วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

นราธิวาส จุดสิ้นสุดของทางรถไฟสายใต้ จุดเริ่มต้นของการพัฒนาเยาวชน จชต.

 8 มี.ค. 2565 16:59 น.    เข้าชม 2087

          ท่านทราบหรือไม่ว่า ณ ปัจจุบัน เส้นทางรถไฟในประเทศไทย มีระยะทางทั้งสิ้น 4,346 กิโลเมตร มีเส้นทางการเดินรถ จำนวน 6 เส้นทาง ได้แก่ สายตะวันออกเฉียงเหนือ, สายเหนือสายตะวันออก, สายตะวันตก, สายแม่กลอง และ สายใต้

          เส้นทางรถไฟทั้ง 6 สายนี้ ถือว่าเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในระบบการขนส่งทางราง (Rail Transport) เพื่อรองรับการขนส่งที่มีผลอย่างยิ่งต่อการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ ทำให้เกิดการหมุนเวียนของการใช้จ่าย ก่อให้การเพิ่มของศักย์เศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ และที่สำคัญที่สุดการขนส่งทางรถไฟ หรือ การขนส่งผ่านระบบรางนี้ใช้ต้นทุนในการขนส่งต่ำ เมื่อเทียบกับการขนส่งในรูปแบบอื่น ๆ เช่น ทางรถ หรือ เครื่องบิน เป็นต้น

          ดังนั้นรัฐบาลจึงได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการขนส่งทางราง (รถไฟทางคู่) จำนวนหลายโครงการ อาทิเช่น ในภาคเหนือ มีเส้นทางปากน้ำโพ-เด่นชัย เด่นชัย-เชียงใหม่ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเส้นทาง ขอนแก่น-หนองคาย ชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี และในภาคใต้ มีเส้นทาง ชุมพร-สุราษฎร์ธานี, สุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา และชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ เป็นต้น

          และเส้นทางรถไฟรางคู่ที่มุ่งสู่จุดใต้สุดของประเทศไทย แล้วผ่านไปสู่ปาดังเบซาร์ ดังที่กล่าวไปแล้วจะพลิกโฉมเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแน่นอน และที่สำคัญจะต้องมีการสร้างบุคลากรจำนวนมากมารองรับระบบการขนส่งเหล่านี้

รถไฟจะพร้อม คนต้องพร้อมก่อน

          ในการดำเนินโครงการดังกล่าว ต้องใช้งบประมาณหลักแสนล้านบาทในการก่อสร้าง และที่สำคัญที่สุด คือ จะต้องเตรียมบุคลากรมารองรับการปฏิบัติการระบบเหล่านี้ หลังจากที่โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟแล้วเสร็จ

          มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์เล็งเห็นถึงความสำคัญ และโอกาสในเรื่องของ “ความพร้อมของคน” ที่จะมารองรับระบบรถไฟรางคู่ที่เดินทางผ่านจังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่เมืองปาดังเบซาร์ ดังนั้นทางมหาวิทยาลัยฯ จึงได้เตรียมการเพื่อสร้างบุคลากรไว้รองรับระบบขนส่งทางราง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการดูแล ปฏิบัติการเกี่ยวกับระบบอาณัติสัญญาน และอื่น ๆ เป็นต้น

          จากที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า จะมีโครงการขยายเครือข่ายรถไฟรางคู่ในทุกภาคของประเทศ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีบุคลากรที่จะมารองรับเครือข่ายระบบรถไฟรางคู่ในประเทศอีกกว่า 20,000 อัตรา นอกจากนี้ยังมีความต้องการบุคลากรด้านนี้ในต่างประเทศ ทั้งในภูมิภาคอาเซียนและภูมิภาคอื่น ๆ อีกด้วย เนื่องจากมีการลงทุนระบบรถไฟในประเทศเหล่านั้น

นี่คือโอกาสของเยาวชนที่ขาดโอกาสในจังหวัดชายแดนภาคใต้

          นราธิวาส คือจุดสิ้นสุดของทางรถไฟสายใต้ แต่ด้วยบริบทการพัฒนาเครือข่ายระบบรถไฟรางคู่ ที่ได้เกิดขึ้นแล้ว และจะขยายโอกาสมากขึ้นในอนาคตนั้น จึงทำให้นราธิวาสได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญจุดหนึ่งในการพัฒนาเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

          ในอดีตเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ครอบครัวพอมีฐานะก็มักจะส่งลูกหลานไปเรียนในสถาบันการศึกษาในจังหวัดอื่น ๆ เสียเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นนี่จึงเป็นโอกาสที่ดีทีเดียวในการยกระดับคุณภาพชีวิต ของเยาวชนที่อยู่ในครอบครัวที่ไม่มีกำลังทรัพย์พอเพียงที่จะไปศึกษาในสถาบันที่อยู่ในจังหวัดอื่น และที่สำคัญเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วมีงานทำแน่นอน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

          สำหรับเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีฐานะยากจนมาก ทางมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ก็ได้เตรียมโครงการพิเศษเพื่อเปิดโอกาสให้กับเด็กที่มีฐานะยากจนมาก ได้เข้าถึงการเรียนในหลักสูตรทางด้านระบบราง ทั้งในขั้นพื้นฐาน และในขั้นสูง

          รถไฟ เป็นระบบขนส่งทางรางที่ใช้ต้นทุนต่ำ เมื่อเทียบกับการขนส่งในรูปแบบอื่น ๆ ดังนั้นจึงส่งผลดีต่อการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยสาเหตุนี้ทำให้ ณ ปัจจุบัน และในอนาคตประเทศไทยจะมีการขยายเครือข่ายการขนส่งระบบรางไปทั่วประเทศ รวมไปถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิเช่น เส้นทางหาดใหญ่-ปาดัง    เบซาร์ เป็นต้น ซึ่งการขยายตัวนี้ ส่งผลให้มีความต้องการบุคลากรเพื่อรองรับการขยายตัวของระบบการขนส่งทางรางเฉพาะในประเทศไทยกว่า 20,000 อัตรา นี่คือโอกาสดีที่กำลังเกิดขึ้นกับเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งเป็นสถาบันศึกษาสำคัญในจังหวัดนราธิวาสได้เล็งเห็นประโยชน์ และกำลังดำเนินการเปิดสอนหลักสูตรวิชาชีพในเรื่องระบบราง เพื่อรองรับความต้องการดังกล่าวข้างต้น และสิ่งที่จะเกิดขึ้นมานี้ ย่อมจะเป็นกุญแจสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และหยุดภาวะความยากจนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ความคิดเห็น