วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2567

Trash Hero Pattani จากผู้พิชิตขยะสู่ความภาคภูมิของชุมชน

 12 ก.ค. 2560 18:36 น.    เข้าชม 3813

      เมื่อพิจารณากันถึงความงามทางธรรมชาติของจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วนั้น ที่นี่มีพร้อมทั้งป่าอุดมสมบูรณ์ อย่าง ป่าฮาลา-บาลา อำเภอแว้ง และอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ไปจนถึงหาดทรายขาวเลื่องชื่ออย่างหาดตะโละกาโปร์ แหลมตาชี หรือหาดตะโละสะมิแล อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี แต่แน่นอนว่า การท่องเที่ยวนอกจากจะนำมาซึ่งเม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจท้องถิ่น ยังมีผลกระทบตามมาด้วย หนึ่งในปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวที่นี่ ไม่แตกต่างจากแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย นั่นคือ ปัญหาขยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะทะเล ซึ่งส่งผลกระทบกับระบบนิเวศน์ทางทะเลเป็นอย่างมาก นอกจากขยะที่เกิดขึ้นจากนักท่องเที่ยวทิ้งตามชายหาดแล้ว ขยะที่ถูกทิ้งที่อื่นๆ ก็ถูกพัดวนอยู่ในทะเลซึ่งล้วนเป็นทะเลผืนเดียวกัน สุดแท้แต่จะถูกคลื่นซัดขึ้นไปบนชายหาดแห่งใด ไม่เว้นแม้แต่ชายหาดที่ดินแดนใต้สุดของประเทศไทย ซึ่งที่แห่งนี้เอง เป็นที่จุดประกายและเติบโตของเครือข่ายคนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและขยายผลไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ผู้พิชิตขยะแห่งปัตตานี Trash Hero Pattani
      ศาสนาอิสลามสอนว่า “ความสะอาด คือ ส่วนหนึ่งของความศรัทธา” ผู้พิชิตขยะแห่งปัตตานี หรือ Trash Hero Pattani นั้นเป็นกลุ่มที่เกิดจากความศรัทธา ในแนวคิดจากขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล และชายฝั่งของคนธรรมดา ที่เป็นคนพื้นที่และนักท่องเที่ยวจิตอาสาตามพื้นที่ชายทะเลของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นฝั่งอ่าวไทยหรือฝั่งอันดามัน นั่นคือ กลุ่มนักคิดพิชิตขยะ Trash Hero Thailand ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2556 ที่เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ด้วยจุดเริ่มต้นจากกลุ่มคนเล็กๆ เพียงไม่กี่คน ที่ชักชวนนักท่องเที่ยวที่อยู่ในละแวกสถานที่ท่องเที่ยว ไปเก็บขยะตามสถานที่ต่างๆ และขยายแนวร่วมมากขึ้น มีทั้งกลุ่มนักธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านค้าตลอดจนครูสอนดำน้ำ จัดกิจกรรมเก็บขยะตามชายหาด และแหล่งท่องเที่ยว ทั้งบนบก และเกาะ หรือในทะเล  มีอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 4,000 คน กับกิจกรรมการเก็บขยะมากกว่า 200 ครั้ง  และจำนวนขยะกว่า 95,000 กิโลกรัม โดยมีเป้าหมายระยะยาว ในการสร้างโครงการที่ยั่งยืนในชุมชน ซึ่งจะช่วยกำจัดขยะและส่งเสริมให้มีการจัดการที่มากกว่าการตะลุยเก็บ และลดขยะในอนาคตด้วย การสร้างแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในระยะยาว ปัจจุบันมีกลุ่มแทรชฮีโร่ กระจายไปหลายจังหวัดชายทะเลของประเทศไทย

พื้นที่เป้าหมายในการพิชิตขยะ
      แทรชฮีโร่ปัตตานี มีพื้นที่เป้าหมาย คือ พื้นที่ชายหาดในอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดปัตตานีที่สำคัญ ประกอบกับสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดความหวาดกลัว หวาดระแวงของคนทั่วไป จึงเกิดแนวคิดในการสร้างภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว โดยการถ่ายทอดวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมที่สวยงาม ผ่านกิจกรรมสาธารณประโยชน์ จากการเก็บขยะ เพื่อฟื้นคืนชายฝั่งให้กลับมาสวยงามอีกครั้ง ซึ่งการเก็บขยะที่ได้จากทะเลแต่ละครั้ง จะมีการคัดแยกทั้งรูปแบบขยะที่ต้องกำจัดทิ้ง และขยะที่สามารถมารีไซเคิลได้ จุดสำคัญ คือ ขยะพวก เศษรองเท้า เศษยาง ต่างๆ ที่แทรชฮีโร่ปัตตานีเก็บไว้ถึง 8,000 กิโลกรัม ในเวลา 3 เดือน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 10 ของขยะทั้งหมด รองเท้าจากทะเลเหล่านี้เองสามารถนำกลับมาผ่านกระบวนการบดย่อย อัดกาวโดยใช้กาวชนิดพิเศษที่ได้จากการวิจัยเทคโนโลยียางของคณะวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผลิตเป็นรองเท้าที่ชื่อว่า “ทะเลจร” ถือเป็นนวัตกรรมที่ได้จากการจัดกิจกรรม ส่งผลสู่งานวิจัยที่พัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างแท้จริง
รองเท้าทะเลก้าวสู่ Social Enterprise
      รองเท้าจากทะเลเหล่านี้ ได้รับการชุบชีวิตจาก ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยียางและโพลิเมอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งมีเป้าหมายในการพยายามหาทางออกให้กับปัญหาขยะในทะเล อาจารย์ณัฐพงศ์แก้โจทย์นี้ โดยการสร้างไอเดียธุรกิจเพื่อสังคม โดยนำขยะมาทำเป็นรองเท้าในชื่อ ทะเลจร พร้อมทั้งท้าทายตัวเองว่า จะเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร แต่รายได้จะกลับคืนสู่ผู้ผลิตและชุมชนแทน วัตถุดิบในการผลิตมาจากกลุ่มแทรชฮีโร่ปัตตานี ที่ผ่านการบดย่อย อัดกาวกลายเป็นแผ่น และตัดเป็นรูปทรงพื้นรองเท้าแล้ว จะถูกส่งมาแปรรูปเป็นรองเท้าแตะ โดยกลุ่มแม่บ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

      ในช่วงแรกของการดำเนินธุรกิจทางแทรชฮีโร่ปัตตานี ใช้วิธีขายสินค้าเป็นพรีออเดอร์ แล้วนำเงินที่ได้ไปซื้ออุปกรณ์และสอนวิธีการให้กลุ่มแม่บ้านทำ โดยไม่ได้แยกคนออกจากชุมชน แต่เป็นงานหนึ่งที่อยู่ในวิถีชีวิต เช้าไปกรีดยาง สายมาไปส่งลูก เสร็จแล้วว่างก็ทำรองเท้า เที่ยงมาก็ละหมาด บ่ายสามไปรับลูก เย็นกลับมาก็ทำรองเท้าได้อีก นอกจากนี้ ดั้งเดิมแล้วกลุ่มแม่บ้านกลุ่มนี้ ผลิตถุงผ้าจากผ้าปาเต๊ะอยู่แล้ว ทางกลุ่มแทรชฮีโร่ จึงจำหน่ายผลิตภัณฑ์สองประเภทนี้ควบคู่กัน เมื่อซื้อรองเท้า ได้ถุงผ้าปาเต๊ะด้วยในราคาเพียง 299 บาท โดยเงินจำนวนนี้ 100 บาทแรกถูกจ่ายเป็นค่าแรงให้ชาวบ้าน ส่วน 100 บาทที่สอง เป็นค่าใช้จ่ายในกระบวนการรีไซเคิลพื้นรองเท้า และที่เหลือให้กับคนที่ขายสินค้าให้กับทะเลจร

      กระบวนการเหล่านี้ นอกจากจะสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชนแล้ว ยังสร้างความภาคภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ช่วยลดปริมาณขยะ และเป็นแรงบันดาลใจในการบอกต่อลูกหลานเด็กและเยาวชนในชุมชนให้เข้าร่วมกิจกรรม การเป็นผู้พิชิตขยะ ได้เข้าใจว่า การเก็บขยะ เป็นการทำสิ่งดีดี ที่ทำได้ง่ายๆ มีส่วนร่วมได้ทุกเพศทุกวัย และหากพวกเขามองไปได้ไกลกว่านั้น ก็สามารถทำสิ่งดีดีสิ่งอื่น นอกจากการเก็บขยะเพื่อชุมชนท้องถิ่นของตนได้อีกมากมาย ปัจจุบันได้ร่วมมือกับศูนย์พัฒนานวัตกรรม ในการวิจัยและพัฒนารองเท้าประเภทอื่นๆ เช่น รองเท้าผ้าใบ รองเท้าคัชชู รองเท้าส้นสูง ที่จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรอุตสาหกรรมในการผลิต รวมถึงยังผสานความร่วมมือกับแบรนด์รองเท้าอื่นๆ ในการนำพื้นรองเท้าของทะเลจรไปใช้ออกแบบผลิตภัณฑ์รุ่นพิเศษ ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น
      ผู้ที่สนใจสามารถสั่งซื้อออนไลน์ ได้ทางเฟซบุ๊ค www.facebook.com/Tlejourn : ทะเลจร หรือทางเว็บไซต์ https://tlejourn.page365.net/ หรือที่ร้านสวนชั้น 1 It's going green. BACC หอศิลป์กรุงเทพฯ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ในการสนับสนุนการกระจายรายได้สู่ชุมชน และสนับสนุนการทำงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลของกลุ่มแทรชฮีโร่ ปัตตานี

ความคิดเห็น