วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2567

เทคโนโลยี ฝืมือคนไทย สนับสนุนมาตรการ รปภ.ชีวิต/ทรัพย์สินในพื้นที่ จชต.

 23 มี.ค. 2565 11:11 น.    เข้าชม 5689

          ในภาพรวม เมื่อเราพูดถึงเทคโนโลยี เรามักจะเห็นภาพสิ่งใดๆ ที่มนุษย์สร้าง หรือ พัฒนาขึ้นมา ซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้งชิ้นงาน หรือ วิธีการ หรือ กระบวนการ เพื่อใช้แก้ไขปัญหา หรือ ตอบสนองความต้องการ หรือ เพิ่มขีดความสามารถในการทำงานของมนุษย์ และส่งผลให้ชีวิตของคนเราให้ดีขึ้น

          หากเรามองเทคโนโลยีแบบเฉพาะเจาะจงลงไปในแต่ละด้าน ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีในเรื่องการรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน เราจะเห็นได้ว่าในโลกปัจจุบันหน่วยงาน และองค์กร ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ และเอกชนเป็นจำนวนมาก ได้สร้างสรรค์เทคโนโลยีใหม่ๆ มาสนับสนุนการรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน ส่งผลให้ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของการรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินเหล่านี้ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่เทคโนโลยีเหล่านี้ ค่อนข้างมีราคาแพง จึงยากที่จะจัดหามาใช้ ภายใต้ข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ

          อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีหน่วยงานหนึ่งที่ชื่อว่า “สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.)” ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงกลาโหม ทำหน้าที่ในการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ได้ดำเนินการวิจัย และพัฒนาต้นแบบเทคโนโลยี จำนวน 2 ต้นแบบ เพื่อสนับสนุนมาตรการรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน ให้กับ หน่วยงานด้านความมั่นคงที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ จชต.

          ต้นแบบเทคโนโลยีที่กล่าวถึงข้างต้น ได้แก่ ระบบสารสนเทศแบบรวมศูนย์ และโปรแกรมประยุกต์ และ หุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด (EOD ROBOT) และได้ส่งมอบต้นแบบทั้งสองให้กับ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ไปทดลองใช้แล้ว เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา

7 ปี แห่งการร่วมกันวิจัย และพัฒนา

          สทป. และ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ได้ริเริ่มโครงการวิจัย และพัฒนาระบบสารสนเทศแบบรวมศูนย์ และโปรแกรมประยุกต์ และ โครงการวิจัย และพัฒนาหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด (EOD ROBOT) โดยได้ร่วมกันวิจัย และพัฒนาโครงการดังกล่าวตั้งแต่ปี 2559 หรือ เมื่อ 7 ปีที่แล้ว

          การวิจัย และพัฒนา เริ่มต้นจากการร่วมกันกำหนดโจทย์วิจัย การศึกษาแนวทางปฏิบัติ การแสวงหาความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ที่มีขีดความสามารถ และศักยภาพ เพื่อบูรณาการองค์ความรู้ และประสบการณ์ รวมถึงร่วมกันทดสอบ ทดลอง และประเมินผล เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ และเป้าหมายที่กำหนดไว้ จนในที่สุดก็สามารถพัฒนาต้นแบบได้สำเร็จ และพร้อมส่งมอบในเดือนมีนาคม 2565

ระบบสารสนเทศแบบรวมศูนย์ และโปรแกรมประยุกต์

          สำหรับต้นแบบแรกที่จะมาช่วยสนับสนุนภารกิจตามมาตรการรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน ให้กับ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ยกตัวอย่างเช่น ภารกิจเฝ้าตรวจของด่านตรวจต่างๆ ก็คือ ระบบสารสนเทศแบบรวมศูนย์ และโปรแกรมประยุกต์ ซึ่งเป็นระบบที่มีขีดความสามารถในการเฝ้าตรวจติดตาม แจ้งเหตุผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ สำหรับองค์ประกอบของระบบฯ นี้ ประกอบด้วย

  1. ระบบตรวจสอบป้ายทะเบียนยานพาหนะสำหรับใช้งานกับโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน (Smart Phone) และ Smart Phone ต้นแบบ พร้อมใช้งาน
  2. ระบบอ่านป้ายทะเบียนยานพาหนะแบบเคลื่อนย้ายได้ ที่มีประสิทธิภาพสูง
  3. ระบบวิเคราะห์ และแสดงผล เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจด้านบังคับใช้กฎหมายหรือการข่าว

หุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด (EOD ROBOT)

          ต้นแบบที่สอง ที่จะมาช่วยสนับสนุนภารกิจตามมาตรการรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน ให้กับ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ยกตัวอย่างเช่น ชุด EOD ก็คือ หุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด

          สำหรับองค์ประกอบของหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด ประกอบด้วย

  1. หุ่นยนต์ตรวจการณ์ขนาดเล็ก D-EMPIR V.4
  2. หุ่นยนต์ตรวจการณ์ขนาดพกพา Noonar V.4

          ต้นแบบงานวิจัยทั้งสองโครงการ ได้ถูกวิจัย และพัฒนาขึ้นโดยนักวิจัยคนไทย ด้วยความเข้าใจ และเข้าถึงโดยยึดหลักเพื่อตอบสนองความต้องการของหน่วยผู้ใช้งาน (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภารกิจของหน่วยผู้ใช้ นั่นคือ ภารกิจการเฝ้าตรวจติดตาม ภารกิจการบังคับใช้กฎหมาย และการข่าว

ความคิดเห็น