วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ.2567

กระทรวงกลาโหม​ เร่งระดมทรัพยากรเสริมจัดตั้งโรงพยาบาล​สนามเพิ่มในหน่วยทหาร วอนร่วมรับผิดชอบลดภาระแพทย์พยาบาล

 20 ก.ค. 2564 21:20 น.    เข้าชม 617

          พลโท​ คงชีพ​ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยถึง สถานภาพโรงพยาบาลสนามที่กระทรวงกลาโหม โดยทุกเหล่าทัพสนับสนุนจัดตั้งขึ้นปัจจุบัน ได้ใช้อาคารสถานที่ในหน่วยทหาร ที่มีที่ตั้งกระจายอยู่ใน กรุงเทพมหานคร​ และปริมณฑล รวมทั้งอีก 24 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 34 แห่ง รองรับผู้ป่วยได้ 6,135 เตียง ซึ่งกองทัพได้จัดกำลังพล บุคลากรทางการแพทย์ทหาร ทำงานร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข และ กรุงเทพมหานคร ดูแลประชาชนในพื้นที่ชุมชนต่างๆ​ ที่มีการแพร่ระบาด เพื่อนำเข้าสู่ระบบการรักษาอย่างต่อเนื่องมา ตั้งแต่ เมษายน 2563

          นอกจากนั้น กองทัพ ยังได้จัดกำลังทหาร บุคลากรทางการแพทย์ทหาร รวมทั้งเตียง เครื่องนอน และสิ่งอุปกรณ์ต่างๆ​ เข้าไปเสริมจัดตั้ง โรงพยาบาล สนามในพื้นที่ต่างๆ เช่น สนามบุษราคัม โรงพยาบาลสนามบางขุนเทียน โรงพยาบาลสนามวัฒนาแฟคตอรี่ สมุทรสาคร และ โรงพยาบาลสนามอื่นๆ อีก 5 แห่ง

          อย่างไรก็ตาม ในวิกฤตของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคที่ยังรุนแรง พลเอก ประยุทธ์​ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้ทุกเหล่าทัพ ระดมทรัพยากรขยายขีดความสามารถโรงพยาบาลสนามที่มีอยู่เดิม​ และจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในหน่วยทหารเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับผู้ป่วยสีเขียวที่มีเพิ่มขึ้นในพื้นที่ต่างๆ​ อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล

          ซึ่งปัจจุบันทุกเหล่าทัพ อยู่ระหว่างเตรียมพื้นที่และระดมบุคลากรทางการแพทย์แถว 2 และอาสาสมัครเข้ามาช่วย โดยประสานการทำงานร่วมกับสาธารณสุขในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้มีความจำเป็นต้อง เตรียมพื้นที่ให้เหมาะสมแยกจากทหารและชุมชนในหน่วย เพื่อให้การแยกผู้ป่วยควบคุมโรคออกจากชุมชนสามารถจำกัดได้ใน อยากกินข้างนอกโรงพยาบาลสนามของหน่วยทหาร พร้อมกันนี้ ได้เตรียมการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เสนารักษ์ประจำหน่วยทหาร เข้าสนับสนุน กรุงเทพมหานคร และ จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ดูแลสถานที่แยกรักษาตัวชุมชน (Home Isolation)

          โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวยืนยัน ถึงการทำหน้าที่ของกำลังทหารทุกนายในกองทัพว่า ยังสนับสนุนและทำงานร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่นๆ​ ต่อสู้กับโรคระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นมา โดยถือเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่มีผลกระทบร้ายแรงกับประชาชนในทุกมิติเป็นวงกว้าง และเป็นเวลาที่เราทุกคนต้องการความร่วมมือร่วมใจเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างสูงสุดจากทุกฝ่าย ช่วยกันดูแลกันและกัน ไม่สร้างปัญหาให้สถานการณ์เลวร้ายลง รวมทั้งต้องมีความรับผิดชอบตนเองและสังคมมากขึ้น เพื่อหยุดและ ควบคุมวิกฤตสถานการณ์ครั้งนี้ให้ผ่านไปด้วยกัน

ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค4ส่วนหน้า

ความคิดเห็น