให้ปัญหาของเทศบาลนครยะลาดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นได้รับการแก้ไข ยกตัวอย่างเช่น

  • ทุกหน้าบ้านในเทศบาลนครยะลา อยู่ในสภาพ “หน้าบ้านน่ามอง”
  • ทางเท้าสาธารณะได้รับการจัดระเบียบ และไม่มีการรุกล้ำทางเท้าสาธารณะ
  • ปริมาณขยะในเมืองลดลง จากการมีมาตรการจัดการขยะแต่ตั้งต้นทาง ถึง ปลายทาง
  • ชุมชนเกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ และ แหล่งน้ำ ส่งผลให้ มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับท้องถิ่น มีการรณรงค์ให้มีการปลูกต้นไม้อย่างต่อเนื่อง

          การดำเนินการดังกล่าว ส่งผลให้เทศบาลนครยะลา เป็นเทศบาลที่มีการเรียนรู้ และการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งนำไปสู่การเป็น “เมืองอยู่ดี” “คนมีความสุข” และ “สิ่งแวดล้อมยั่งยืน” จึงเป็นที่มาของการได้รับรางวัลชนะเลิศเทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืนยอดเยี่ยมระดับประเทศ

          กรอบแนวคิดเทศบาลน่าอยู่อย่างยั่งยืน ที่เทศบาลนครยะลานำมาใช้เป็นกรอบในการพัฒนาเทศบาล       นครยะลานั้น มิใช่กรอบแนวคิดที่จะถูกจำกัดอยู่แค่การประกวดผลงานเพื่อให้ได้รางวัล หรือแค่ระดับเทศบาลเท่านั้น แต่สาระสำคัญที่แท้จริงของกรอบแนวคิดนี้ ก็ควรนำกรอบแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้ให้ได้ในทุกระดับ ไม่ว่า จะเป็นระดับครอบครัว ระดับชุมชน ระดับเมือง ระดับประเทศ โดยเฉพาอย่างยิ่งในระดับครอบครัว และระดับชุมชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็สามารถนำกรอบแนวความคิดนี้ไปประยุกต์ใช้ได้เช่นกัน

          เพราะอะไรน่ะหรือ...ก็เพราะว่า ทุกครอบครัว และทุกชุมชน ต้องการ “ความอยู่ดี” “มีความสุข” “มีสภาพรอบ ๆ ตัว หรือสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวที่ดี” และมี “การเรียนรู้ และการจัดการที่ดี” นั่นเอง

ความคิดเห็น