วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2567

เรือนอุ่นใจศรีญาฮา โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา จังหวัดยะลา

 22 มี.ค. 2565 22:00 น.    เข้าชม 5348

          ทุกคนในโลกนี้ล้วนแล้วแต่ต้องการมีสุขภาพที่ดี ร่างกายแข็งแรงปราศจากโรคภัยทั้งหลายทั้งปวง แต่ก็เป็นเรื่องปกติ ที่คน ๆ หนึ่งจะต้องประสบกับโรคภัยไข้เจ็บมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล และเมื่อคน ๆ หนึ่ง เกิดอาการเจ็บป่วย และจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตามสถานพยาบาลต่าง ๆ ซึ่งอาจจะเป็นคลินิก หรือ เป็นโรงพยาบาล แต่การไปโรงพยาบาลอาจจะเป็นสิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ชอบใจนัก เนื่องจากบรรยากาศของโรงพยาบาล อาทิ พื้นที่พักคอย มักจะทำให้ผู้คนที่เข้าไปติดต่อเกิดความรู้สึกที่ไม่ค่อยสดชื่นแจ่มใสเท่าใดนัก ประกอบกับบรรยากาศของโรงพยาบาล   มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดความรู้สึกหดหู่ เนื่องจากภาพที่ปรากฏส่วนใหญ่มักจะเป็นภาพของผู้คนที่กำลังป่วยไข้ไม่สบาย จะดีแค่ไหน ถ้าพื้นที่พักคอยในโรงพยาบาล ไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกหดหู่ แต่เป็นสถานที่ทำให้เกิดความสบายใจ และ สามารถรองรับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของผู้มาใช้บริการได้อย่างหลากหลาย มีฟังก์ชันการใช้งานที่สะดวกสบาย และยังสะท้อนเอกลักษณ์ วัฒนธรรมชุมชนได้อย่างภาคภูมิใจ

          และในช่วงปี 2560-2564 แนวความคิดนี้ ได้ถูกก่อร่างสร้างสรรค์เป็นโครงการเพื่อยกระดับสุขภาวะของผู้คน ผ่านการดำเนินการภายใต้แนวคิด “21 ไอเดีย 21 พื้นที่แห่งความสุข” ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชทั่วไทย ภายใต้การสนับสนุนของ กลุ่มเครือซีเมนต์ไทย (SCG) และ 1 ใน 21 พื้นที่แห่งความสุข ก็คือ “เรือนอุ่นใจศรีญาฮา” โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา จังหวัดยะลา

มองชุมชนแบบคนธรรมดา เพื่อสร้างสิ่งที่ไม่ธรรมดา

          กลุ่มผู้ออกแบบที่พักคอยให้กับโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา จังหวัดยะลา ที่ประกอบด้วย กลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์เพื่อสุขภาวะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และภาคเครือข่ายสถาปนิกมุสลิมเพื่อชุมชน ได้ร่วมกันออกแบบพื้นที่พักคอยดังกล่าว เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คนในชุมชนหนึ่ง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม หรือ ที่เราเรียกกันว่า “พหุวัฒนธรรม”  เฉกเช่น สังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เป็นสิ่งที่ต้องคิดอย่างลึกซึ้ง และรอบคอบในเชิงสถาปัตยกรรม เนื่องจาก สถาปัตยกรรมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคม กระบวนการออกแบบพื้นที่พักคอยข้างต้น ใช้กระบวนการแบบมีส่วนร่วม โดยลงพื้นที่ไปสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งเป็นผู้ที่เข้ามาใช้บริการในโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย รวมไปถึงการทำกิจกรรมการมีส่วนร่วมกับบุคลากร แพทย์ พยาบาล และ เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลในการออกแบบที่สะท้อนความต้องการของผู้ใช้งานให้ได้มากที่สุด

การออกแบบที่เน้นพหุวัฒนธรรม ทุกคน ทุกศาสนาในชุมชนใช้ได้

          ภายใต้กระบวนการออกแบบมีส่วนร่วม โดยยึด “ชุมชน” ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติ ภาษา ศาสนา และวัฒนธรรม จึงทำให้ผลลัพธ์ที่ได้จากการออกแบบ นั่นคือ “เรือนอุ่นใจศรีญาฮา” มีการหลอมรวมความเป็นพหุวัฒนธรรมได้อย่างลงตัว

          ความหลอมรวมดังกล่าว ส่งผลให้ “เรือนอุ่นใจศรีญาฮา” สามารถรองรับการใช้ได้ให้กับผู้คนในทุกศาสนา ผู้คนทั้งที่เป็นคนไข้ ญาติคนไข้ และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล

เรือนอุ่นใจศรีญาฮา อาคารที่ไม่ได้สร้างแค่ความอุ่นใจ

          ในที่สุด “เรือนอุ่นใจศรีญาฮา” ก็ได้ถูกก่อสร้างขึ้นมาตามการออกแบบของ “กลุ่มสถาปนิกมุสลิมเพื่อชุมชน” ด้วยการปรับปรุงอาคารสหกรณ์เดิม ให้กลายเป็นโรงอาหารเรือนอุ่นใจศรีญาฮา ที่มีการแบ่งฟังก์ชันการใช้งานเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน

          ชั้นล่างถูกออกแบบ และก่อสร้างให้เป็นลานกว้างสำหรับนั่งรับประทานอาหาร ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมของชาวบ้านที่จะนำอาหารมารับประทานกันเองในกลุ่มครอบครัวเครือญาติ

          พื้นที่บริเวณชั้นลอยถูกออกแบบ และก่อสร้างให้เป็นที่รับประทานอาหารของบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งเป็นสถานที่รองรับวิทยากรและผู้เข้ารับฟังการบรรยาย ในกรณีที่โรงพยาบาลจัดกิจกรรม นอกจากนี้ยังมีลานอเนกประสงค์สำหรับจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้ด้านสุขภาวะแก่ผู้ใช้บริการของโรงพยาบาลด้วย

          “เรือนอุ่นใจศรีญาฮา” เปรียบได้ดั่งสังคมเล็ก ๆ สังคมหนึ่ง ที่ก่อให้เกิดประโยชน์มากมาย ตรงต่อความต้องการของผู้คนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้คนเหล่านี้มีความเป็นพหุวัฒนธรรม เนื่องจากการสร้างสรรค์ “เรือนอุ่นใจศรีญาฮา” นั้นถูกสร้างขึ้นมาด้วยการยึด “ชุมชน” เป็นหัวใจ

          ในทำนองเดียวกันหากเราจะสร้างสังคมดี ๆ สังคมที่อุ่นใจขึ้นมา การสร้างสังคมนี้ ก็คงไม่แตกต่างกับการสร้าง “เรือนอุ่นใจศรีญาฮา” นั่นคือ การสร้างสังคมดี ๆ นั้น ย่อมต้องยึด “ผู้คน” ในสังคมนั้นเป็น “หัวใจ”

ความคิดเห็น