วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ.2567

โรงเรียนพระดาบส จังหวัดชายแดนภาคใต้

 18 ก.ย. 2560 18:11 น.    เข้าชม 4507

      “ขณะนี้ยังมีบุคคลอีกจำนวนมาก ที่มีความตั้งใจจริง มีศรัทธาขวนขวายหาความรู้เป็นวิชาชีพใส่ตน แต่ประสบปัญหาไม่มีความรู้พื้นฐานและไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอที่จะเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาวิชาชีพระดับต่างๆ ได้ หากมีช่องทางช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้ ให้มีความรู้วิชาชีพที่เค้าปรารถนา ย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติได้”       ข้างต้นนี้ คือ กระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงพระราชทานแก่พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์ อดีตเลขาธิการมูลนิธิพระดาบส ในปี พ.ศ.๒๕๑๘ ทำให้เราเห็นว่า พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัย ในการศึกษาของพสกนิกรเป็นสำคัญ และทรงมีพระราชปณิธานในการให้การศึกษากับประชาชนอย่างมีคุณภาพและทั่วถึง อย่างเช่น โรงเรียนพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดยะลา ที่มีการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริของพระองค์

      ทรงห่วงใยอนาคตเยาวชน       โรงเรียนพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดยะลา เกิดจากพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนที่ขาดโอกาสทางด้านการศึกษา ในหลวงรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้พระราชทานแนวทางการจัดการศึกษาตามรูปแบบของโรงเรียนพระดาบสมาขยายผลประยุกต์ให้เหมาะสมกับสภาพสังคม ศาสนาและวัฒนธรรมท้องถิ่น ให้โอกาสทางการศึกษากับเยาวชนนอกระบบการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๓ จนถึงปัจจุบัน โดยสมเด็จพระเทพฯ ทรงเป็นองค์พระอุปถัมภ์       เยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีโอกาสเข้ามาเรียน จะต้องมีความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยที่มีใจที่อยากจะเรียนและฝึกฝนวิชาชีพอย่างจริงจัง เพื่อนำวิชาออกไปประกอบอาชีพสร้างตนเองและครอบครัว รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมด้วย นักเรียนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของโรงเรียนพระดาบส คือ เยาวชนที่มีฐานะยากจน และเยาวชนจากครอบครัวที่พ่อแม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบฯ โดยคัดเลือกจากการสัมภาษณ์ ทั้งนักเรียนและผู้ปกครอง สอบข้อเขียน ทดสอบสมรรถภาพร่างกาย และสารเสพติด ให้การศึกษา สร้างอาชีพ เสริมสร้างจริยธรรม

      หลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนพระดาบส จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นหลักสูตร ๑ ปี โดยมี ๔ สาขาวิชา ได้แก่ สาขาช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ สาขาช่องซ่อมและบำรุงรักษารถยนต์ สาขาช่างซ่อมเครื่องจักรกลการเกษตรและสาขาไฟฟ้า การเรียนการสอน จะแบ่งเป็น 3 ส่วน หนึ่ง คือ วิชาพื้นฐาน ส่วนที่สอง คือ แยกเป็นวิชาเอก สุดท้ายส่วนที่สาม คือ ช่วงเวลาการฝึกงาน นอกจากเรียนตามสาขาวิชาแล้ว ในวันเสาร์นักเรียนจะได้เรียนวิชาทักษะชีวิตจิตอาสาอีกด้วย       สิ่งที่นักเรียนในโรงเรียนพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับ ไม่ได้มีเพียงโอกาสทางการศึกษาและการสร้างวิชาชีพเท่านั้น แต่พวกเขายังได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคม ด้วยความรักและสามัคคี ที่จะทำให้พวกเขาเติบโตขึ้นเป็นอนาคตของชาติ ที่มีคุณธรรมและจริยธรรม ลักษณะของโรงเรียนพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะคล้ายกับโรงเรียนประจำที่ให้นักเรียนได้อยู่ร่วมกับเพื่อนและครูมากที่สุด ทั้งนี้เพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดี สามารถปรับตัวอยู่ร่วมกันในสังคมได้ดี  

ครูผู้อุทิศตัวเพื่อสนองพระปณิธาน       ครูต้องอยู่กับเด็กตลอด ๒๔ ชั่วโมง ดูแลทั้งเรื่องเรียน สุขภาพ ชีวิตความเป็นอยู่ สภาพจิตใจ ดูแลเป็นรายบุคคล นักเรียนส่วนใหญ่ เป็นมุสลิมเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกวันจะต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่ มาละหมาดและออกกำลังกาย ก่อนจะอาบน้ำ รับประทานอาหารเช้าและเข้าเรียน ชีวิตจะได้ฝึกระเบียบวินัย จะมีการพูดคุยอบรมคุณธรรมจริยธรรมทุกวัน ทั้งในตอนเช้าก่อนรับประทานอาหาร และก่อนนอนทุกคืน ให้แทรกคุณธรรมจริยธรรมเข้าไปอยู่ในหัวใจของเด็ก ให้รู้รักสามัคคี และคำนึงอยู่เสมอถึงเป้าหมายในการเข้ามาเรียนที่โรงเรียนพระดาบสแห่งนี้ ครูทุกคนมีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นครูในโรงเรียนแห่งนี้ ต้องมีจิตใจอยากช่วยเหลือนักเรียน เป็นเหมือนพ่อแม่ หรือพี่ที่ช่วยดูแลให้เด็กทุกคน เรียนจบ มีงานทำ เป็นกำลังหลักของครอบครัวและของสังคม เมื่อเรียนจบแล้วนักเรียนทุกคน จะได้เข้ารับพระราชทานประกาศนียบัตรจากพระหัตถ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี

บูรณาการความร่วมมือจากหลากหลายหน่วยงาน       นอกจากความร่วมแรงร่วมใจของบุคลากรครูในโรงเรียนพระดาบสชายแดนภาคใต้เองแล้ว ยังมีความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือพัฒนาวิชาชีพให้กับเด็กนักเรียน เช่น ความร่วมมือจากวิทยาลัยเทคนิคจังหวัดยะลา ที่เปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนของโรงเรียนพระดาบส ได้เข้าไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมที่วิทยาลัย โดยมีอาจารย์ของวิทยาลัยมาช่วยฝึกสอนในด้านเทคนิคพื้นฐานอีกด้วย จากนักเรียน…ขยายผลสู่ครอบครัว       เพราะโรงเรียน เป็นดั่งบ้านหลังที่สองของนักเรียน เป็นดั่งครอบครัวเดียวกัน นอกจากช่วยทางเหลือเยาวชนในด้านการเรียนการสอนแล้ว โรงเรียนพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีส่วนช่วยเหลือครอบครัวหรือผู้ปกครองของนักเรียนอีกด้วย โดยการฝึกอาชีพให้กับกลุ่มผู้ปกครองของนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหารหรือการแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ และความรู้ด้านการเกษตร โดยติดต่อหน่วยงานต่างๆ มาร่วมให้ความรู้ เพื่อเพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนในพื้นที่

      ทุกวันนี้ โรงเรียนพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเป็นเหมือนตัวแทนพระองค์ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ครูและนักเรียนทุกคนจึงล้วนซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างล้นพ้น ในโอกาสในการเปลี่ยนชีวิต ทั้งชีวิตของเด็กนักเรียน และชีวิตผู้ปกครอง วิชาชีพและวิชาประสบการณ์ชีวิตที่ได้รับ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้นักเรียนเติบโตมามีความรู้ความสามารถ สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรมจริยธรรม และมีจิตสำนึกทำความดีเพื่อพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป 

ความคิดเห็น