วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2567

การสื่อสารทางยุทธศาสตร์เพื่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

 4 เม.ย. 2565 15:29 น.    เข้าชม 7425

พ.อ.หญิง สุดนารี สุนทรเมือง

บทนำ

          ปรากฏการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นปัญหาที่สั่งสมมาเป็นเวลานานและมีความซับซ้อน ละเอียดอ่อนและเชื่อมโยงกันหลายมิติ ปัจจัยหลักที่ถูกนำมาเป็นเงื่อนไขของปัญหา คือ ชาติพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากสภาพของปัญหาสามารถแยกออกเป็น ปัญหาการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งเป็นปัญหาหลักและปัญหาภัยแทรกซ้อนที่เป็นปัญหาสนับสนุน คอยซ้ำเติมและเสริมให้ปัญหาหลักมีความรุนแรงยิ่งขึ้น1 ปัจจุบัน สถานการณ์ในพื้นที่มีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ นับตั้งแต่ปี 2555 สถิติเหตุการณ์และการสูญเสียลดลง อย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความพยายามในการก่อเหตุ โดยได้ปรับเปลี่ยนวิธีและรูปแบบในการก่อเหตุ มาในรูปแบบการสื่อสาร โดยกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง กลุ่มต่อต้านรัฐบาล ได้ใช้การสื่อสารในรูปแบบสื่อออนไลน์ ผ่านทางเฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ เพื่อให้เข้าถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็ว และเกิดเป็นกระแสในสังคมได้มากยิ่งขึ้น โดยข้อความต่าง ๆ มักจะเป็นการบิดเบือนการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ จนกลายเป็นข่าวลือและพัฒนาไปสู่ ความเชื่อในที่สุด นอกจากนี้กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงยังเน้นการเคลื่อนไหวในเวทีระหว่างประเทศ โดยการใช้การปฏิบัติการ ข่าวสารและการโฆษณาชวนเชื่อทำลายภาพลักษณ์ของรัฐบาลและประเทศ มีจุดประสงค์เพื่อโน้มน้าวให้ประชาคมโลก เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ถือเป็นการบ่อนทำลายเสถียรภาพของรัฐและความมั่นคงของชาติ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ควรให้ความสำคัญตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ได้ระบุว่า “การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร” หมายถึง การดำเนินการเพื่อป้องกัน ควบคุม แก้ไข และฟื้นฟู สถานการณ์ใดที่เป็นภัยหรืออาจเป็นภัย อันเกิดจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ก่อให้เกิดความไม่สงบสุข ทำลาย หรือทำความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐ ให้กลับสู่สภาวะปกติ เพื่อให้เกิดความสงบ เรียบร้อยของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ2 จะเห็นได้ว่า ปัจจัยสำคัญที่จะมุ่งเน้นขจัดความหวาดกลัว/หวาดระแวง และลดเงื่อนไขของรัฐไม่ให้เกิดปัญหาใหม่ โดยการเสริมสร้างความเข้าใจ และความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชน ทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งนานาประเทศ คือ การสื่อสารที่ถูกต้อง และชัดเจน และสามารถสร้างความเข้าใจกับประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ครบถ้วน คำว่า การสื่อสารทางยุทธศาสตร์ (Strategic Communication) จึงเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ เพื่อบริหารการสื่อสาร ให้องค์กรสามารถบรรลุถึงเป้าหมาย ทางยุทธศาสตร์ได้อย่างราบรื่น ผ่านการใช้ข้อมูลข่าวสารที่สอดคล้อง ผ่านช่องทางที่เหมาะสม ไปยังกลุ่มเป้าหมาย อย่างถูกที่ ถูกเวลา เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์หรือเป้าหมายในระยะยาว

ความสำคัญของการสื่อสารทางยุทธศาสตร์

          การสื่อสารทางยุทธศาสตร์ (Strategic Communication : SC) มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเติบโต ทางเทคโนโลยีการสื่อสารในโลกยุคศตวรรษที่ 21 และในอนาคต และมีแนวโน้มทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากความก้าวหน้าด้านสารสนเทศและการสื่อสารในโลกที่แปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยอำนาจด้านสารสนเทศ และสื่อ (Information and media) ได้เปลี่ยนผ่านจากภาครัฐ ไปสู่ภาคเอกชนและภาคประชาชน สารสนเทศ และสื่อมีอิทธิพลต่อความคิดเห็น ความเชื่อ และการตอบสนองของประชาชนในระดับชาติและระดับนานาชาติ อย่างกว้างขวาง เนื่องจากการเชื่อมต่อข้อมูลโดยสมบูรณ์จนทำให้การกระจายตัวของข่าวสารมีความรวดเร็ว แบบ Real time ปรากฏการณ์นี้ทำให้สื่อที่ผ่านทางระบบสื่อสารโทรคมนาคม โดยเฉพาะทางอินเทอร์เน็ต มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ ในระดับชาติแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงทำให้มิติด้านความมั่นคงเปลี่ยนแปลง ไปอย่างมาก ดังนั้น หน่วยงานด้านความมั่นคงและกองทัพจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องปรับตัว และเสริมสร้างขีดความสามารถ โดยตระหนักถึงการวางยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในการใช้ประโยชน์และตอบโต้สงครามสารสนเทศและสื่อ ด้วยการสร้างเส้นทางเดิน (Roadmap) ในเชิงยุทธศาสตร์ของการสื่อสารทางยุทธศาสตร์ (SC) และการปฏิบัติการข่าวสาร (Roadmap of Strategic Communication and Information Operations) เพื่อการปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล (Effectiveness) สูงสุด

การสื่อสารทางยุทธศาสตร์ (Strategic Communication) คืออะไร

          การสื่อสารทางยุทธศาสตร์ (Strategic Communication : STRATCOM) เปรียบเสมือนเครื่องมือ ที่ผสมผสานการดำเนินงานเชิงบูรณาการ เพื่อสร้างความเข้าใจ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำมาซึ่งความเชื่อมั่น ความร่วมมือ ความไม่ต่อต้าน และความศรัทธาให้สาธารณชนได้อย่างยั่งยืน การสื่อสารทางยุทธศาสตร์ คือ “ความพยายามของรัฐบาลที่มุ่งทำความเข้าใจและปฏิบัติต่อเป้าหมายหลักเพื่อสร้างเสริมรักษาสภาวการณ์ หรือเงื่อนไขที่สนับสนุน และความก้าวหน้าของผลประโยชน์ นโยบาย และวัตถุประสงค์ของรัฐบาล โดยอาศัย การใช้โครงการ แผน หัวข้อ ข้อความ ที่ประสานสอดคล้องกับการปฏิบัติทุกส่วนในมิติกำลังอำนาจแห่งชาติ เพื่อ สร้างผลกระทบต่อทัศนคติ และพฤติกรรมของเป้าหมาย” และผลผลิตที่ประสานสอดคล้องกับการปฏิบัติของ เครื่องมือ Information Operations: IO เป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดแนวคิดทางยุทธศาสตร์ของผู้นำ องค์กรจากระดับนโยบายไปสู่การปฏิบัติ กระทั่งบรรลุเป็นผลสัมฤทธิ์ตามที่กำหนดไว้ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญใน การบริหารจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด การสื่อสารทางยุทธศาสตร์ถือเป็นการ สื่อสารที่พยายามกระจายข้อมูลอย่างมีวาระ นัยยะ และแม่บทแบบแผน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วซึ่งโดยทั่วไปแล้ว แม่บทแบบแผนนี้จะกระตุ้นให้ผู้คนดำเนินการหรือให้การสนับสนุนสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นการเฉพาะ3

          STRATCOM ถือเป็นความพยายามของรัฐบาลที่มุ่งทำความเข้าใจและปฏิบัติต่อเป้าหมาย เพื่อรักษา ผลประโยชน์แห่งชาติ สนับสนุนนโยบาย และวัตถุประสงค์ของรัฐบาล โดยอาศัยพลังอำนาจแห่งชาติ (การทูต, ข้อมูลข่าวสาร, การทหาร และเศรษฐกิจ) ซึ่งผู้นำหรือผู้บัญชาการระดับสูงใช้ STRATCOM ทั้งในการชี้นำ (directing) และบูรณาการเชื่อมโยง (Integrated) ข้อมูล และเครื่องมือระหว่างกัน และหากพิจารณาในมิติความมั่นคง และการป้องกันประเทศแล้ว STRATCOM ต้องอาศัยนโยบายและยุทธศาสตร์ที่น่าเชื่อถือ และจำเป็นต้องออกแบบ ให้สอดคล้องกัน ตั้งแต่ระดับยุทธศาสตร์ (Strategic level) ไปสู่ระดับยุทธการ (Operation level) และระดับยุทธวิธี (Tactical level) ภายใต้ยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศ 20 ปี ของกระทรวงกลาโหม และการปฏิรูปกองทัพ4

          กองทัพบก สหรัฐอเมริกา ให้คำจำกัดความ STRATCOM ว่า “การขับเคลื่อน ผลประโยชน์ของชาติ โดยใช้ประโยชน์จากความหมายของคำว่า ป้องกันเพื่อชักนำ หรือโน้มน้าวทัศนคติและพฤติกรรมของผู้คน”

          กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) ให้คำจำกัดความ STRATCOM ว่า “ความพยายามของรัฐบาลที่มุ่ง ต่อการทำความเข้าใจ และปฏิบัติต่อเป้าหมายหลัก เพื่อสร้างเสริมหรือรักษาสภาวการณ์หรือเงื่อนไขที่สนับสนุน และความก้าวหน้า ของผลประโยชน์ นโยบาย และวัตถุประสงค์ของรัฐบาล โดยอาศัยการใช้โครงการ แผน หัวข้อ ข้อความ และผลผลิตที่ประสานสอดคล้องกับการปฏิบัติของเครื่องมือ ทั้งหมดของพลังอำนาจแห่งชาติ”

          วิทยาลัยเสนาธิการทหาร สถาบันวิชาการปองกันประเทศ (วสท.สปท.) ใช้คำจำกัดความ STRATCOM ตามแบบของ บก.ทท.

          สถาบันจิตวิทยาความมั่นคง สถาบันวิชาการปองกันประเทศ(สจว.สปท.) ให้คำจำกัดความ STRATCOM ว่า “เป็นองค์ประกอบในการปฏิบัติของรัฐบาลที่มีการมุ่งเน้นความเข้าใจ และการปฏิบัติต่อเป้าหมายสำคัญ เพื่อเสริมสร้างรักษาสภาวะ สนับสนุนประโยชน์ นโยบาย และวัตถุประสงค์ของรัฐบาล ผ่านแผนโครงการ ที่มีการประสานกัน และผลผลิตที่สอดคล้องกับการปฏิบัติทุกส่วนของกำลังอำนาจแห่งชาติ”

          ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ (ศศย.สปท.) ได้ให้คำจำกัดความ การสื่อสาร ทางยุทธศาสตร์ (Strategic Communication : SC) หมายถึง “ความพยายามของรัฐบาลในการปฏิบัติการที่มุ่ง ต่อการทำความเข้าใจ และปฏิบัติต่อเปาหมายสำคัญ เพื่อเสริมสร้างหรือรักษาสภาวการณ์หรือเงื่อนไขที่สนับสนุน ผลประโยชน์นโยบาย และวัตถุประสงค์ของรัฐบาล โดยอาศัยการใช้โครงการ แผนงาน หัวข้อ ข้อความ และผลผลิต ที่ประสานสอดคล้องกับ การปฏิบัติทุกส่วนในมิติพลังอำนาจแห่งชาติ”

ความแตกต่างระหว่าง IO กับ SC

          ในภาพรวม SC (Strategic Communication) จะเกี่ยวข้องกับเรื่องยุทธศาสตร์ และความมั่นคงของชาติ และเป็นกระบวนการคิดที่เป็นระบบ ขณะที่ IO (Information Operations) จะดำเนินการเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย

          IO หรือ Information Operations เป็นการปฏิบัติการด้าน “ข้อมูลข่าวสาร” เพื่อสร้างผลกระทบ ต่อการคิดตัดสินใจของฝ่ายตรงข้าม หรือ สร้างอิทธิพลต่อการคิด การตกลงใจ จากข้อมูลข่าวสารและระบบสารสนเทศ ของฝ่ายตรงข้ามซึ่งโดยหลักการแล้ว IO มีความเกี่ยวพันกับหลักการการปฏิบัติการด้านการข่าวทางทหาร ซึ่งเป็นแนวคิดจากการบูรณาการสงครามการควบคุมบังบัญชา (Command and Control Warfare) และสงครามสารนิเทศ (Information Warfare) ของกองทัพสหรัฐฯ เป็นหลักการที่ออกเป็นเอกสารอย่างเป็นทางการ ครั้งแรก โดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาในปี 2003 อนุมัติหลักการโดย นายโดนัล รัมส์เฟล (Donald Rumsfeld) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐในขณะนั้น5

          ขณะที่เอกสารศึกษาเฉพาะกรณี“การสื่อสารทางยุทธศาสตร์ (Strategic Communication : SC) และการปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operations : IO) ของกองทัพไทย : แนวทางการดำเนินงานในอนาคต” ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ อธิบายว่าการปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operations : IO) หมายความว่า “การสนธิการปฏิบัติต่าง ๆ ที่มุ่งสร้างผลกระทบหรือมีอิทธิพลต่อข้อมูลข่าวสาร สารสนเทศ ระบบข้อมูล ข่าวสาร สารสนเทศ กระบวนการคิดหรือกระบวนการตกลงใจของฝ่ายตรงข้าม หรือกลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ ทั้งที่กระทำโดยมนุษย์ และระบบอัตโนมัติ) ขณะเดียวกันก็เป็นการปฏิบัติการเพื่อป้องกัน ไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามกระทำต่อฝ่ายเราในลักษณะเดียวกัน” การปฏิบัติการข่าวสารที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นการปฏิบัติ ทั้งเชิงรุกและเชิงรับอย่างประสานสอดคล้อง เพื่อสร้างความได้เปรียบด้านสารสนเทศ ณ จุดที่ต้องการผลแตกหัก โดยการปฏิบัติการข่าวสารเป็นการนำเอาพันธกิจการปฏิบัติการทางทหารหลายประการมาบูรณาการในฐานะ เป็นองค์ประกอบ IO อาจจะใช้ข่าวสาร เพื่อเขย่าการรับรู้ ทำลายขวัญและกำลังใจของฝ่ายตรงข้าม ทำลาย ความน่าเชื่อถือ ดังตัวอย่างข่าว“กอ.รมน. เผยเอกสารที่ฝ่ายค้านนำมาอภิปรายในสภา เป็นเอกสารจริงเมื่อปี 60-62 ที่นำเสนอเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณางบปี 63 หวังผลแก้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้”6 ดังนั้น จึงมีความจำเป็น อย่างยิ่ง ในการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อสนับสนุนให้การแก้ไขปัญหา ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน7 ดังตัวอย่างข่าว IO ที่ยกมาให้เห็น จะพบว่า IO มักจะถูกหยิบยกมาใช้ในการทำลาย ความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้าม ขณะที่ SC การสื่อสารทางยุทธศาสตร์ จะมุ่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน นำไปสู่ความสำเร็จ โดยไม่ต้องมีใครเป็นฝ่ายพ่ายแพ้แต่เพื่อสนับสนุนให้ภารกิจขององค์กรลุล่วงไปด้วยดี

แนวทางการสื่อสารทางยุทธศาสตร์และการวางแผน

          จากความหมายของการสื่อสารทางยุทธศาสตร์ที่กล่าวมา ทำให้เราสามารถทำความเข้าใจกับแนวความคิด ของการสื่อสารทางยุทธศาสตร์ ได้ว่า การสื่อสารทางยุทธศาสตร์มิใช่เรื่องของการตลาด หรือความสัมพันธ์ กับ สาธารณะ ธุรกิจ การโฆษณา สื่อมวลชน ปฏิบัติการจิตวิทยา สังคมจิตวิทยา การสื่อสารในสังคม แต่เป็นการเลือก และนำสิ่งเหล่านี้ มาบูรณาการ ประสานงาน รวมทั้ง นำไปสู่การปฏิบัติ และบริหารจัดการแหล่งทรัพยากรต่าง ๆ จนเราอาจกล่าวได้ว่า การสื่อสารทางยุทธศาสตร์ จึงเป็นการบูรณาการหลักการทางยุทธศาสตร์เข้ากับหลักการ สื่อสารมวลชนเข้าด้วยกัน (Guerrero-Castro, 2013) และ สำหรับหน่วยงานด้านความมั่นคงแล้ว การสื่อสาร ทางยุทธศาสตร์ ถือว่าเป็นงานในระดับยุทธศาสตร์ ที่จะต้องมี Means Ends Ways ที่จะต้องตอบสนอง ต่อผลประโยชน์ชาติด้านการป้องกันประเทศ และความมั่นคงเสมอ

          ในการวางแผนการสื่อสารทางยุทธศาสตร์ มีหลายแนวทางที่ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยชาติต่างๆสหราชอาณาจักร พยายามที่จะบูรณาการแนวความคิดการสื่อสารทางยุทธศาสตร์ในยุทธศาสตร์ชาติการปฏิบัติการเพื่อเสถียรภาพ (Stability Operations) การต่อต้านและตอบโต้การสร้างแนวคิดรุนแรง และความมั่นคงทางไซเบอร์ ซึ่งต่างก็มีแนวทาง ในการดำเนินการที่เฉพาะเจาะจงลงไป (A Chatham House Report, 2011) รัฐบาล และกองทัพสหรัฐฯ ก็พยายามกำหนดแนวทางในการดำเนินการสื่อสารทางยุทธศาสตร์โดยกำหนดให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่ดำเนินงานในด้านการทูตสาธารณะ งานกิจการสาธารณะ และการปฏิบัติการจิตวิทยา รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง กับความร่วมมือด้านความมั่นคง ที่แม้จะมีเป้าหมายเฉพาะที่แตกต่างกันออกไป แต่ก็จะต้องอยู่ภายใต้กรอบ กิจกรรมของรัฐบาล ที่จะต้องตอบสนองต่อวัตถุประสงค์แห่งชาติ และสนับสนุนการสื่อสารทางยุทธศาสตร์เสมอ (Bart Stovicek, 2007) องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) กำหนดแนวทางในการวางแผนการสื่อสารทางยุทธศาสตร์ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเริ่มจากการกำหนดวัตถุประสงค์ การวิเคราะห์กิจกรรม การกำหนดเป้าหมายผู้รับสาร การกำหนดสาระของสาร ที่ต้องการสื่อไปในแต่ละเป้าหมาย การวิเคราะห์เครือข่ายในการสื่อสาร การกำหนดช่องทาง ในการสื่อสารลงไปในแต่ละระดับ และการประเมิน ผลกระทบ (Federal Ministry for Economic Cooperation and Development, 2006) องค์กรและนักวิชาการหลายนายก็ได้เสนอแนะแนวทาง การวางแผนไว้เช่นกัน SPIN เสนอแนวทางการวางแผนแบบปิรามิด (รูปที่ 1) โดยเริ่มจากการวิเคราะห์เครื่องมือ ทางการสื่อสาร โดยเฉพาะที่ผ่านมาว่า เครื่องมือใดสามารถนำมาซึ่งความสำเร็จ และเรามีเครื่องมือใดบ้าง ที่มีประสิทธิภาพ จากนั้นก็กำหนดเป้าหมายของเราที่ต้องการก่อนวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายตัวแสดงสำคัญที่จะทำ ให้เราบรรลุเป้าหมายได้ กำหนดกลุ่มผู้ฟังที่ช่วยสนับสนุนเป้าหมายของเรา กำหนดกรอบ สาระสำคัญที่เราต้องการ สื่อสารออกไป จัดทำเนื้อหาที่ต้องการสื่อออกไปอย่างได้ผล และการเลือก และพัฒนาบุคคลที่ต้องการ ให้เป็นผู้สื่อออกไป (The SPIN Project, 2005)

          นอกจากนั้น Riza Guler เสนอกระบวนการในการวางแผนการสื่อสารทางยุทธศาสตร์ไว้ 5 ขั้นตอน ขั้นตอนที่ 1 การวิเคราะห์และประมาณสถานการณ์,ขั้นตอนที่สองการกำหนดความมุ่งประสงค์และประเด็นสำคัญ ในการสื่อสารทางยุทธศาสตร์, ขั้นตอนที่สาม การกำหนดกรอบแนวทาง และวัตถุประสงค์การสื่อสารทางยุทธศาสตร์ ตามมิติต่างๆ, ขั้นตอนที่สี่ การกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบ แผนงาน กิจกรรม และโครงการตามกรอบแนวทาง ในแต่ละมิติ และขั้นตอนที่ห้า การกำหนดเครื่องมือในการสื่อสาร (Riza Guler, 2012) ขณะที่ Guerrero Castro เสนอแนวทางการวางแผนการสื่อสารทางยุทธศาสตร์เพื่อการป้องกันประเทศและความมั่นคง แห่งชาติ โดยสร้าง แบบจำลอง ที่เริ่มจากวิเคราะห์แหล่งข้อมูลข่าวสารรอบตัวแสดง ที่มีผลกระทบ ในทางตรงและทางอ้อม กับกลุ่มเป้าหมายทั้งจากภายในและภายนอก ซึ่งได้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์จนเกิดความขัดแย้งในผลประโยชน์ขึ้น กระบวนการด้านการข่าวตามวงรอบข่าวกรองจะถูกพัฒนาขึ้นมา เพื่อวิเคราะห์และถอดรหัสเพื่อให้ได้วัตถุประสงค์หลัก ในการสื่อสารทางยุทธศาสตร์ แล้วแปลงวัตถุประสงค์ให้เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องสื่อสารออกไป แผนงาน โครงการและกิจกรรมในมิติต่าง ๆ จะถูกกำหนดขึ้น เพื่อตอบสนองต่อการสื่อสารสาระสำคัญผ่านเครื่องมือสื่อสารมวลชน ไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่เลือกไว้ จนเป็นผลต่อการตระหนักและรับรู้ของระบบสังคมโลก นำมาซึ่ง ความน่าเชื่อถือ ความชอบธรรม การขัดขวางอุปสรรคต่าง ๆ และมีเสรีในการปฏิบัติ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุน ยุทธศาสตร์ชาติ(Guerrero-Castro, 2013)8

ปัญหาสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้

          ปัจจุบัน สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีแนวโน้มลดลง แต่ยังมีสถานการณ์ ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ความรุนแรงตั้งแต่ พ.ศ. 2547 จนถึงปัจจุบัน ถือได้ว่าเป็นสถานการณ์ ที่มีความละเอียดอ่อนและมีผลกระทบต่อความมั่นคงอย่างยิ่ง ด้วยเป็นปัญหาความรุนแรงที่เป็นผลมาจากเงื่อนไข ที่ซับซ้อน และเชื่อมโยงกันใน 3 ระดับ คือ 1) เงื่อนไขระดับบุคคล ซึ่งเกิดจากกลุ่มที่มีอุดมการณ์แตกต่างจากรัฐ การสร้างเงื่อนไขของเจ้าหน้าที่รัฐบางคน ภัยแทรกซ้อนและการใช้ความรุนแรงอันมีเหตุจากความแค้น และความเกลียดชัง, 2) เงื่อนไขระดับโครงสร้าง คือ โครงสร้างการปกครองไม่สนองตอบกับความต้องการ ไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกเลือกปฏิบัติและขาดอำนาจในการบริหารจัดการท้องถิ่นของตนเองอย่างแท้จริง และ 3) เงื่อนไขระดับวัฒนธรรมไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย โดยเห็นว่าการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐบางคน ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ หวาดระแวงและมีอคติ ไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ จึงเป็นเงื่อนไขที่ทำให้คนในพื้นที่บางส่วน ยอมรับหรือเห็นด้วยกับฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง และเป็นเงื่อนไขสำคัญ ที่กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ หยิบยกมาใช้เป็นข้ออ้าง เพื่อสร้างความชอบธรรม ในการใช้ความรุนแรงในการต่อสู้ เพื่อเป้าหมายของตน สำหรับปัญหาภัยแทรกซ้อน เป็นปัญหาที่มีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับปัญหา เรื่องการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งเป็นปัญหาหลัก ทั้งในแง่ของเงินทุนหมุนเวียนที่ใช้ในการเคลื่อนไหวและการก่อเหตุ ของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงตลอดจนการเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลจากการดำเนินการตามนโยบายการบริหารและการพัฒนา จังหวัดชายแดนภาคใต้พ.ศ. 2555-2561 ที่ผ่านมา ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน จึงทำให้การแก้ไขปัญหา และพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความก้าวหน้าตามลำดับ ภาครัฐมีการปรับเปลี่ยนแนวทางการแก้ไขปัญหา ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่มากยิ่งขึ้น เช่น การจัดระบบการดำเนินงานด้านความมั่นคงและด้านการพัฒนา ให้มีความสอดคล้องกันมากขึ้น ปรับกลไกการบริหารให้มีเอกภาพ มีการบูรณาการงบประมาณแผนงานโครงการ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์นโยบายและการเพิ่มประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อทำหน้าที่แก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง ทั้งนี้ มีความคืบหน้าที่ชัดเจนคือ การเปิดเวทีพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ภาคประชาสังคมและภาคประชาชน กล้าแสดงออกและเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ภาครัฐและทุกฝ่ายมีความมั่นใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการเสริมสร้างสันติสุข อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญคือ การแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ การสร้างเอกภาพ และการบูรณาการ การทำงานร่วมกันของภาครัฐให้มากยิ่งขึ้น โดยหลังจากมีการปรับโครงสร้างการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องเอกภาพและการบูรณาการการดำเนินงานตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับหน่วยปฏิบัติ ในพื้นที่ ทำให้อุปสรรคในเรื่องการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้งการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาที่เป็นเอกภาพ เริ่มมีทิศทางที่ชัดเจนและแนวโน้มที่ดีขึ้น

          จากปัญหา 3 ระดับที่กล่าวมาข้างต้น รากฐานสำคัญของปัญหาส่วนหนึ่ง มาจากการขาดความรู้ความเข้าใจ ในการสื่อสารกับประชาชนและเจ้าหน้าที่ภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำศาสนา ซึ่งประชาชนในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับข้อมูลข่าวสารที่เกิดจากโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงเป็นหลัก ก่อให้เกิดความรู้สึกคล้อยตาม และให้ความร่วมมือกับฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรง ทั้งทางตรงและทางอ้อม นอกจากนี้ ประชาชนบางกลุ่มยังขาดความเชื่อมั่นและไม่ไว้วางใจภาครัฐ เนื่องจากรากเหง้าของปัญหาที่มีมาในอดีตไม่ได้รับ การแก้ไขที่ถูกต้องและเป็นธรรม ถึงแม้ในปัจจุบันภาครัฐจะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ทุกมิติ แต่ประชาชนในพื้นที่บางส่วนยังไม่ทราบถึงการดำเนินงานของภาครัฐอย่างทั่วถึง นอกจากนี้กลุ่มผู้ก่อความรุนแรง ได้ใช้ช่องทางสื่อออนไลน์ เป็นเครื่องมือปฏิบัติการข่าวสารเผยแพร่ ชี้นำความคิด และโฆษณาชวนเชื่อ โดยเฉพาะการมุ่งปฏิบัติการต่อกลุ่มประชาชนในพื้นที่ เพื่อชักจูงเข้าเป็นแนวร่วม ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การสื่อสารทางยุทธศาสตร์ จึงเป็นการดำเนินการในการสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติผ่านกระบวนการในการสื่อสาร กับสาธารณะ เพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุประสงค์ในระดับนโยบายและยุทธศาสตร์ และการดำเนินการสื่อสารทางยุทธศาสตร์ ก็เพื่อนำมาซึ่งการขัดขวางอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นมุมใดมุมหนึ่งของโลก และเพื่อการสร้างความน่าเชื่อถือ ความมีชื่อเสียง ระดับยุทธศาสตร์ในระบบสังคมโลก

รูปแบบการสื่อสารทางยุทธศาสตร์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

          สำหรับการสื่อสารทางยุทธศาสตร์เพื่อการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะได้นำการวางแผน การสื่อสารทางยุทธศาสตร์ของ Guler มาใช้ ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินงาน 5 ขั้นตอน ดังนี้

          1. การวิเคราะห์สถานการณ์และประมาณสถานการณ์

          ด้านการทหาร : แกนนำกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงระดับองค์กร สั่งการก่อเหตุในทุกรูปแบบในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ และปรากฏความเคลื่อนไหวของผู้ก่อเหตุรุนแรงระดับหัวหน้า KOMPI, หัวหน้า PLATONG และสมาชิกปฏิบัติการเคลื่อนไหวในพื้นที่ Support Site ประกอบกับความเคลื่อนไหวของ BRN ในด้านการพูดคุย เพื่อสันติสุขน่าจะไม่มีความคืบหน้า ซึ่งทำให้กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง จะยังคงดำรงการก่อเหตุเพื่อแสดงศักยภาพ หล่อเลี้ยงสถานการณ์ สร้างอำนาจต่อรองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง

          ด้านการเมืองและภาคประชาสังคม : องค์กร/กลุ่มเคลื่อนไหวที่จัดกิจกรรมทางการเมืองที่ปรากฏเด่นชัด ได้แก่ กลุ่ม PerMAS และ The Patani ขับเคลื่อนงานการเมืองภายใต้แนวคิดการกำหนดใจตนเอง (RSD) ถึงแม้องค์กรจะไม่ยอมรับเป็นแนวร่วมของกลุ่มขบวนการ แต่การดำเนินงานกลับสะท้อนแนวคิดของกลุ่ม ขบวนการ BRN อย่างชัดเจน

          ด้านกลุ่มเห็นต่างรัฐ และกลุ่มต่อต้านโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรม กลุ่มเครือข่าย จะนะรักษ์ถิ่น ที่ร่วมเดินทางเข้าร่วมชุมนุมกดดันรัฐบาลในพื้นที่ส่วนกลางห้วง 10-15 ธ.ค. 63 ที่ผ่านมา ถึงแม้คณะรัฐมนตรีจะมีมติ ให้ชะลอโครงการและตั้งคณะกรรมการมาศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม(SEA) แต่กลุ่มคัดค้านไม่ยอมรับการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลยังคงพยายามเคลื่อนไหว โดยอาศัยการขับเคลื่อน และแกนนำนักการเมืองฝ่ายค้านในการสนับสนุนผลักดันการดำเนินงาน

          2. การกำหนดความมุ่งประสงค์และประเด็นสำคัญในการสื่อสารทางยุทธศาสตร์

          โดยกรอบแนวทางการแก้ไขปัญหา น้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรม ชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้แก่ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” “ปรัชญา ของเศรษฐกิจพอเพียง” และ “การพัฒนาตามภูมิสังคม” รวมทั้ง พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จ พระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ “การสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” และแนวพระราชดำริ “จิตอาสา เราทำความดี ด้วยหัวใจ” เป็นยุทธศาสตร์หลัก ยึดมั่นหลักการแก้ไขปัญหาตามแนวทางสันติวิธีใช้ การเมือง นำการทหาร, ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยมีประชาชนและชุมชนเป็นศูนย์กลาง, รณรงค์ และสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง และยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชน ปฏิบัติงานภายใต้กรอบแนวทาง ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี พ.ศ. 2561-2580, แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (ประเด็น ความมั่นคง พ.ศ. 2561-2580), นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2562-2565, (ร่าง) นโยบาย การบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้พ.ศ. 2564-2566, แผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและแก้ไข ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้พ.ศ. 2562-2565, ยุทธศาสตร์ความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2560-2564, นโยบายและข้อสั่งการของหน่วยเหนือในการเสริมสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยในพื้นที่ โดยมุ่งเน้นงานควบคุมพื้นที่และการบังคับใช้กฎหมาย, เพิ่มขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ และอาสาสมัคร ประจำพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และกลไกปกติของรัฐ, พัฒนาประสิทธิภาพของงานด้านการข่าว รวมทั้งการจัดตั้ง และใช้แหล่งข่าวประชาชนในพื้นที่ให้ได้ผล ขับเคลื่อนงานด้านเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทำให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้“มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ควบคู่กันไป

          3. การกำหนดกรอบแนวทาง และวัตถุประสงค์การสื่อสารทางยุทธศาสตร์

          ENDS : เหตุการณ์ความรุนแรงลดลง ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม

          WAYS : 1) การจำกัดโอกาสในการก่อเหตุของผู้ก่อเหตุรุนแรงที่มีแนวคิดหัวรุนแรงมากผ่านการใช้ เครื่องมืออุปกรณ์เทคโนโลยีเช่น การใช้กล้องวงจรปิด, การป้องปราม, การลาดตระเวนเชิงรุก, การปิดล้อมตรวจค้น, การตั้งด่าน Pop-up และการสื่อสารทางโซเซียลมีเดีย เพื่อให้เข้าถึงประชาชนได้อย่างรวดเร็ว

               2) การสื่อสารด้วยการชี้แจงข้อเท็จจริงประวัติศาสตร์สยาม-ปาตานี จากการศึกษาวิจัย ในขณะนั้น การยึดครอง การกดขี่ข่มเหง แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร และบันทึกประวัติศาสตร์ขณะนั้นเป็นอย่างไร

               3) การสื่อสารกับหน่วยงานในภาครัฐให้เห็นถึงความสำคัญของเด็กแรกเกิดจนถึงวัย 3 ขวบ เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่สามารถกล่อมเกลาปลูกฝังค่านิยม ทัศนคติที่ดี เพราะวัยดังกล่าวเป็นช่วงจดจำ และเป็นช่วงก่อนเข้าโรงเรียน ควรให้มีหน่วยงานปลูกฝังกล่อมเกลาสื่อสารด้วยทัศนคติเชิงบวก เพื่อให้เป็นช่วงเวลา ที่อยู่กับกับเด็กมุสลิมในสังคมพุทธให้นานที่สุด ซึ่งก่อนเข้าเรียนจะเป็นช่องว่างที่ฝ่ายตรงข้ามเข้ามาบ่มเพาะ

          MEANS : 1) ประเมินยุทธศาสตร์ชาติ 5 ปีแรก (พ.ศ. 2561-2565) ว่าได้ผลเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าไม่ได้ผล ควรเปลี่ยนรูปแบบเครื่องมือในการสื่อสารให้เป็นการสื่อสารทางยุทธศาสตร์ และกระทำอย่างเป็นเชิงรุกมากขึ้น มุ่งมั่นในการแก้ปัญหา และคิดนอกกรอบจากแผนงานโครงการเดิมที่มีอย

               2) ในระยะที่ 2 พ.ศ. 2566-2570 ต้องทบทวนแผนการโครงการของ 5 ปีแรก อย่างถี่ถ้วน ว่าควรจะสามารถดำเนินการต่อไปได้หรือไม่ อย่างไร

          4. การกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบ แผนงาน กิจกรรม และโครงการตามกรอบแนวทางในแต่ละมิติ

          แผนงานบูรณาการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการกำหนดงบประมาณในลักษณะ บูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้มีแผนงานงบประมาณ โดยกำหนดเป้าหมาย ตัวชี้วัด รวมทั้ง การบูรณาการและจัดสรรงบประมาณอย่างเป็นระบบตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงบประมาณได้กำหนดไว้ โดยมีคณะกรรมการบูรณาการฯ พิจารณากลั่นกรองจัดสรรงบประมาณในทุกระดับตั้งแต่ระดับพื้นที่ไปจนถึง ระดับนโยบาย มุ่งเน้นการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งแผนงาน โครงการ และงบประมาณ ทำให้การดำเนินการ มีเป้าหมาย และแนวทางที่ชัดเจน มีความต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายและตัวชี้วัดร่วมกัน โดยกอ.รมน.ภาค ๔ สน.9 เป็นหน่วยงานหลักในระดับปฏิบัติการตามกลไกการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีหน้าที่รับผิดชอบในการบูรณาการงานด้านความมั่นคง งานด้านการพัฒนา งานอำนวยความยุติธรรม งานการเสริมสร้างความเข้าใจ และแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อรักษา ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน พัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น บังคับใช้กฎหมาย ด้วยความเป็นธรรมและนำสันติสุขกลับสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน ภายใต้บริบทของสังคมพหุวัฒนธรรม และศอ.บต. เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบมิติงานด้านพัฒนา และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้านการเสริมสร้าง ความเข้าใจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (กระทรวงการต่างประเทศ และกรมประชาสัมพันธ์)

          5. การกำหนดเครื่องมือในการสื่อสารทางยุทธศาสตร์ ในปัจจุบันนี้การสื่อสารที่มีพลังอำนาจมากที่สุด คือ การสื่อสารทางโซเซียลมีเดีย ที่มีการดำเนินงานอย่างถูกต้อง และมีชั้นเชิง และไม่เป็นการโจมตีหน่วยงานใด หน่วยงานหนึ่งอย่างไม่เป็นธรรม

บทสรุป

          การสื่อสารทางยุทธศาสตร์เพื่อการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเป็นการสื่อสารอย่างเป็นระบบ โดยให้ความสำคัญแก่เป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และ (ร่าง)นโยบายการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดน ภาคใต้พ.ศ. 2564-2566 โดยสามารถสรุปเป็นรูปแบบตามแนวทางของ Riza Guler ได้ ตามแผนภาพต่อไปนี้

ข้อเสนอแนะ

          หากหน่วยงานที่รับผิดชอบแผนงาน/โครงการ การสร้างความเข้าใจประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้นำรูปแบบ แนวทางสื่อสารทางยุทธศาสตร์ที่นำเสนอนี้ไปใช้ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาฯ และพิจารณาใช้กระบวนการประเมินผล โดยให้มีตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับแนวทางการสื่อสาร รวมทั้งพัฒนาปรับปรุงกระบวนการสื่อสารและประเมินผลที่ใช้อยู่ ในปัจจุบัน จะช่วยให้การสื่อสารเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจกับประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


เอกสารอ้างอิง

1กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า แผนเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปี 2563

2พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนที่ 39 ก, 27 กุมภาพันธ์ 2551

3สุทัศน์ คร่ำในเมือง, มนวดี ตั้งตรงหฤทัย การพัฒนาแนวทางการสื่อสารทางยุทธศาสตร์ของกองบัญชาการ กองทัพไทย

4เอกสารวิเคราะห์สถานการณ์ยุทธศาสตร์และความมั่นคง ฉบับที่ 14/59 (1-15 มิ.ย. 59) ศูนย์ศึกษา ยุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย

5วาทิต ประสมทรัพย์, เว็บไซต์ CRF management 5 ก.ค. 2563

6กอ.รมน. ยอมรับเอกสารจริง! แจงปฏิบัติ IO เพื่อแก้ปัญหาภาคใต้, เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ ข่าวการเมือง วันที่ 27 ก.พ. 2563

7วิโรจน์ : IO โจมตีประชาชน สุมไฟความแตกแยก สร้างความมั่นคง สืบทอดอำนาจ, เว็บไซต์พรรคอนาคตใหม่ วันที่ 26 ก.พ. 63

8แนวความคิดการสื่อสารทางยุทธศาสตร์ เพื่อการป้องกันประเทศ และความมั่นคงแห่งชาติ, พล.ต.วิชัย ชูเชิด

9การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง, ข่าวประชาสัมพันธ์ 25 กันยายน 2562, สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ) โดย กอ.รมน. Cornish, Paul. Lindley-French, Julian and Yorke, Claire. Strategic Communications and National Strategy. London: The Royal Institute of International Affairs, 2011.

Cunningham, Timothy. “Strategic Communication in the New Media Sphere”. Retrieved October20, 2017. Available: http://www.au.af.mil/au/awc/awcgate/jfq/cunningham_strat_ comm_new_media.pdf.

Federal Ministry for Economic Cooperation and Development. Strategic Communication for Sustainable and Development: A Conceptual Overview. Bonn. Schneller Druck. 2006.

Guerrero-Castro, C.E. “ Strategic Communication for Security & National Defense: Proposal for an Interdisciplinary Approach”. The Quarterly Journal.12.2, 2013. p.27-51.

Guler, Riza. “The Role and Place of Strategic Communication in Countering Terrorism”. The Journal of Defense Sciences. 11.2. p.1-31.

ความคิดเห็น