วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ.2567

จาก 4 ชั่วโมง เหลือ 40 นาที เวลาลดลง แต่ความมั่นคงเพิ่มขึ้น

 23 มี.ค. 2565 10:34 น.    เข้าชม 5707

          คงจะมีน้อยคนที่ไม่รู้จักประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ประเทศเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ในทวีปยุโรป ซึ่งเต็มไปด้วยมนตร์ขลัง ของธรรมชาติที่งดงาม ไม่ว่าจะเป็นเทือกเขาที่สูงตระหง่าน ทะเลสาบที่งามตา คุณภาพอากาศที่ยอดเยี่ยมอันดับหนึ่งของโลก หากใครที่ได้ไปเยือนสักครั้ง ก็จะไม่มีวันลืมเลือนไปชั่วชีวิต

          แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า เราไม่จำเป็นจะต้องเดินทางไปถึงประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เพราะในเมืองไทยของเราก็มีสถานที่ที่มีความสวยงามที่เต็มไปด้วยธรรมชาติที่งดงาม ท่ามกลางเทือกเขาที่เปี่ยมไปด้วยความสมบูรณ์ของธรรมชาติ มีคุณภาพอากาศที่ดีสุด ๆ ไม่แพ้ “สวิสเซอร์แลนด์” และสถานที่แห่งนี้อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของเรานี่เอง

          “เบตง” หรือ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา อำเภอหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ สถานที่ที่ได้กล่าวถึงไว้ในข้างต้น ซึ่งได้รับการขนานนามว่า “สวิตเซอร์แลนด์เมืองไทย”

4 ชั่วโมง บนเส้นทางสู่ “เบตง” เมืองในหมอก

          เบตง หรือที่คนในท้องถิ่นเรียกว่า “บือตง” เป็นอำเภอที่มีขนาดใหญ่ที่อยู่ในจังหวัดยะลา นับเป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ใต้สุดของประเทศไทย โดยมีลักษณะเป็นหัวหอกยื่นเข้าไปในประเทศมาเลเซีย ตั้งอยู่ในแนวทิวเขาสันกาลาคีรี มีเนื้อที่ประมาณ 1,328 ตารางกิโลเมตร ห่างจากตัวเมืองยะลาประมาณ 140 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 1,220 กิโลเมตร ด้วยภูมิประเทศของอำเภอเบตงส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง จึงทำให้เบตงมีอากาศดี และมีหมอกตลอดปี ดังคำขวัญประจำอำเภอที่ว่า “เมืองในหมอก ดอกไม้งาม ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน”

          จากการที่เบตงมีที่ตั้งอยู่ในบริเวณทิวเขาสันกาลาคีรี ดังนั้นจึงทำให้เกิดเดินทางจากจังหวัดสงขลา ไปสู่เบตงนั้นต้องใช้เวลากว่า 4 ชั่วโมง เนื่องจากต้องเดินทางผ่านเส้นทางถนนที่คดเคี้ยว มีโค้งนับร้อย ๆ โค้ง ที่ค่อนข้างอันตราย และที่สำคัญต้องมีการไต่ความสูงชันเป็นระยะ จนถึงกว่า 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล

ถึงอยู่ไกล แต่ศักยภาพทางเศรษฐกิจล้นเหลือ

          จากลักษณะทางภูมิประเทศ และภูมิอากาศ จึงทำให้เบตงมีความโดดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวในด้านการท่องเที่ยว อาทิเช่น การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จนในที่สุด เกิดการผลักดันให้เบตง ก้าวสู่การเป็น “เมืองต้นแบบเบตง สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ” ที่มีความโดดเด่น และมีความเป็นเลิศในเรื่องเศรษฐกิจฐานราก รวมทั้งเครือข่ายอุตสาหกรรมบริการ ที่จะสร้างโอกาสในการสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งสามารถเชื่อมโยงศักยภาพนี้ไปสู่จังหวัดอื่น ๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และที่สำคัญที่สุดสถาบันการศึกษา ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิเช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา สามารถพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเป็นการเฉพาะ เพื่อใช้ในการสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก และอุตสาหกรรมบริการในจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย

ก่อกำเนิดโครงการท่าอากาศยาน เบตง

          ความโดดเด่นทางธรรมชาติ ก่อให้เกิดศักยภาพในด้านการท่องเที่ยว แต่ในทางตรงกันข้ามความโดดเด่นทางธรรมชาติก็ก่ออุปสรรคในการเดินทาง ดังนั้นหากต้องการใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างมหาศาลของเบตง จำเป็นจะต้องลดอุปสรรคในเรื่องการเดินทาง

          ในปี 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานเบตง มูลค่าโครงการกว่า 1,900 ล้านบาท โดยมีกรมท่าอากาศยานเป็นผู้ดำเนินการ ใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 6 ปี (ตุลาคม 2558 - กันยายน 2563)

          การดำเนินการโครงการมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ประสบปัญหาในเรื่องทางเทคนิค อาทิเช่น ความเหมาะสมของทางวิ่ง, เส้นทางทางบิน และการขึ้นลงของอากาศยาน การให้บริการเติมน้ำมันอากาศยาน รวมไปถึงการคิดอัตราค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ซึ่งอย่างไรก็ตามหน่วยงานที่รับผิดชอบและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ก็ได้ร่วมกันแก้ไขจนปัญหาต่าง ๆ จนสำเร็จลุล่วงไปได้

จาก 4 ชั่วโมง เหลือ 40 นาที

          และในที่สุด “สนามบินเบตง” ก็พร้อมเปิดอย่างเป็นทางการใน ก.พ. 65 โดยจะเป็นสนามบินแห่งที่ 29 ของกรมท่าอากาศยาน ที่ผ่านมาตรฐาน Public Aerodrome Operating Certificate (PAOC) ไม่ว่าจะเป็นความพร้อม ในเรื่องกายภาพ, ความพร้อมในเรื่องอุปกรณ์, ความพร้อมในเรื่องบุคลากร และความพร้อมในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวก

          ในส่วนของเส้นทางการบริการ จะมีด้วยกัน สองเส้นทาง ได้แก่ หาดใหญ่-เบตง-หาดใหญ่ และ ดอนเมือง-เบตง-ดอนเมือง

          การเดินทางโดยเครื่องบินจากสงขลาสู่เบตงนั้นจะใช้เวลา 40 นาที ซึ่งจากเดิมการเดินทางโดยรถยนต์ ใช้เวลากว่า 4 ชั่วโมงบนเส้นทางที่ค่อนข้างอันตราย

          สำหรับขีดความสามารถ (Capacity) ของสนามบินเบตง ได้แก่ มีทางวิ่งขนาด 30 x 1,800 เมตร, อาคารที่พักผู้โดยสาร สามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารได้ 300 คนต่อชั่วโมง หรือประมาณ 800,000 คนต่อปี, รองรับอากาศยานขนาดไม่เกิน 80 ที่นั่ง ลานจอดเครื่องบินรองรับได้จำนวน 3 ลำ และมีที่จอดรถ 140 คัน

          ดังที่กล่าวไปแล้วว่า “เบตง” หรือ “สวิสเซอร์แลนด์เมืองไทย” เป็นเมืองที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงมาก อย่างไรก็ตามอาจจะติดอุปสรรคในเรื่องการเดินทางเข้าถึง แต่เมื่ออุปสรรคนี้ถูกขจัดไป เมืองเบตงเป็นเมืองที่เปี่ยมไปด้วยศักยภาพทั้งด้านการท่องเที่ยว อาทิเช่น Sky Walk และอาหารรสเลิศ ผลไม้ที่หลากหลาย และด้านการค้าชายแดน ซึ่งในอนาคต จะถูกขยายผลไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านผ่านการขนส่งทางอากาศ และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นของเบตง ก็จะเป็นกลไกสำคัญอีกกลไกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

ความคิดเห็น